xs
xsm
sm
md
lg

กำปั้นน้อยๆ ต่อยให้สุดแรง (เจ็บนี้เพื่อใคร?)

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ผมเฝ้ามองเด็กๆ สามสี่คนยืนปักหลักมั่นแล้วโหมเตะ ถ้าจุดกระทบเป็นชายโครงของผมแทนที่จะเป็นกระสอบทราย เมื่อมวล (ในที่นี้หมายถึงหน้าแข้ง) คูณด้วยความเร็วเท่ากับพลังงาน พลังงานนี้บวกด้วยแรงโน้มถ่วงและความจุกคงดึงผมลงกองกับพื้นตั้งแต่แข้งแรก แม้ว่าคนเตะจะตัวเล็กกว่าผมครึ่งต่อครึ่ง

มวยเด็กไม่ใช่เรื่องใหม่ที่ถูกพูดและเขียน ค่อนข้างเป็นเรื่องซ้ำซากเสียอีก การถกเถียงหลายต่อหลายครั้งที่ผ่านมาของผู้คนที่เกี่ยวข้อง-ตัวเด็ก เทรนเนอร์ เจ้าของค่ายมวย ผู้หลักผู้ใหญ่ในวงการมวย แพทย์ องค์กรที่ทำงานด้านเด็กและเยาวชน พ่อแม่ผู้ปกครอง-สุดท้ายแล้ว ความเงียบกลับเป็นผลลัพธ์อันน่าทึ่งที่เกิดจากเงินค่าจัดสัมมนาและทุกอย่างที่เคยเป็นมาก็ดำเนินต่อไป

ยังมีเด็กไทยอายุต่ำกว่า 15 ปีกว่า 1 หมื่นคนทั่วประเทศ ขึ้นสังเวียนใช้หมัดกับแข้งแลกคำตัดสิน แต่เราบอกได้จริงๆ หรือว่าการที่เด็กชกมวยไทยเป็นสิ่งที่ผิด

มนุษย์ที่ยืนอยู่สองฝั่งโดยมีเด็กแป๊กอยู่ตรงกลาง ฟากหนึ่งห่วงใยสวัสดิภาพของเด็กๆ อันเป็นผลผลิตของสังคม ไม่ต้องการให้เด็กเป็นเครื่องมือหาเงินของผู้ใหญ่บางสายพันธุ์ ส่วนอีกฝั่งเอ่ยอิงอยู่กับการอนุรักษ์ศิลปะวัฒนธรรมของชาติ การให้เด็กได้เล่นกีฬาห่างไกลยาเสพติด บางทีก็ไกลถึงเรื่องการศึกษา และยืนยันว่าไม่มีผลกระทบต่อเด็ก

การยืนอยู่บนฐานเหตุผลคนละเรื่องเดียวกันเช่นนี้ทำให้ไม่เคยหาจุดบรรจบร่วมกันได้…

ยกที่ 1
ริมกรุงเทพ คลองสามวา ย่านที่เรียกว่าทรายกองดิน ในซอยเล็กๆ นั้น บ้านครึ่งไม้ครึ่งปูนบรรจุครอบครัวยูฮันเงาะที่ลูกชายและลูกสาว 12 ใน 13 ชีวิต ล้วนแต่เป็นนักมวยไทยผ่านสังเวียน

ค่ายมวยทรายกองดินเป็นค่ายมวยเล็กๆ ระดับครอบครัวที่เปิดรับคนนอกด้วย แต่นักมวยในค่ายส่วนใหญ่คือลูกๆ ของ นพฤทธิ์ ยูฮันเงาะ

“จากไม่เป็นเลย เริ่มแรกจะเน้นความแข็งแรงเป็นหลัก ก่อนที่เราจะสอนอาวุธให้เด็ก เราจะต้องให้เด็กมีพื้นฐานจากร่างกายที่มีความแข็งแรง ขั้นต้นคือให้วิ่ง วิดพื้น โหนบาร์ เล่นดัมเบล จากนั้นจะให้เด็กเริ่มเตะ หัดออกหมัด หัดถีบ อาศัยการฟิตซ้อมทุกวัน ถ้าเด็กไม่สบายก็หยุด ฝนตกก็ไม่ต้องวิ่งเดี๋ยวไม่สบาย ดูที่ความเหมาะสม จนเด็กเริ่มมีความเป็นมวย ตัวเด็กชักมั่นใจ เมื่อไหร่หนูจะได้ต่อย เมื่อไหร่ผมจะได้ชก ช่วยประกบให้หน่อย เราก็พาไป”

