นักวิจัยจุฬาฯ พัฒนาชุดตรวจเชื้อไข้หวัดนกปลอดภัยต่อผู้ใช้ รู้ผลเร็วภายใน 1 วัน ตรวจได้แม้มีเชื้อน้อย ให้ผลแม่นยำ 100% ค่าใช้จ่ายไม่แพง แถมใช้ได้ในห้องแล็บตามโรงพยาบาลทั่วประเทศ เตรียมจดสิทธิบัตรกระบวนการและสุ่มทดสอบตัวอย่างเพิ่มความมั่นใจอีกครั้ง คาดปลายปีนี้รู้ผลชัดเจน
รศ.สพ.ญ.ดร.สันนิภา สุรทัตต์ คณะสัตวแพทยศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย พัฒนาชุดตรวจเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์เอช5เอ็น1 (H5N1) ที่มีความจำเพาะเจาะจงสูง ให้ผลการตรวจรวดเร็วและแม่นยำ ทั้งยังต้นทุนไม่แพง ไม่ต้องจัดตั้งห้องแล็บตรวจเชื้อไข้หวัดนกโดยเฉพาะ เพราะสามารถใช้อุปกรณ์ที่มีอยู่ในโรงพยาบาลทั่วไปหรือห้องปฏิบัติการในส่วนภูมิภาคได้ คาดว่าปีหน้าสามารถนำไปต่อยอดเชิงพาณิชย์ได้
"วิธีมาตรฐานที่ใช้ตรวจเชื้อไข้หวัดนกคือวิธีการเพาะแยกเชื้อไวรัส แล้วนำไปฉีดในไข่ไก่ฟักหรือเซลล์เพาะเลี้ยง เพื่อให้เชื้อเพิ่มจำนวน จากนั้นจึงนำมาตรวจวิเคราะห์ ซึ่งเป็นวิธีที่แม่นยำสูงสุด ทว่าใช้เวลานานถึง 3 วัน กว่าจะรู้ผล ส่วนเทคนิคเรียลไทม์พีซีอาร์ (real-time PCR) ก็สามารถตรวจสอบได้แม่นยำและใช้เวลาพอๆ กันกับวิธีมาตรฐาน แต่อุปกรณ์และน้ำยาทดสอบมีราคาสูงมาก จึงคิดหาวิธีพัฒนาเทคนิคที่สามารถตรวจสอบได้โดยไม่ต้องเพิ่มจำนวนเชื้อ ตรวจจับได้แม้มีปริมาณเชื้อน้อย ต้นทุนต่ำลง ให้ผลการตรวจรวดเร็วและแม่นยำ ที่สำคัญให้ใช้ได้ในห้องปฏิบัติการส่วนภูมิภาคได้" รศ.สพ.ญ.ดร.สันนิภากล่าว
นักวิจัยเผยว่าวิธีที่พัฒนาขึ้นนี้ใช้เทคนิคพีซีอาร์-อีไลซา (PCR-ELISA) โดยนำตัวอย่างที่ได้จากสิ่งคัดหลั่งของสัตว์ปีกมาสกัดแยกสารพันธุกรรมของเชื้อไวรัส จากนั้นเพิ่มจำนวนสารพันธุกรรมของยีน H5, N1 และยีน M (matrix) ของเชื้อไข้หวัดใหญ่ (influenza A) ทั้งหมด ด้วยวิธีอาร์ทีมัลติเพล็กซ์พีซีอาร์ (RT-multiplex PCR) ซึ่งกระบวนการขั้นนี้จำเพาะต่อยีนทั้ง 3 ชนิดเท่านั้น หากเป็นยีนอื่นที่นอกเหนือจากนี้จะไม่เพิ่มจำนวน
ขั้นตอนสุดท้ายนำตัวอย่างไปตรวจสอบหายีน H5, N1 และ M ด้วยเทคนิคไฮบริไดเซชันอีไลซา (hybridization-ELISA) ซึ่งจะแสดงผลเป็นสีเขียว (ผลบวก) เมื่อมียีนที่ต้องการทดสอบ และจะแสดงเป็นไม่มีสี (ผลลบ) เมื่อไม่มียีนดังกล่าว
ทั้งนี้ หากตัวอย่างที่นำมาตรวจเป็นไวรัส H5N1 จะแสดงผลบวกทั้ง 3 กรณี แต่หากให้ผลบวกเฉพาะกรณีทดสอบยีน M ส่วนการทดสอบยีน H5 และ N1 ให้ผลลบ แสดงว่ามีเชื้อไข้หวัดใหญ่ แต่ไม่ใช่สายพันธุ์ H5N1 โดยสามารถทำการทดสอบและรู้ผลได้ภายใน 1 วัน และทำได้ในห้องปฏิบัติการทางด้านสัตวแพทย์ส่วนภูมิภาค หรือในโรงพยาบาลทั่วไปก็ได้
วิธีดังกล่าวนี้นักวิจัยได้ทดสอบกับเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ที่แยกได้ในประเทศไทยตั้งแต่ปี 2547-2550 พบว่าให้ผลแม่นยำ 100% และได้ใช้วิธีดังกล่าวทดสอบเชื้อไวรัสชนิดต่างๆ เพื่อดูความแม่นยำและความจำเพาะต่อเชื้อ H5N1 อีกทีหนึ่ง เช่น โรคนิวคาสเซิล, โรคหลอดลมอักเสบในไก่, โรคต่อมเบอร์ซาอักเสบ, โรคไข้หวัดใหญ่ในคน และไข้หวัดใหญ่ในหมู พบว่าหากเป็นโรคอื่นๆ ที่ไม่ใช่ไข้หวัดใหญ่จะให้ผลลบทุกกรณี และหากเป็นไข้หวัดใหญ่ที่ไม่ใช่ H5N1 จะให้ผลบวกเฉพาะการทดสอบยีน M เท่านั้น
รศ.สพ.ญ.ดร.สันนิภา เผยว่าขณะนี้พัฒนาชุดทดสอบเชื้อไข้หวัดนกสายพันธุ์ H5N1 เสร็จเรียบร้อยแล้ว แต่จะดำเนินการทดสอบกับตัวอย่างอีกอย่างน้อย 120 ตัวอย่าง เพื่อยืนยันความแม่นยำ ซึ่งได้ประสานกับคณะสัตวแพทยศาสตร์ ม.เกษตรศาสตร์ สำหรับตัวอย่างที่จะนำมาทดสอบเพิ่มเติม และต้องปรับปรุงชุดทดสอบอีกเล็กน้อยให้มีประสิทธิภาพมากที่สุด
ชุดทดสอบดังกล่าวคาดว่าจะเสร็จสมบูรณ์ราวเดือน พ.ย. ปีนี้ และจะดำเนินการจดสิทธิบัตรและพัฒนาต่อยอดเชิงพาณิชย์ต่อไป เบื้องต้นคาดว่าค่าใช้จ่ายในการตรวจต่อ 1 ตัวอย่าง ประมาณ 700-1,000 บาท ซึ่งงานวิจัยนี้ได้รับการสนับสนุนทุนจากสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.)