xs
xsm
sm
md
lg

ผู้ผลิตมาเอง บอกใช้ HCFC เซฟโอโซน ช่วยโลกกว่ามุ่งลดคาร์บอน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

นายธอมัส อี เวอร์เคมา ระหว่างบรรยายพิเศษ
ผู้ผลิตสารทำความเย็นจากสหรัฐฯ ระบุเปลี่ยนจาก CFC เป็น HCFC ปกป้องโอโซน ช่วยรักษาชั้นบรรยากาศ มากกว่ามุ่งลดคาร์บอนแก้โลกร้อน แม้ขัดแย้งข้อมูล UNEP ชี้ HCFC ทำลายโอโซนน้อยก็จริง แต่เก็บกักความร้อนมากกว่าคาร์บอนถึง 2,000 เท่า อีกทั้งยังย้ำเปลี่ยนสารเคมีในแอร์เทียบเท่าลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 8 กิกะตัน

นายธอมัส อี เวอร์เคมา (Thomas E. Werkema) รองประธานฝ่ายนโยบายกิจกรรมของบริษัทอาร์เคมา อิงค์ (Arkema Inc) บริษัทผู้ผลิตสารทำความเย็นจากสหรัฐอเมริกา ได้บรรยายพิเศษเกี่ยวกับเรื่องโลกร้อน ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย เมื่อวันที่ 10 ก.ค.51 ที่ผ่านมา โดยมีตัวแทนจากบริษัทเครื่องทำความเย็นต่างๆ ร่วมฟังราว 30 คน ซึ่งผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้เข้าร่วมฟังการบรรยายครั้งนี้ด้วย

ทั้งนี้ นายธอมัส เริ่มบรรยายด้วยการพูดถึงความสำคัญของเครื่องปรับอากาศ โดยระบุว่า มีความสำคัญต่อวิถีชีวิตในปัจจุบัน เพราะทำให้เกิดความสะดวกสบาย

"แต่เครื่องปรับอากาศ ก็ส่งผลกระทบต่อชั้นบรรยากาศได้ใน 2 ทาง อย่างแรก คือการปลดปล่อยสารเคมีโดยตรง สู่ชั้นบรรยากาศ และอีกอย่างคือ การปลดปล่อยทางอ้อม จากการใช้พลังงาน ซึ่งจะปลดปล่อยมากหรือน้อย ก็สัมพัทธ์กับพลังงานที่ใช้ 80% ซึ่งการทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศนั้น มาจากเครื่องใช้ไฟฟ้า ยิ่งเครื่องใช้ไฟฟ้ามีประสิทธิภาพมากขึ้น ก็ยิ่งปลดปล่อยน้อยลง" นายธอมัสกล่าว

อีกทั้ง ในความเห็นของผู้บริหารบริษัทสารทำความเย็นสัญชาติอเมริกันระบุว่า การทำงานของพิธีสารมอนทรีอัล (Montreal Protocol) นั้นช่วยปกป้องชั้นบรรยากาศ ได้มากกว่าการทำงานของพิธีเกียวโต

พร้อมทั้ง ยกตัวอย่างว่า หากเปลี่ยนจากสารซีเอฟซี (CFC) ไปใช้สารเอชซีเอฟซี (HCFC) นั้น นอกจากจะช่วยปกป้องโอโซน ยังช่วยลดภาวะโลกร้อน เทียบเท่ากับการลดคาร์บอนไดออกไซด์ได้ 8 กิกะตัน แต่หากเปลี่ยนจากสารซีเอฟซีไปใช้สารอย่างอื่น จะเทียบเท่ากับลดได้เพียง 2 กิกะตัน

อย่างไรก็ดี ความเห็นของนายธอมัสนั้น ต่างจากข้อมูขององค์การสิ่งแวดล้อมแห่งสหประชาชาติ หรือยูเนป (United Nations Environment Programme: UNEP) ที่ระบุว่า สารสำหรับเครื่องทำความเย็นอย่าง ไฮโดรคลอโรฟลูออโรคาร์บอนหรือเอชซีเอฟซี (Hydrochlorofluorocarbons: HCFCs) ซึ่งใช้ทดแทนสารคลอโรฟลูออโรคาร์บอนหรือซีเอฟซี (Chlorofluorocarbons: CFCs) เพื่อลดการทำลายชั้นโอโซนนั้น ส่งผลข้างเคียง ให้เกิดภาวะโลกร้อน มากกว่าก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ถึง 2,000 เท่า