สมัยก่อนกว่าเด็กจะได้ขึ้นชกต้องฝึกซ้อมกัน 3-6 เดือน แต่เดี๋ยวนี้เฉลี่ยอยู่ที่ 1 เดือน ส่วนนักมวยเด็กที่อายุน้อยที่สุดที่นพฤทธิ์เคยเจอก็อยู่ที่ 3 ขวบกว่าๆ

ผมนึกภาพตามถึงเด็กอายุ 3 ขวบกว่าๆ 2 คนใส่กางเกงมวยไทย มือใส่นวม และพยายามเตะต่อยอีกฝ่าย มันจะเป็นภาพที่ชวนน่ารักน่าชังสักขนาดไหน เผลอๆ เด็กขนาดนั้นอาจไม่รู้ด้วยซ้ำว่าพวกเขาจะต้องทำอะไรบ้างเมื่อขึ้นไปอยู่บนสังเวียนผ้าใบ จินตนาการในหัวจึงนำพาสู่คำถามที่ว่าทำไมมวยเด็กจึงเป็นที่นิยม

คำตอบที่ได้จากคนสองสามคนในแวดวงก็คือมวยเด็กชกสนุก สนุกตรงที่ว่าพวกเขายังเข้าใจโลกไม่มากพอ พวกเขารู้แค่ว่าเมื่ออยู่บนเวทีก็ต้องเตะต่อยให้สุดแรง ได้น้ำได้เนื้อ เข้าตากรรมการ เพื่อชัยชนะ ผิวหนังและหัวใจของพวกเขายังไม่กร้านกระด้างพอที่จะเรียนรู้วิธีจัดวางตัวเองให้อยู่ในตำแหน่งที่ตักตวงง่ายเหมือนนักมวยผู้ใหญ่ ที่รู้ว่ายกหนึ่งถึงสามเป็นยกดูเชิง ยกสี่เอาจริง และยกห้าต่างหากที่ต้องตัดสิน และถ้าผลประโยชน์มากพอก็อย่าได้คิดว่าเรื่องการล้มมวยจะเป็นเรื่องไร้ศักดิ์ศรีและเป็นไปไม่ได้

สำหรับนพฤทธิ์ เขามองว่า 3 ขวบยังเด็กเกินไปที่จะให้ขึ้นชก แต่ไม่เสียหายที่จะฝึก เพราะมวยจะต้องเรียนรู้ตั้งแต่กระดูกยังอ่อน ซึมซับทักษะต่างๆ ได้ง่าย เพื่อโตเป็นนักมวยที่เก่งกล้า อย่าง สโรชา ยูฮันเงาะ หรือ เพชรสโรชา ลูกทรายกองดิน ลูกสาววัย 12 ขวบ นักมวยเด็กหญิงที่ชกมาแล้ว 30 ครั้ง ชนะถึง 25 แพ้ 4 เสมอ 1 ตารางการฝึกซ้อมของสาวน้อยมีอยู่ว่า ตื่นตี 5 ครึ่ง ออกวิ่งทุกวันวันละ 4 กิโลเมตร เล่นกล้ามท้อง โหนบาร์ วิดพื้นอีก 30 ที

อย่าเพิ่งด่วนรวบรัดตัดสิน... ขณะที่นั่งคุยกับสาวน้อยสโรชา แววตาของเธอไม่ได้มีริ้วรอยแผลอย่างที่หลายคนคิดว่านักมวยเด็กจะต้องมี เธอมีความสุขกับการเป็นนักมวยเหมือนเด็กได้ของเล่น เหมือนน้องสาววัย 10 ขวบของเธอ กัญญารัตน์ ยูฮันเงาะ ทั้งคู่เล่าเรื่องราวบนสังเวียนให้ผมฟังด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ มีคำพูดเดียวของกัญญารัตน์ที่ผมรู้สึกเหมือนโดนฮุคปานกลางที่ปลายคาง...

