xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย คปก. ทำสำเร็จ วัคซีนป้องกันไข้หวัดนก-ไข้หวัดใหญ่ข้ามสายพันธุ์

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

น.ส.กัญญารัตน์ ถึงอินทร์
นักศึกษาปริญญาเอก คปก. พัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่-ไข้หวัดนกได้ทุกสายพันธุ์สำเร็จ ไม่ต้องฉีดใหม่ทุกปี ได้ผลดีในหนูทดลอง ใช้แบคทีเรียเป็นโรงงานผลิต สร้างวัคซีนจากโปรตีนของไวรัส ปลอดภัยแถมผลิตได้มากกว่า พร้อมรับมือหากระบาดครั้งใหญ่ คาดปีหน้าได้วัคซีนต้นแบบทดลองในคน

น.ส.กัญญารัตน์ ถึงอินทร์ นักศึกษาปริญญาเอก คณะสหเวชศาสตร์ ม.ธรรมศาสตร์ ผู้รับทุนโครงการปริญญาเอกกาญจนาภิเษก (คปก.) สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) เปิดเผยว่าขณะนี้ตนสามารถพัฒนาวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ชนิดที่ป้องกันได้ทุกสายพันธุ์ในวัคซีนเดียวโดยไม่ต้องฉีดวัคซีนทุกปี และพบว่าใช้ได้ผลดีในหนูทดลอง อีกทั้งต้นทุนการผลิตต่ำและปลอดภัยกว่า แต่ยังต้องพัฒนาต่อให้เหมาะสำหรับใช้ในคน คาดว่าปีหน้าจะได้วัคซีนต้นแบบ

"ปัจจุบันการผลิตวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ต้องผลิตโดยใช้ไข่ไก่ฟักที่ปลอดเชื้อ ซึ่งมีต้นทุนสูง และอาจผลิตวัคซีนได้ไม่เพียงพอกับความต้องการหากเกิดการระบาดครั้งใหญ่ ซึ่งวัคซีนที่ผลิตได้สามารถป้องกันเชื้อไวรัสได้เพียงแค่สายพันธุ์ที่นำมาทำวัคซีนเท่านั้น ไม่สามารถป้องกันสายพันธุ์อื่นๆ ได้ และยังต้องฉีดวัคซีนใหม่ทุกปี เพราะเชื้อกลายพันธุ์อยู่เรื่อยๆ เช่น ฉีดวัคซีนเอช3เอ็น2 (H3N2) แต่หากติดเชื้อเอช5เอ็น1 (H5N1) วัคซีนจะป้องกันไม่ได้" น.ส.กัญญารัตน์กล่าว

จากปัญหาที่พบ นักวิจัยจึงได้พยายามพัฒนาวัคซีนชนิดที่สามารถป้องกันเชื้อไวรัสไข้หวัดใหญ่ให้ได้ทุกสายพันธุ์ โดยที่ไม่ต้องฉีดวัคซีนใหม่ทุกปี และผลิตได้มากเพียงพอกับความต้องการในราคาต้นทุนที่ต่ำกว่าวิธีที่ใช้อยู่ในตอนนี้ โดยได้ร่วมวัจัยกับคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล และคณะสัตวแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ พัฒนาวัคซีนที่ได้จากโปรตีนของไวรัสแทนการใช้เชื้อไวรัสมาทำเป็นวัคซีน

"วัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เป็นวัคซีนที่ป้องกันโปรตีนส่วนนอกของไวรัส คือ ฮีแมกกลูตินิน (Hemaggkutinin: H) และนิวรามินิเดส (Neuraminidase: N) ซึ่งเป็นส่วนที่มีการกลายพันธุ์อยู่ตลอด ดังนั้นแนวคิดการสร้างวัคซีนที่ป้องกันเชื้อไข้หวัดใหญ่ได้ทุกสายพันธุ์โดยที่ไม่ต้องฉีดซ้ำอยู่เรื่อยๆ จึงพิจารณาที่โปรตีนที่มีอยู่ในไวรัสทุกสายพันธุ์และเกิดการเปลี่ยนแปลงน้อยที่สุด" น.ส.กัญญารัตน์ แจง

