xs
xsm
sm
md
lg

โฆษณาหน้าตึง - ใส ในยุคไอ้บ้าอำนาจ/อำนาจ

เผยแพร่:   โดย: อำนาจ เกิดเทพ

จากโฆษณาโลชั่นบำรุงผิวหน้ายี่ห้อหนึ่ง

"พรพรรณ ใช่มั้ยครับ?..."

ถ้าคุณเป็นพรพรรณ คุณจะตอบชายหนุ่มที่ชื่อวรุฒ ว่าอย่างไรครับ?

ส่วนผม ผมคงจะทำสีหน้าเหยียดๆ มองชายหนุ่มคนที่ว่าแบบหัวจรดเท้า แล้วตอบไปอย่างหมางเมินว่า..."ไม่ใช่(โว้ย)ค่ะ"
...
มีงานหลายชิ้นของคอลัมน์แห่งนี้ที่เขียนถึงโฆษณาทางทีวีซึ่งส่วนใหญ่หรือจะว่าไปแล้วก็เกือบจะทั้งหมดแหละครับที่ล้วนแล้วแต่เป็นไปในทิศทางลบ

เฉพาะอย่างยิ่งต่อเหล่าผลิตภัณฑ์สินค้าเครื่องสำอาง โลชั่น ครีม ประเภทที่ใช้แล้วก่อให้เกิดความ "หอม - ขาว" ทั้งหลาย กระทั่งบางครั้ง(แต่หลายหน) ก็อดที่จะเกิดความรู้สึกขึ้นมาไม่ได้ว่า ผมเป็นคนประเภทมองโลกในแง่ร้าย หรือมีอคติต่อสินค้าเหล่านี้มากจนเกินไปหรือเปล่า? หลังอ่านมุมมอง ทัศนะ ที่ให้เหตุผลตรงกันข้ามที่มีเข้ามาท้ายงานเขียนชั้นนั้นๆ ที่สำคัญจะว่าไปแล้ว บางเวลาตัวผมก็ซื้อสินค้าที่มีคุณสมบัติเข้าข่ายที่ว่ามาใช้อยู่ด้วยเช่นกัน

แต่ครั้นนั่งนึกตรึกตรอง ย้อนกลับไปอ่านข้อเขียนเก่าๆ แล้ว ความสบายใจอย่างหนึ่งก็บังเกิดขึ้น

มิได้จะมาหาเหตุผลอธิบายเข้าข้างตัวเองนะครับ แต่ผมยืนยันว่าวัตถุประสงค์ที่ผมสื่อออกไปนั้นมิได้มีเจตนาจะมาด่าทอ ว่ากล่าวอย่างเสียๆ หายๆ หรือแม้กระทั่งต่อต้านในตัวสินค้าเหล่านี้แต่อย่างใด (แม้จะรู้สึกถึงความไม่จำเป็นที่โยงใยไปถึงความฟุ่มเฟือย) หากแต่เป็นการพยายามเน้นย้ำความรู้สึกของตัวเองที่ว่า กลวิธีในการนำเสนอ(โฆษณา)สินค้าที่สร้างความหอม+ความขาวโดยคิดแค่เพียงขอให้ชื่อ - ตรา สินค้าของตนเองเป็นที่จดจำได้(จะด้วยแนวทางของความตลกโปกฮาหรือทราบซึ้งตรึงใจก็ตาม) หลายครั้งการสร้างภาพ(และเสียง)ที่ออกมานี้มันเข้าไปสะสมอยู่ในหัวของเด็ก - เยาวชนทีละเล็กทีละน้อย กระทั่งเกรงว่าจะก่อให้เกิดแนวคิดองค์รวมเกี่ยวกับเรื่องของความสวย ความงามซึ่งเป็นไปในทิศทางที่ไม่ถูกไม่ควรสักเท่าไรนัก

เฉพาะอย่างยิ่งการหยิบเอาประเด็นเรื่องของความสัมพันธ์ต่างเพศที่ให้น้ำหนักไปกับเงื่อนไขของเพศสัมพันธ์มากล่าวอ้าง...ประเภทเกิดเป็นผู้หญิงถ้าผิวไม่เนียนชมพูผู้ชายไม่มอง ถ้าหน้าไม่ขาวเพื่อน(ผู้ชาย)จะจำไม่ได้ ขณะที่ถ้าเป็นผู้ชายแล้วถ้าจั๊กกะแร้หอมซะอย่างเดียว ผู้หญิงก็พร้อมที่จะกลายร่างจากมนุษย์เป็นแรดวิ่งเข้าชน