“ก็มีบ้างที่กลัวอีกฝ่ายเจ็บ” ผมไม่แน่ใจว่าประโยคนี้บอกอะไรได้บ้าง

ยกที่ 2
“คนไม่เคยผ่านการชกมวยมาจะตกใจ กังวล เด็กจะเจ็บ แต่ผมเคยผ่านการชกมวยมา ผมต้องให้ลูกขึ้นไปเรียนรู้ และการที่เราพาลูกไปแข่งขัน เด็กก็มีการฟิตซ้อม มวยมีเจ็บ มีเตะ มีเข่า แต่ดูเด็กว่าเขาจะเอาตัวรอดยังไง สมมติว่าเขาแพ้มาก็ต้องศึกษาว่าจะแก้ไขยังไง อีกประเด็นหนึ่งคือเด็กร่างกายแข็งแรง เขาโดนเตะขา ถ้าเด็กธรรมดาะผมว่าอาทิตย์หนึ่งยังเดินไม่ได้ แต่เด็กที่มีการฟิตซ้อม เขาจะเจ็บแค่บนเวที หามลงมา แต่พอมาถึงบ้าน เอาน้ำแข็งประคบ บีบนวด เช้าก็เดินป๋อ มีการถ่ายยาเพื่อจะให้สิ่งที่มันช้ำระบายออกไป เราไม่เป็นห่วงเขาเท่าไหร่ เราจะเป็นห่วงในการแข็งขันแต่ละไฟต์ การ์ดจะต้องรัดกุมเพราะเราไม่อยากกระทบกระเทือนสมองมาก มันจะมีผลตอนเรามีอายุ” นพฤทธิ์แสดงความเห็น

“คนที่คัดค้านมวยเด็ก เขาก็หวังดีนะ แต่อาจจะไม่รู้ข้อมูลจริง เด็กพวกนี้กว่าจะขึ้นชกต้องฝึกซ้อมร่างกายนานเป็นเดือนกว่าจะขึ้นเวที แล้วอาวุธของเด็กก็คือเด็ก ไม่เจ็บปวดถึงขนาดทำให้ร่างกายเป็นอะไรหรอก ถ้าศึกษาดี รู้ข้อมูลดี คนที่ต่อต้านก็คงเข้าใจ คงไม่มีปัญหา” เป็นมวยเด็กในมุมมอง พิสูตร พูลสวัสดิ์ หัวหน้าค่ายมวย ส.พูลสวัสดิ์

แต่ก็มีบทความด้านสุขภาพ ข้อเขียนทางวิชาการ และความคิดเห็นทางการแพทย์ทั้งในเมืองไทยและต่างประเทศจำนวนไม่น้อยที่ระบุถึงผลกระทบต่อของนักมวย ตั้งแต่บาดเจ็บเล็กน้อยจนถึงพิการหรือกระทั่งเสียชีวิต อย่างไรก็ตาม คงต้องหมายเหตุไว้ตรงนี้ด้วยว่างานศึกษาและวิจัยอย่างเป็นทางการกรณีเด็กชกมวยไทยยังไม่มี รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผลิตผลการพิมพ์ หัวหน้าศูนย์วิจัยเพื่อสร้างเสริมความปลอดภัยและป้องกันการบาดเจ็บในเด็ก คณะแพทยศาสตร์ โรงพยาบาลรามาธิบดี บอกว่า

“การศึกษาในต่างประเทศพบว่าการชกมวยมีผลเสีย แต่ในเด็กยังไม่มีข้อมูล ในต่างประเทศก็มีไม่มากและก็เป็นการชกมวยสากล แต่บ้านเราเป็นมวยไทยซึ่งชกหัวน้อยกว่ามวยสากล ในเด็กซึ่งเราสนับสนุนให้ขึ้นชกก็น่าจะมีการศึกภาวะสุขภาพของเด็กเหล่านี้ว่า มันจะเกิดผลเสียมั้ย ถ้าเกิด เราก็ต้องมาชั่งน้ำหนักการที่ฝึกเขาตั้งแตเล็กเพื่อให้เก่งตอนโต แต่ฝึกตอนเด็กๆ เราก็ไม่ได้ฝึกอย่างเดียว เราฝึกแล้วเราเอาขึ้นเวทีด้วย มันมีปัญหาหรือเปล่า นี่จึงเป็นที่มาของงานวิจัยครั้งนี้ เพราะใครๆ ก็อยากรู้ว่ามันมีปัญหาหรือเปล่า สมาคมมวยเองก็คงอยากรู้”

