เอพี - ไม่ใช่แค่หมีขั้วโลกที่เดือดร้อนเมื่อโลกร้อนขึ้น แต่ที่ซีกโลกใต้ "โคอาลา" ก็อยู่ลำบากเมื่อคาร์บอนไดออกไซด์สูงขึ้นได้เพิ่มความเป็นพิษให้กับ "ยูคาลิปตัส" อาหารจานหลักของสัตว์ประจำถิ่นออสเตรเลีย
เอียน ฮูเม (Ian Hume) ศาสตราจารย์เกียรติคุณทางด้านชีววิทยาจากมหาวิทยาลัยซิดนีย์ (Sydney University) ประเทศออสเตรเลีย พร้อมด้วยทีมวิจัยพบว่าความเป็นพิษในใบยูคาลิปตัสเพิ่มขึ้นเมื่อปริมาณก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เพิ่มขึ้นเนื่องจากปรากฏการณ์เรือนกระจก โดยคาร์บอนไดออกไซด์ในใบยูคาลิปตัสส่งผลกระทบต่อความสมดุลของสารอาหารและสารต้านโภชนาการ (anti-nutrients) ซึ่งเป็นได้ทั้งสารที่เป็นพิษและสารที่รบกวนการย่อยสารอาหาร
"การเพิ่มขึ้นของคาร์บอนไดออกไซด์เอื้อให้ต้นยูคาผลิตสารต้านโภชนาการซึ่งมีองค์ประกอบของคาร์บอนออกมามากกว่าสารอาหาร ดังนั้นในส่วนใบจึงกลายเป็นพิษต่อโคอาลา" ฮูเมกล่าว และยังประเมินอีกว่าระดับการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ในปัจจุบันจะเป็นผลให้เกิดการลดลงของประชากรโคอาลาอย่างสังเกตได้ช่วง 50 ปี เนื่องจากการขาดแคลนใบยูคาลิปตัสที่มีรสชาติถูกปาก
ยูคาลิปตัสบางสายพันธุ์มีโปรตีนสูง แต่ก็มีสารต้านโภชนาการอย่างแทนนิน (tannin) จับกับโปรตีนดังกล่าวทำให้โคอาลาไม่สามารถย่อยโปรตีนนั้นได้ ทั้งนี้ในจำนวนยูคาลิปตัสกว่า 600 สปีชีส์ในออสเตรเลียนั้นมีเพียง 25 สปีชีส์เท่านั้นที่โคลาอาเลือกกิน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงของระดับความเป็นพิษในต้นยูคาลิปตัสจะยิ่งลดความหลากหลายในการหาใบไม้ที่มีรสอร่อยของโคอาลา
"โคอาลาออกลูกเพียงปีละ 1 ตัวเท่านั้นภายใต้เงื่อนไขที่เหมาะสม แต่หากลดคุณค่าสารอาหารของใบยูคาลิปตัสลง ก็จะกลายเป็นว่าโคอาลามีลูกได้เพียง 1 ตัวในทุกๆ 3-4 ปีเท่านั้น" ฮูเมกล่าว
ด้านฮิวจ์ ไทน์เดล-บิสโค (Hugh Tyndale-Biscoe) นักสรีรวิทยาสัตว์มีกระเป๋าหน้าท้อง อธิบายคำพยากรณ์ของฮูเมถึงการลดลงของจำนวนโคอาลาว่าเป็นการคาดเดาแต่ก็น่าเชื่อถือ โดยยูคาลิปตัสมีสารอาหารเพียงเล็กน้อยอยุ่แล้วและโคอาลาก็ปรับตัวให้เข้ากับอาหารที่ข้นแค้นด้วยการนอนหลับเพื่อประหยัดพลังงาน
"การดำรงอยู่ของโคอาลาไม่มั่นคงเอามากๆ พวกมันต้องนอนถึงวันละ 20 ชั่วโมง และก็ใช้เวลาที่เหลืออีก 4 ชั่วโมงไปกับอย่างอื่น บางครั้งบางคราวก็กินใบไม้และตลอดทั้งปีอาจมีสักครั้งที่ตามโคอาลาตัวอื่นเพื่อจับคู่"
"ตอนนี้โคอาลาได้หายไปแล้วจากพื้นที่บางส่วนของออสเตรเลีย แต่ก็ยังคงมีอยู่มากในพื้นที่อื่นๆ และไม่น่าจะถูกล้างบางเพราะการเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศ แต่พวกมันก็ถูกย้ายถิ่นฐานไปจากต้นไม้ที่มีสารอาหารมากซึ่งอยู่บนพื้นดินที่สมบูรณ์ เนื่องจากการขยายตัวของการทำฟาร์มเกษตรและชานเมือง" ไทน์เดล-บิวโคกล่าว.