xs
xsm
sm
md
lg

ชีวมวลมาแรง! ลุ้นขอทุนญี่ปุ่นวิจัยเชื้อเพลิงเหลว 90 ล้าน

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


วท.จัดเสวนาคุยกัน...ฉันท์วิทย์ รองผู้ว่าการฝ่ายวิจัย วว.เผยกำลังจับมือเอ็มเทคและเอไอเอสทีของญี่ปุ่นยื่นเรื่องขอทุนสนับสนุนการวิจัยการผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากชีวมวลปีละ 90 ล้านบาท นาน 5 ปี กับรัฐบาลญี่ปุ่น จากปัจจุบันประเทศไทยยังไม่มีเทคโนโลยีนี้ในมือ แต่หวังว่าความร่วมมือนี้จะเปิดโอกาสให้ไทยได้เรียนรู้เทคโนโลยีขั้นสูงจากแดนปลาดิบในอนาคต

กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) จัดกิจกรรมเสวนาคุยกัน...ฉันท์วิทย์ เรื่อง "เทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากวัสดุชีวมวล" ขึ้นเมื่อวันที่ 31 มี.ค.51 ณ ห้องโถงอาคารสำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ซ.โยธี กรุงเทพฯ โดยมี ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดวิทยาศาสตร์ฯ เป็นประธาน

น.ส.พิศมัย เจนวนิชปัญจกุล รองผู้ว่าการฝ่ายวิจัยและพัฒนา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งประเทศไทย (วว.) กล่าวว่า วว.พร้อมด้วยศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) และสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมขั้นสูงแห่งญี่ปุ่น (เอไอเอสที) กำลังทำเรื่องขอทุนสนับสนุนการวิจัยจากกระทรวงศึกษาธิการ วัฒนธรรม กีฬา วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ประเทศญี่ปุ่น ในการวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเปลี่ยนเศษชีวมวลเป็นเชื้อเพลิงเหลว (Biomass to Liquid : BTL) อาทิ น้ำมันดีเซลและเบนซิน โดยยื่นขอรับการสนับสนุนหน่วยงานละ 30 ล้านบาท/ปี รวมทั้งสิ้นปีละ 90 ล้านบาทในโครงการที่มีระยะเวลารวม 5 ปี

ขณะที่ความคืบหน้าในการพัฒนาเทคโนโลยีดังกล่าวในประเทศไทย น.ส.พิศมัย เผยว่า วว.ได้ตั้งเป้าหมายไปในการผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากชีวมวลโดยใช้กากเมล็ดสบู่ดำที่หีบน้ำมันแล้ว รวมถึงสาหร่ายที่ให้สัดส่วนของสตราทช์สูงมาเป็นวัตถุดิบ จากปัจจุบันที่ วว.ได้พัฒนาเทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชัน (Gasification) ขนาดเล็กเพื่อเปลี่ยนเศษชีวมวลอย่างเศษไม้และแกลบข้าว ฯลฯ ไปเป็นแก๊สที่มีส่วนผสมของไฮโดรเจน คาร์บอนมอนออกไซด์ และมีเทน เพื่อนำไปเผาให้ได้พลังงานความร้อน ซึ่ง วว.จะลงสำรวจชุมชนที่มีความพร้อมด้านวัตถุดิบในปีนี้เพื่อนำเครื่องต้นแบบไปทดลองใช้ต่อไป

อย่างไรก็ดี รองผู้ว่าวิจัยและพัฒนา เผยว่า แต่ในส่วนของการเปลี่ยนแก๊สพลังงานไปเป็นเชื้อเพลิงเหลว หรือกระบวนการ "ฟิชเชอร์-โทรปช์" (Fischer-Tropsch) ซึ่งต้องอาศัยการผลิตแก๊สเชื้อเพลิงให้มีอัตราส่วนของไฮโดรเจนสูงกว่าคาร์บอนมอนออกไซด์นั้น ประเทศไทยยังไม่มีความสามารถทำได้ แต่ได้มีหลายหน่วยงานเริ่มวิจัยพัฒนาในระดับห้องปฏิบัติการแล้ว ซึ่งข้อดีของความร่วมมือกับประเทศญี่ปุ่นนี้จะมีการแบ่งปันผลประโยชน์ที่ได้ร่วมกัน อีกทั้งประเทศไทยยังจะได้โอกาสเรียนรู้เทคโนโลยีของเอไอเอสทีซึ่งมีขีดความสามารถในด้านดังกล่าวที่สูงกว่า

ทั้งนี้ ความก้าวหน้าของเอไอเอสที ขณะนี้มีโรงงานต้นแบบเปลี่ยนเศษไม้ 100 กก.ไปเป็นเชื้อเพลิงเหลว 23 ลิตร/วันได้แล้ว และได้ตั้งเป้าหมายในอนาคตให้สามารถเปลี่ยนเศษไม้ 1,000 กก.ไปเป็นเชื้อเพลิงเหลว 1 บาร์เรลน้ำมัน หรือ 159 ลิตร

ส่วนของบริษัทไมโครเอ็นเนอยี ประเทศญี่ปุ่น ซึ่งคณะของนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์ฯ เดินทางไปดูงานเมื่อต้นเดือนมีนาคมที่ผ่านมา พบว่า ในระดับโรงงานต้นแบบสามารถเปลี่ยนเศษไม้ 300 กก.เป็นเชื้อเพลิงเหลว 60 ลิตร/วัน จากที่ตั้งเป้าหมายเปลี่ยนเศษไม้ 10,000 กก.ไปเป็นเชื้อเพลิงเหลว 2,200 ลิตร หรือราว 22%

ด้าน พ.อ.เพทาย อัตเศรณีย์ นายกสมาคมการประดิษฐ์ไทย เสริมว่า เขาต้องการให้ภาครัฐถ่ายทอดเทคโนโลยีดังกล่าวลงใช้งานระดับชุมชนในเร็ววัน เพื่อเปลี่ยนเศษชีวมวลที่มีอยู่มากและไม่ได้ใช้ประโยชน์ตามชุมชนต่างๆ ให้กลายเป็นของที่มีประโยชน์สำหรับชุมชน โดยภาครัฐมีส่วนสำคัญในการส่งเสริมการศึกษาและการบริหารจัดการให้เกิดการใช้งานในที่สุด



กำลังโหลดความคิดเห็น