นักวิจัยเลือกพิจารณาโปรตีน 2 ชนิด คือ โปรตีนเอ็ม 2 (M2 protein) ซึ่งเป็นโปรตีนไวรัสที่อยู่บริเวณช่องผ่านสำหรับไออน (ion channal) และนิวคลีโอโปรตีน (Neucleoprotein: NP) ที่อยู่ติดกับอาร์เอ็นเอ (RNA) ของไวรัส ซึ่งเป็นโปรตีนที่มีการกลายพันธุ์น้อยที่สุดและมีอยู่ในทุกไวรัสสำหรับมาทำเป็นวัคซีน โดยสกัดแยกพันธุกรรมส่วนที่ทำหน้าที่สร้างโปรตีนชนิดดังกล่าวออกมาจากไวรัสแล้วนำไปตัดต่อใส่ในยีนของแบคทีเรียและกระตุ้นให้สร้างโปรตีนทั้ง 2 ชนิด จากนั้นสกัดแยกโปรตีนบริสุทธิ์ออกมาทำเป็นวัคซีน ซึ่งวิธีนี้จะสามารถผลิตวัคซีนได้มากเท่าที่ต้องการ

"เมื่อนำวัคซีนไปทดสอบในหนูทดลองโดยฉีดวัคซีนให้หนู 2 ครั้ง ห่างกัน 14 วัน หลังจากนั้นทำให้หนูติดเชื้อไวรัสที่เป็นคนละสายพันธุ์กับไวรัสที่เป็นต้นแบบของวัคซีน พบว่าวัคซีนดังกล่าวไม่เป็นอันตรายกับหนูและไม่ทำให้หนูป่วย เมื่อตรวจภูมิต้านทานในซีรัมของหนูก็พบว่ามีภูมิคุ้มกันต่อวัคซีนในระดับสูงอย่างน่าพอใจ ทั้งยังสามารถยับยั้งการเพิ่มจำนวนของเชื้อไวรัสได้เป็นอย่างดี หรือหากไวรัสเพิ่มจำนวนได้ก็จะถูกกำจัดได้อย่างรวดเร็ว" น.ส.กัญญารัตน์ อธิบาย

ศ.ดร.วันเพ็ญ ชัยคำภา ภาควิชาปรสิตวิทยา คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล ม.มหิดล อธิบายต่อว่า เมื่อตรวจดูปอดของหนูพบว่าปอดและถุงลมของหนูที่ได้รับวัคซีนยังอยู่ในสภาพดี และทำงานได้เป็นปกติ ขณะที่ปอดของหนูในกลุ่มที่ไม่ได้รับวัคซีนแต่ได้รับเชื้อไวรัส พบว่ามีการอักเสบจากเซลล์เม็ดเลือดขาว ถุงลมถูกทำลาย
อย่างไรก็ดี ศ.ดร.วันเพ็ญ เผยว่า นิวคลีโอโปรตีนน่าจะเป็นโปรตีนที่เหมาะสำหรับนำไปผลิตวัคซีนต่อไปในอนาคตมากที่สุด เพราะแม้ว่าโปรตีนเอ็ม 2 จะป้องกันไวรัสได้ดีเช่นกัน แต่ยังมีผลข้างเคียงกับปอดของหนูอยู่บ้าง ทั้งนี้ทีมวิจัยยังต้องศึกษาต่ออีกว่าสำหรับคนจะต้องใช้วัคซีนที่ปริมาณความเข้มข้นมากน้อยเท่าไหร่ ต้องฉีดกี่เข็ม และภูมิคุ้มกันอยู่ได้นานแค่ไหน ซึ่งคาดว่าราวปีหน้าน่าจะผลิตวัคซีนต้นแบบได้

"การเก็บรักษาสารพันธุกรรมของไวรัสเพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการผลิตวัคซีนยังเก็บได้นานกว่าการเก็บวัคซีนที่ได้จากเชื้อไวรัสจริง และสามารถผลิตวัคซีนจากแบคทีเรียได้มากกว่าการผลิตโดยใช้ไข่ไก่ฟัก ซึ่งหากเกิดการระบาดครั้งใหญ่จะไม่สามารถผลิตวัคซีนได้เพียงพอต่อความต้องการของคนทั้งโลกได้ และที่กังวลกันอยู่ขณะนี้คือไข้หวัดนกเอช5เอ็น1 ที่อาจระบาดในคนได้ และรุนแรงกว่าไข้หวัดใหญ่ที่ระบาดอยู่ตอนนี้มาก เพราะทำให้เสียชีวิตได้รวดเร็วมาก" ดร.วันเพ็ญ กล่าวเสริม
ศ.ดร. วันเพ็ญ ชัยคำภา
ภาพจำลองแสดงส่วนประกอบต่างๆของไวรัสไข้หวัดใหญ่ (ภาพจาก น.ส.กัญญารัตน์ ถึงอินทร์)
กำลังโหลดความคิดเห็น