xs
xsm
sm
md
lg

การแพทย์แห่งอนาคต! ติดเหล้ายา-จี้-ปล้น-ฆ่า รักษาได้เมื่อเข้าใจกลไกสมอง

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศาสตร์การแพทย์ในอนาคตแสนเจิดจ้า ฉายแสงแนวทางรักษาโรคทางสังคมได้ด้วยความเข้าใจในกลไกสมองที่ควบคุมการแสดงออกของพฤติกรรม ติดเหล้ายา การพนัน หรือพฤติกรรมจี้ ปล้น ฆ่า ก็รักษาได้ด้วยประสาทวิทยาศาสตร์

สมาคมประสาทวิทยาศาสตร์ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ, ทันตแพทยสมาคมแห่งประเทศไทยในพระบรมราชูปถัมภ์, สมาคมพยาบาลแห่งประเทศไทย และศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ ร่วมกันจัดการประชุมวิชาการครั้งแรกด้านประสาทวิทยาศาสตร์ (The First National Conference on Neuroscience) ระหว่างวันที่ 25-26 มี.ค.51 โดยมีพิธีเปิดอย่างเป็นเป็นทางการเมื่อช่วงเช้าของวันที่ 25 มี.ค.

ต่อจากนั้นเป็นการปาฐกถาพิเศษเรื่อง "บทบาทเทคโนโลยีชีวภาพกับประสาทวิทยาศาสตร์" โดย ศ.นพ.จรัส สุวรรณเวลา นายกสภาจุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย, ประสาทวิทยาศาสตร์ในประเทศไทย: อดีต, ปัจจุบัน และอนาคต (Neuroscience in Thailand : Past, Present, and Future)โดย รศ.ดร.นัยพินิจ คชภักดี อุปนายกสมาคมประสาทวิทยาศาสตร์แห่งประเทศไทย และผอ.ศูนย์วิจัยชีววิทยาระบบประสาทและพฤติกรรม ม.มหิดล

ศ.นพ.จรัส กล่าวว่า ประสาทวิทยาศาสตร์เป็นการศึกษาการทำงานของสมองจากการสูญเสียหน้าที่บางอย่างเมื่อสมองได้รับบาดเจ็บ โดยในอดีตใช้วิธีการผ่าตัดสมองบางส่วนเพื่อศึกษาถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้น

ต่อมามีแนวคิดที่จะสร้างแผนที่สมองและภาพ 3 มิติ เพื่อขยายศักยภาพการศึกษากลไกการทำงานของสมอง และเพิ่มโอกาสในการวินิจฉัยและรักษาโรคทางสมองและระบบประสาทให้มากยิ่งขึ้น จนมีการพัฒนาเทคโนโลยีในการทำแผนที่สมอง เช่น ซีที (Computed Tomography: CT), เอ็มอาร์ไอ (Magnatic Resonance Imaging: MRI), สเปคท์ (Single Photon Emission Computed Tomography: SPECT) เพ็ท (Positron Emission Tomography: PET) และเอฟเอ็มอาร์ไอ (functional MRI)

“เทคโนโลยีเหล่านี้ทำให้นักวิจัยศึกษาวิเคราะห์ได้ไม่ยากว่าสมองส่วนใดมีความผิดปกติ ส่งผลอย่างไร และควรรักษาอย่างไร หรือรู้ว่าสมองส่วนควบคุมการทำงานอยู่ตรงบริเวณไหน (Motor area) เพื่อหลีกเลี่ยงการผ่าตัดในบริเวณ ซึ่งจะช่วยลดการเกิดปัญหาความผิดพลาดได้ สามารถศึกษาเปรียบเทียบการทำงานของสมองในกลุ่มบุคคลที่มีพฤติกรรมต่างๆ ได้ เช่น คนติดเหล้า ติดยา หรือติดการพนัน อาจเป็นโรคที่รักษาได้ในอนาคตด้วยประสาทวิทยาศาสตร์” ศ.นพ.จรัส กล่าว