ขณะที่ในอเมริกาจำกัดอายุนักมวยว่าต้องมีอายุ 17 ปีขึ้นไป และ 18 ขึ้นไปสำหรับออสเตรเลีย แต่พระราชบัญญัติกีฬามวย พ.ศ.2542 ของไทยระบุว่า ห้ามเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 15 ปีชกมวย ซึ่งก็ยังพอฟังได้อยู่ แต่ปัญหาเรื้อรังของกฎหมายไทยคือการเปิดช่องว่างไว้เสมอ เพราะมาตราดังกล่าวมีห้อยท้ายว่า เว้นเสียแต่ได้รับอนุญาตจากผู้แทนโดยชอบธรรม ซึ่งแค่นี้ก็มากเกินพอแล้วสำหรับประเทศไทย นี่ยังไม่นับความไม่ชัดเจนที่ว่าการให้เด็กชกมวยจะขัดกฎหมายอื่นๆ อีกหรือไม่ เช่น กฎหมายอาญา กฎหมายแพ่งและพาณิชย์ พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน อนุสัญญาว่าสิทธิเด็ก เป็นต้น

มีงานศึกษาและสำรวจเกี่ยวกับมวยเด็กที่ค่อนข้างเก่าเพราะทำตั้งแต่ปี 2542 ซึ่งจัดทำโดยสำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมและประสานงานเยาวชนแห่งชาติ (สยช.) ได้รับการสนับสนุนขององค์การแรงงานระหว่างประเทศ (ILO) โดยเก็บข้อมูลจากค่ายมวย 50 แห่ง และนักมวยเด็ก 220 ราย พบว่าเด็กเข้าสู่วงการมวยโดยที่อายุต่ำกว่า 12 ปีมีสูงถึง 47.3 เปอร์เซ็นต์ นักมวยเด็กเกินกว่าครึ่งยอมรับว่าต้องทานยาที่เชื่อว่าขับเลือดช้ำออกจากร่างกาย และ 33.6 เปอร์เซ็นต์ยอมรับว่าง่วงนอนเวลาอยู่ในชั้นเรียน โดยนักมวยเด็กแต่ละคนต้องขึ้นชกเฉลี่ยเดือนละ 1-2 ครั้ง สูงสุดเดือนละ 6 ครั้ง

ในความเห็นของนพฤทธิ์ เขาคิดว่านักมวยเด็กควรจะใส่อุปกรณ์ป้องกัน แต่มันติดปัญหาว่าวงการมวยคือธุรกิจ เพราะถ้าไม่ใส่เครื่องป้องกัน เวลาเด็กโดนอาวุธก็จะแสดงอาการ ซึ่งส่งผลต่อการแพ้-ชนะ

ยกที่ 3
ฉัตรพลอย ส.พูลสวัสดิ์
นักมวยเด็กฝีมือจัดจ้านวัย 11 ขวบ ลูกชายของพิสูตร มีเข็มขัดแชมป์ภาคกลาง 4 เส้นเป็นเครื่องยืนยัน คุยกับผมด้วยรอยยิ้มข้างๆ กระสอบทรายว่าชกมวยเพราะชอบ และเด็กน้อยก็ไม่ได้รู้สึกถึงการถูกเอาเปรียบจากผู้ใหญ่แต่อย่างใด ค่าตัวที่ได้จากการขึ้นชกก็ได้รับเต็มๆ เหมือนเพื่อนๆ ทุกคนในค่าย

“ชกครั้งแรกก็เฉยๆ ครับ มีกลัวอีกฝ่ายจะเจ็บเหมือนกัน แต่ผมกลัวว่าตัวเองจะเจ็บด้วย ครั้งแรกก็ไม่เจ็บ เพราะชนะ ถ้าแพ้ก็จะเจ็บ”

อย่างที่รู้ๆ กันอยู่ว่าในมุมอับที่แสงสาดไม่ถึง วงการมวยคละคลุ้งไปด้วยกลิ่นเงินและอิทธิพล

ฉัตรพลอย, สโรชา และกัญญารัตน์ อาจเป็นเด็กโชคดีที่พ่อของตัวเองเป็นคนฝึกฝนมวยให้ แต่ไม่ใช่เด็กทุกคนที่โชคดี ปีที่แล้ว ข่าวคราวนักมวยเด็กเมืองนครศรีธรรมราชถูกเทรนเนอร์ใช้มงคลฟาดจนตาแตกน่าจะยังตกตะกอนในความทรงจำ ความรุนแรงประเภทนี้ นพฤทธิ์เชื่อว่าสาเหตุสำคัญมาจากการพนัน

