xs
xsm
sm
md
lg

ไขกลไกสมองเมื่อมอง "เบเกอรี" เห็นทีไรน้ำลายไหลทุกที

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ไซน์เดลี - อย่าโทษหรือตำหนิตัวเองที่เผลอใจตรงรี่ไปยังร้านขนมปังหรือโดนัททันที ที่กราดสายตาไปเจอแป้งอบ ของหวานๆ ล่อตาอยู่ตรงหน้า งานวิจัยเผยทั้งหมดเป็นผลมาจากการทำงานของสมอง ที่แม้แต่หัวใจก็สั่งห้ามไม่ไหว

งานวิจัยจากวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไฟน์เบิร์ก มหาวิทยาลัยนอร์ธเวสเทิร์น (Northwestern University's Feinberg School of Medicine) ประเทศสหรัฐอเมริกา ซึ่งตีพิมพ์ในวารสารออนไลน์ "ซีรีบรัล คอร์เท็กซ์" (Cerebral Cortex) เปิดเผยกลไกของความหิวในสมอง และวิธีที่เซลล์ประสาทกระตุ้นให้เราปราดเข้าหาอาหารประเภทแป้งและของหวานอย่างไม่ทันยั้งคิด

ตัวผลักดันสำคัญในการค้นหาคำตอบของนักวิจัยสหรัฐฯ ทีมนี้หนีไม่พ้น "คริสปีครีม" (Krispy Kreme) โดนัทอันแสนอร่อยเลื่องชื่อของอเมริกันชน (เสียดายที่ไม่มีสาขาในประเทศไทย) ที่กระตุ้นความอยากกินของผู้คนเสมอ รวมทั้งตัวนักวิจัยเอง

พวกเขาแบ่งการทดลองเป็น 2 ครั้ง ครั้งแรกให้อาสาสมัครที่กินโดนัทของคริสปีครีมมากกว่า 8 ชิ้น มากินโดนัทต่อจนไม่สามารถจะกินได้อีก และอีกวันให้งดอาหาร 8 ชั่วโมง จากนั้นจึงนำกลุ่มตัวอย่างเข้าเครื่องสแกนการทำงานของสมอง (fMRI) โดยขณะสแกนอาสาสมัครจะได้ชมภาพชุดภาพของโดนัทและไขควง ส่วนนักวิจัยก็ดูการทำงานของระบบประสาทในสมองแบบเวลาจริง (เรียลไทม์)

ผลการทดลองพบว่า หลังจากที่พวกเขากินโดนัทจนพุงกาง สมองของเหล่าอาสาสมัครไม่สนใจภาพโดนัทเท่าใดนัก ทว่าเมื่อแสดงรูปชุดเดิมอีกครั้งหลังจากอดอาหารนาน 8 ชั่วโมง กลับพบว่ามีปฏิกิริยาตอบสนองในทันทีที่สมอง 2 แห่ง จนดูคล้ายกับการจุดดอกไม้ไฟ

ส่วนแรกคือ "สมองส่วนลิมบิก" (limbic brain) ซึ่งพบได้ในสัตว์ทุกชนิดรวมทั้งมนุษย์ โดยสมองส่วนนี้เป็นส่วนที่ลึกที่สุด คอยควบคุมอารมณ์ ความจำ ความประพฤติ ความอิ่มทางกายและทางเพศ

"สมองส่วนนี้สามารถตรวจจับสิ่งกระตุ้นที่มีนัยสำคัญได้ มันไม่ได้บอกเพียงว่าหิว แต่ยังบอกด้วยว่ามีอาหารอยู่ที่นี่" มาร์เซล มีซูลาม (Marsel Mesulam) ศาสตราจารย์พิเศษด้านจิตเวชศาสตร์และพฤติกรรมศาสตร์ของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไฟน์เบิร์ก และประสาทแพทย์จากโรงพยาบาลนอร์ธเวสเทิร์น เมโมเรียล ผู้เขียนรายงานอาวุโสกล่าว

ส่วนสมองอีกส่วนคือ เครือข่ายสมองที่เกี่ยวข้องกับความสนใจ ที่จะยกระดับความหิวไปสู่สิ่งที่ต้องการตัวใหม่ ซึ่งตามการทดลองคือโดนัทของคริสปีครีม

"ถ้าเราไม่มีสมองส่วนนี้ ทุกครั้งที่เราเดินผ่านร้านเบเกอรี เราจะไม่สามารถควบคุมการกินได้ เพราะถ้าเซลล์ประสาทของคุณตอบสนองทุกครั้งที่คุณได้รับกลิ่นของสิ่งที่กินได้ จะทำให้คุณต้องกินตลอดเวลา ไม่เฉพาะแต่เวลาหิวเท่านั้น" มีซูลามอธิบายเพิ่มเติม

"ในสมองมีระบบที่ซับซ้อนมาก ที่นำพาความสนใจของเราไปสู่สิ่งต่างๆ ที่อยู่รอบตัว ซึ่งเกี่ยวเนื่องกับความต้องการของเรา ยกตัวอย่างเช่นอาหาร ที่เป็นจุดสนใจเมื่อยามเราหิว แต่ไม่ใช่ตอนที่เราอิ่ม" อะพราจิตา โมฮานตี (Aprajita Mohanty) หัวหน้าทีมวิจัยและนักศึกษาหลังปริญญาเอกของวิทยาลัยแพทยศาสตร์ไฟน์เบิร์กกล่าว

นอกจากนั้น มีซูลามยังบันทึกผลการวิจัยถึงวิธีที่สมองจะตัดสินใจว่าควรให้ความสนใจกับสิ่งไหนในโลก ที่เต็มไปด้วยสิ่งเร้ามากมายด้วยว่า หากคุณได้ยินเสียงคนเหยียบใบไม้ดังกรอบแกรบในป่า บริบทแวดล้อมจะกระตุ้นให้คุณพุ่งความสนใจทั้งหมดไปที่นั่น เพราะอาจเป็นสัญญาณของอันตรายได้ แต่เมื่อคุณอยู่ในสำนักงาน เสียงแบบเดียวกันจะมีความสำคัญน้อยลง แสดงให้เห็นว่าภารกิจหลักของสมองจะมีปฏิสัมพันธ์กับบริบท

"ผมรู้แล้วว่าทำไมถึงห้ามใจไม่ให้ เดินเข้าไปที่ร้านเบเกอรีไม่ได้ เมื่อผมได้กลิ่นขนมปังสโคนที่เพิ่งทำเสร็จหมาดๆ" มีซูลามติดตลก ซึ่งผลการทดลองครั้งนี้ก็ทำให้เขาเข้าใจพฤติกรรมของตัวเองที่ทนต่อสิ่งเร้าอันแสนหอมหวานนี้ไม่ได้.


กำลังโหลดความคิดเห็น