ด้าน รศ.ดร.นัยพินิจ เผยว่า แนวโน้มในอนาคตของการศึกษาด้านประสาทวิทยาศาสตร์ จะเป็นการศึกษาและทำความเข้าใจเกี่ยวกับการทำงานของสมองและระบบประสาทที่มีส่วนควบคุมการแสดงออกของพฤติกรรมทางสังคม เพื่อหาวิธีการรักษาพฤติกรรมที่เป็นปัญหาและไม่เป็นที่ยอมรับในสังคม

“ในอดีตเมื่อ 20 ปีก่อน การศึกษาทางด้านประสาทวิทยาศาสตร์ยังอยู่ในยุคคลาสสิค ศึกษากายวิภาคของ, ชีววิทยา หรือเคมีของระบบประสาท ต่อมาเข้าสู่ยุคโมเลกุล ก็เป็นการศึกษาประสาทวิทยาศาสตร์ระดับเซลล์ โมเลกุล และยีน เพื่อทำความเข้าใจกับกลไกในระบบประสาท และหาวิธีรักษาโรคทางสมองและระบบประสาท ซึ่งก็มีเทคโนโลยีต่างๆ เกิดขึ้นมากมายที่ช่วยให้ศึกษาการทำงานของสมองได้ไม่ยาก” รศ.ดร.นัยพินิจ กล่าว

“แต่ในอนาคตการศึกษาทางด้านประสาทวิทยาศาสตร์จะมีบทบาทสำคัญมากยิ่งขึ้น เพราะสมองและระบบประสาทมีผลกับชีวิตและสังคมมากยิ่งกว่ายีนหรือดีเอ็นเอเสียอีก ซึ่งจากการศึกษาทางพันธุกรรมพบว่ายีนมากกว่า 60% เป็นยีนที่เกี่ยวข้องกับระบบประสาท และประสาทวิทยาศาสตร์เกี่ยวพันกับการทำงานของสมองและจิตใจ เป็นสิ่งควบคุมอารมณ์และการแสดงออกทางพฤติกรรม” รศ.ดร.นัยพินิจ แจง

รศ.ดร.นัยพินิจ กล่าวว่า การศึกษาที่ผ่านมาทำให้นักวิจัยเริ่มรู้แล้วว่าการแสดงออกทางพฤติกรรมลักษณะต่างๆ นั้นถูกควบคุมด้วยสมองส่วนใด และหากศึกษาให้เข้าใจมากยิ่งขึ้น ประสาทวิทยาศาสตร์จะช่วยตอบคำถามและแก้ปัญหาพฤติกรรมที่เป็นปัญหาทางสังคมได้ (Social neuroscience) ได้แก่ พฤติกรรมรุนแรง ก้าวร้าว การติดยา ติดการพนัน และพฤติกรรมที่ผิดกฎหมายต่างๆ เช่น การปล้น จี้ หรือฆ่า เป็นต้น ซึ่งจะเพิ่มเข้ามาจากการรักษาโรคทางระบบสมองและระบบประสาทโดยทั่วไป

ประสาทวิทยาศาสตร์อีกแขนงหนึ่งที่จะมีบทบาทมากขึ้นคือ การศึกษาทางด้านโภชนาการที่มีผลต่อพัฒนาการทางสมอง (nutritional neuroscience) ซึ่ง รศ.ดร.นัยพินิจ เผยว่า สมองเป็นรากฐานของการเรียนรู้ หากขาดสารอาหารในวัยเด็กหรือมารดาขาดสารอาหารขณะตั้งครรภ์ จะส่งผลต่อการพัฒนาของสมอง และการเรียนรู้ในเวลาต่อมาได้

“การศึกษาประชากรในประเทศกำลังพัฒนาที่ขาดสารอาหาร พบว่ามีการพัฒนาของสมองด้อยกว่าประชากรในประเทศที่พัฒนาแล้ว ดังนั้นจะทำอย่างไรให้เด็กเกิดใหม่มีสุขภาพทางสมองที่ดีและมีพัฒนาการด้านการเรียนรู้ที่ดีได้ โดยไม่ถูกปัจจัยใดมาขัดขวางการพัฒนาของสมองได้” รศ.ดร.นัยพินิจเผย


กำลังโหลดความคิดเห็น