“ประสบการณ์ที่ผมเจอมา เด็กเล็กประมาณ 4 ขวบกว่าๆ เคยชนะมา แต่พอมาแก้มือกันอีกที มีเดิมพันกัน ทีนี้ที่เคยชนะดันแพ้ พ่อเด็กที่แพ้ก็ตีๆ ผมก็อุ้มหนี แกก็โมโห ถ้าไม่ใช่ผมคงมีเรื่องมีราว ชั่วโมงหนึ่งผ่านไป ผมพาเด็กกลับมา พ่อเด็กก็ตีอีก ทั้งตบ ทั้งตี ถ้าเราจะไปขยับเด็กออกมาอีก กลัวจะกลายเป็นมีเรื่องกัน มีอีกหลายๆ หนที่ผมเห็น เด็กผู้หญิงก็มีถูกตบตีเหมือนกัน ผมว่าต้องไม่ให้มีการพนันเข้ามา มวยแพ้ แล้วเสียพนันไปอีก 5 หมื่นกว่า ความเจ็บใจก็นำไปสู่การทำร้าย”

นพฤทธิ์เล่าเรื่องในสนามมวยให้ผมฟัง เป็นเรื่องขำปนขม เขาบอกว่าเคยเข้าไปนั่งดูมวยในสนามมวยใหญ่ๆ มีป้ายติดไว้ว่า ‘ห้ามเล่นการพนัน’ แต่คนข้างๆ เขาส่งสัญญาณมือต่อรองราคาข้ามหัวเขาไปมา

ส่วนพิสูตรมีมุมมองต่อเรื่องการพนันมวยว่า

“พูดลำบาก มันห้ามไม่ได้อยู่แล้ว คนเข้ามาดูมวยด้วยใจรักจริงๆ น้อย ส่วนมากที่เข้ามาดูก็มีหวังเล่นได้เสียกันอยู่แล้ว แต่เรื่องนี้ไม่ทำให้วงการเสียชื่อเสียงหรอกครับ เพราะถ้าไม่มีพวกนี้ตีตั๋วเข้ามาดูก็ไม่รู้จะไปต่อยให้ใครดู ค่าตัวนักมวยก็เก็บมาจากค่าตั๋วพวกนี้ทั้งนั้น ไม่มีพวกนี้ก็อยู่ลำบาก”

รศ.นพ.อดิศักดิ์ ผู้ที่กำลังจะทำการศึกษาเรื่องนี้ บอกกับเราอย่างกลางๆ ว่า

“เราจะเริ่มศึกษาด้วยการชักชวนค่ายมวยให้มาร่วมกันศึกษา หลังจากศึกษาแล้วก็ต้องช่วยกันคิดต่อไป วิธีการตรวจก็คือเราจะไปดูเขาชกสักหน่อย หลังการชกเราก็นำเขามาตรวจสมอง หู ตา ตรวจดูการเสื่อมสลายของเซลล์ประสาทซึ่งจะรู้ได้ เพราะเวลาเซลล์ประสาทถูกทำลายจะมีสารบางอย่างออกมา ตรวจดูไอคิว ฮอร์โมนเพศของเด็ก เนื่องจากคนที่ชกมวยมานานและอายุไม่มากจะมีฮอร์โมนเพศช้ากว่า ซึ่งอันนี้หมายถึงชกมวยสากลนะ มวยไทยเรายังไม่รู้ จึงต้องไปนั่งดูด้วยว่าเขาถูกชกที่ศีรษะกี่ครั้งในแต่ละยก หาค่าเฉลี่ย