ทั้งนี้เมื่อผู้จัดการวิทยาศาสตร์ ย้ำถามเขาถึงข้อมูลดังกล่าวว่า สารเอชซีเอฟซีนั้นส่งผลต่อภาวะโลกร้อนรุนแรงกว่าคาร์บอนไดออกไซด์เป็นพันเท่า แต่นายธอมัสก็ให้ความเห็นยืนยันว่า การปกป้องโอโซนนั้นช่วยชั้นบรรยากาศได้มากกว่าการลดภาวะโลกร้อน พร้อมทั้งยืนยันตัวเลขดัง ที่กล่าวไปแล้ว

อย่างไรก็ดี นายธอมัสได้เดินทางมาร่วมประชุมพิธีสารมอนทรีอัล (Montreal Protocol) ที่จัดขึ้น ณ อาคารสหประชาชาติ ถ.ราชดำเนินนอก กรุงเทพฯ ระหว่างวันที่ 7-11 ก.ค.51 ที่ผ่านมา เขาจึงได้รับเชิญให้มาบรรยายดังกล่าว ซึ่งจากการแนะนำตัวก่อนขึ้นเวทีนั้น เขาได้เข้าประชุมระดับนานาชาติเกี่ยวกับเรื่องการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศและการปกป้องชั้นโอโซนอยู่หลายครั้ง ในหนนี้เขาได้เข้าร่วมประชุมในเรื่องพิธีสารมอนทรีอัล ซึ่งเป็นเวทีระะดับโลกที่หารือในเรื่องการปกป้องกันโอโซน

เขาได้เปิดเผยถึงการประชุมครั้งล่าสุดว่า ประเทศพัฒนาแล้วกำลังหารือว่าจะสนับสนุนประเทศกำลังพัฒนาในการปรับปรุงเทคโนโลยีเพื่อปกป้องโอโซนและชั้นบรรยากาศได้อย่างไร พร้อมระบุว่ามีทุนสนับสนุนก้อใหญ่มากคือประมาณ 17,000 ล้านบาท ซึ่งมีระยะเวลาสนับสนุน 3 ปี

นอกจากนี้ ภายในการประชุมพิธีสารมอนทรีอัลนั้น นายธอมัสระบุว่ามีการหารือเรื่องสารเมทิลโบรไมด์ (methyl bromide) ซึ่งเป็นสารฆ่าแมลงทางการเกษตร แต่ส่งผลทำลายโอโซน จึงมีการหารือที่จะผลักดันเรื่องดังกล่าวให้ภาครัฐของไทยหาสารอื่นมาใช้ทดแทน และสัปดาห์หน้าจะมีการประชุมของกลุ่มที่จะหารือในเรื่องการเปลี่ยนสารทำความเย็นเอชซีเอฟซีไปใช้สารชนิดอื่นซึ่งไม่ส่งผลกระทบต่อภาวะโลกร้อนด้วย

สำหรับการบรรยายพิเศษครั้งนี้จัดขึ้นโดยความร่วมมือของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ สมาคมวิศวกรรมปรับอากาศแห่งประเทศไทย และสมาคมวิศวกรรมปรับอากาศอเมริกันแอชเร (ASHRAE)

นายสุทัศน์ ปฐมนุพงศ์ ผู้อำนวยการโปรแกรมระบบสมองกลฝังตัว จากเนคเทคให้เหตุผลถึงการจัดงานครั้งนี้ขึ้นเพราะเครื่องใช้ไฟฟ้าอิเล็กทรอนิกส์เป็นอุตสาหกรรมส่งออกอันดับหนึ่งของไทย และภายในเครื่องใช้ไฟฟ้านั้นก็มีอุปกรณ์ระบบสมองกลฝังตัวอยู่ ซึ่งทางเนคเทคก็มีโครงการพัฒนาระบบนี้ด้วยเช่นกัน.

กำลังโหลดความคิดเห็น