“ถ้าผลการศึกษาออกมาแล้วไม่มีอะไรก็จะได้สบายใจด้วยกันทุกฝ่าย แต่ถ้ามีหลักฐานที่ชัดเจนว่ามีปัญหาก็สมควรที่จะมาร่วมกันคิดว่าควรจะทำอย่างไร เช่น ฝึกก็ฝึกให้เต็มที่ แต่อย่าขึ้นเวทีชก หรือขึ้นเวทีโดยต้องลดเวลาชก มีอุปกรณ์ป้องกันศีรษะ ซึ่งก็สมเหตุสมผลนะที่จะป้องกันศีรษะ ถ้ามันมีผลเสีย อีกอย่างคือไม่เอาขึ้นเวทีแบบที่เป็นจริงเป็นจังเกินไป เด็กควรจะฝึกในลักษณะกีฬา ไม่ใช่อาชีพ เพราะมันไม่เหมือนกีฬา ไหนจะมีการพนันอีก

“สรุปว่าถ้ามีผลเสียจริง เราก็ต้องยอมรับในการเปลี่ยนรูปแบบ เน้นการให้คะแนน การป้องกัน ว่าให้ชัดเจน แต่ซ้อมได้ ฝึกได้ ไม่มีใครว่าอะไร ร่างกายแข็งแรง เด็กได้เรียนรู้มวยไทย แต่ถ้าเอาเด็กมา แล้วบอกว่านี่คือกีฬา แต่จงใจชกหัวกันให้สลบไปข้างหนึ่ง อย่างนี้ไม่ใช่กีฬาสำหรับเด็ก”

บรรดา ‘เซียนมวย’ (ไม่รู้ว่าเทวดาองค์ไหนแต่งตั้งให้) ซึ่งหมายถึงนักพนัน มักจะอ้างเสมอว่ามวยเด็กเปิดโอกาสให้เด็กได้มีรายได้ มีทุนการศึกษาเพราะเด็กยากจน เหมือนที่รู้กันอยู่ว่าเด็กทางอีสานถูกพ่อแม่นำมาฝากไว้กับค่ายมวยเพื่อขึ้นชกและส่งเสียการเรียน เนื่องจากทางบ้านไม่มีความสามารถจะส่ง ผมลองถามคำถามนี้กับคุณหมออดิศักดิ์ คุณหมอมีคำตอบชวนจุกเสียดเหมือนถูกแทงเข่าไปยังเซียนมวยว่า

“เรื่องฐานะทางบ้านยากจน มันไม่น่าเป็นเหตุเป็นผล ถ้ามันไม่อันตรายก็แล้วไป แต่ถ้ามันอันตราย แล้วมีผู้ใหญ่นั่งดูอยู่ข้างล่าง แบ่งเป็นสองฝั่ง ฝั่งไหนชนะได้เงิน มีคนซื้อตั๋วเข้ามาดู พนันกัน เชียร์ให้บุกเข้าไป แล้วเด็กสองคนอยู่บนเวที ชกกัน แล้วเราก็รู้ว่าชกกันแบบนี้มีผลเสีย ย้ำว่าถ้ามีผลวิจัยออกมาชัดเจน แล้วก็มาบอกว่าเป็นเพราะเขายากจน คุณหมอไปห้ามเขาทำไม ดังนั้น ผู้ใหญ่จึงต้องมานั่งข้างๆ เวทีเพื่อตะโกนเชียร์ให้คนยากจนมันฆ่ากัน เพราะว่าสงสารที่เด็กยากจน ผมก็ไม่เข้าใจว่าอย่างนี้มันใช่เหตุผลหรือเปล่า” !!!

การให้เด็กฝึกหัดชกมวยไม่ใช่ปัญหาโดยตัวมันเอง แต่มันอยู่ที่เด็กๆ เหล่านี้ถูกผู้ใหญ่ใช้เป็นเครื่องมือทางธุรกิจและการพนัน อีกทั้งยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนเกี่ยวกับผลกระทบที่จะเกิดกับเด็ก ก็อย่างที่คุณหมออดิศักดิ์พูดกับผมว่าจำเป็นที่ทุกฝ่ายต้องคิดหาทางออกร่วมกันโดยทิ้งอคติไว้ห่างๆ

ส่วนข้ออ้างเรื่องการศึกษาของเด็ก... ผมว่าเราน่าจะเลิกใช้เหตุผลนี้เสียที แล้วกลับไปตั้งคำถามอย่างจริงจังว่า

สังคมประเภทไหนที่ปล่อยให้เด็กๆ ต้องชกปากกัน เพื่อจะได้เรียนหนังสือ ผมว่าสังคมประเภทนี้ต่างหากที่มีปัญหาและต้องรีบเยียวยาอย่างเร่งด่วน

**************

"...หรือใช้เด็กเป็นแค่เครื่องมือทำมาหากิน"
ณปภพ ประมวญ (ครูแปรง) ประธานและผู้ก่อตั้งมูลนิธิมวยไชยา ผู้อำนวยการศูนย์ฝึกสยามยุทธ์บ้านครูแปรง

“ถ้าเป็นระบบจริงๆ เราก็มองว่ามวยเด็กทุกวันนี้ไม่ถูกหลัก อายุก็ยังน้อยอยู่ สำคัญคือบุคคลที่ดูแลเขาไม่มีจิตใจเหมือนคนโบราณ วิชาการก็ไม่มีหรือน้อยมาก จึงกลายเป็นเครื่องมือของการพนันโดยอ้างว่าเป็นกีฬา ซึ่งจริงๆ เด็กสามารถชกกันได้ ถ้ามีการจัดการอย่างเป็นระบบ มีกติตาที่เหมาะสม เพราะความแรงของการเตะต่อยของเด็กย่อมทนทานกันได้ แต่คนทั่วไปก็มองว่าโหดจัง จึงอยู่ที่คนที่มีหน้าที่จัดการดูแลมากกว่าว่าเป็นลูกผู้ชาย มีความเป็นธรรมพอมั้ย หรือใช้เด็กเป็นแค่เครื่องมือทำมาหากิน เห็นมากที่บางครั้งเด็กแพ้มาก็ตบบ้าง ตีบ้าง มันเป็นความผิดพลาดที่ไม่ควรจะมี

“เด็กควรแค่ฝึกศิลปะป้องกันตัวเท่านั้น แต่กระแสเป็นอย่างนี้ขวางมากก็ไม่ได้ แต่ความคิดเรามองแล้วว่ามันไม่เหมาะสมที่จะเป็นอาชีพ มักจะอ้างว่าเพื่อหาเลี้ยงครอบครัว แต่จริงๆ คนที่ได้ไม่ใช่เด็ก ไม่ใช่เลี้ยงครอบครัว ผมว่าเลี้ยงหัวหน้าค่ายมวยมากกว่า มันเป็นธุรกิจมากกว่า

“วงการมวยเด็กมันเป็นระบบใหญ่ คงต้องนำผู้ฝึกสอนมาเรียนรู้วิชาเพิ่มเติมมากขึ้น และระบบการจัดการต้องมีกระบวนการควบคุมครูฝึก พี่เลี้ยง และหัวหน้าค่ายให้รัดกุมในเรื่องของจริยธรรม เน้นความเป็นครูและความรู้ให้มาก ส่วนทางเวทีและหน่วยงานทั้งหลายก็ต้องมีการควบคุมอย่างเป็นระบบออกมาสู่ค่ายมวยด้วย ไม่อย่างนั้นก็คุมไม่ได้ ต้องมีอัตราโทษจริงจังว่าคนที่ทำผิดมารยาท ธรรมเนียมประเพณี หรือทำร้ายเด็กต้องมีการลงโทษ และแก้ไขกติกาสังคม กติกาของมวย ควรมีกติกา การให้คะแนน รูปแบบการโชว์ศิลปะ การใช้ป้องกันตัวให้ชัดเจนมากขึ้น

“เพราะตอนนี้ครูทุกคนก็อยู่ในวังวนเดียวกัน ประสบการณ์ของนักมวยซึ่งไม่เคยเป็นครูมาก่อน มีแต่ว่าใครต่อยมามีชื่อเสียง มีเข็มขัดก็มาเป็นครู นักมวยบางคนเดินชน แบบนี้มันไม่ใช่ศาสตร์ที่ควรจะฝึกฝน กลายเป็นว่าเอาเด็กไปเล่นในสไตล์ตัวเอง เอาแชมป์มาเขียนไว้ แต่วิชาการไม่ใช่ จึงควรต้องมีการกำหนดวิทยะฐานะเป็นระบบขั้นตอน พิสูจน์ได้ด้วยระบบการศึกษาว่าเรียนแบบนี้ป้องกันตัวได้ยังไง ใช้ยังไง”

*************
เรื่อง-กฤษฎา ศุภวรรธนะกุล

ขอบคุณ ข้อมูลจากนิตยสาร Bioscope และนายแพทย์ประจวบ ผลิตผลการพิมพ์







กำลังโหลดความคิดเห็น