จากโฆษณาชิ้นที่ยกตัวอย่างมาข้างต้น เอากันแค่จำกันได้/ไม่ได้โดยขึ้นอยู่กับเงื่อนไขความตึง-ใสของใบหน้าอย่างเดียว(เหมือนกับรักเพราะขาว ไม่รักเพราะดำ) ผมว่าก็แย่พอแล้ว ที่ไม่เข้าใจมากที่สุดอีกอย่างหนึ่งก็คือ ทำไมผู้ผลิตถึงจะต้องกำหนดให้ท่าทีของชายหนุ่มที่ชื่อวรุฒนั้นมีลักษณะของการเป็นคนที่ค่อนข้างหยิ่ง มองอย่างไม่แย่แสต่อหญิงสาวที่เข้ามาทักทายด้วยเจตนาที่ดี และทำให้อีกฝ่ายรู้สึกหน้าแหกแบบไร้คุณค่ากลับไป

ขณะเดียวกันเจ้าตัวก็พร้อมที่จะกล้าไปทักหญิงสาวที่หน้าขาวดังที่เห็น

อาจจะมีผู้อ่านที่รู้สึกค้านอยู่ในใจว่าคิดมากไปหรือเปล่า หรือมันเป็นเรื่องยากน่าที่เด็กจะเสียคนเพราะเชื่อโฆษณา...แต่ถ้าหากปล่อยให้บรรยากาศของรูปแบบของมันเป็นไปเช่นนี้อยู่เรื่อยๆ คือสักแต่อยากขาว อยากสวย อยากหอม โดยลืมนึกถึงประโยชน์ที่แท้จริงและความฟุ่มเฟือยที่จะตามมาแล้ว มันจะเป็นเช่นไร?

เอากันง่ายๆ ครับ ลองสังเกตความเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของเด็กในบ้านเรา ทั้งการคุยโทรศัพท์ การแต่งตัว(เก่ง) เหล่านี้น่าห่วงเพียงใด?

โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่สังคมไทยกำลังมุ่งตรงเข้าสู่กระบวนการการกระตุ้นให้มีการใช้เงินกันอย่างเต็มรูปแบบ ในทุกๆ วิธีการ (เพียงเพื่อหวังผลในด้านตัวเลขทางการเงิน - การบัญชีเอามาโอ้อวดว่าบ้านนี้เศรษฐกิจเจริญเติบโต เมืองนี้ธุรกิจกำลังขยายตัวอย่างรวดเร็ว) ผ่านนโยบายของท่านผู้นำหลายต่อหลายโครงการ อาทิ การฟื้นหวยบนดินกลับขึ้นมา การเปิดบ่อนคาสิโน โดยให้เหตุผลเดิมๆ ที่แสนคลาสสิกว่า...อย่าทำเป็นปากว่าตาขยิบนักเลย เมื่อไม่สามารถห้ามไม่ให้คนเล่นได้แล้ว ทำไมไม่ทำให้มันถูกต้องตามกฏหมายไปเสียเลย จะไอ้เอาเงินเอาทองมาใช้จ่ายอย่างอื่น ฯ

ไหนๆ ก็เขียนยาวจากโฆษณามาถึงตรงนี้แล้วก็ขอพูดเลยไปถึงเรื่องการใช้อำนาจเสียหน่อย เพราะ "ไม่แน่" นะครับว่าต่อไปบรรดาท่านผู้มีอำนาจทั้งหลายท่านอาจจะไปออกกฏหมายว่า การพนันในทุกรูปแบบไม่ถือว่าเป็นการผิดศีล ฝืนธรรมแต่อย่างใด และหากประชาชนหรือพระรูปไหนวิพากษ์วิจารณ์หรือเทศน์ในสิ่งที่ตรงกันข้ามให้มีโทษหนัก ติดคุกไม่ต่ำกว่า 10 ปีและปรับไม่ต่ำกว่า 10 ล้านบาท ก็ได้

ที่ใช้คำว่าบอกว่า "ไม่แน่"...เพราะบังเอิญผมได้อ่านหนังสือชื่อ "โลกจิต" ที่เขียนโดยคุณแทนไท ประเสริฐกุล แล้วมีบทหนึ่งที่ชื่อ "ทำดีด้วยดี ทำชั่วด้วย?" มีการอ้างอิงถึงการทดลองที่น่าสนใจว่า "อำนาจ" นั้นจะทำให้คนเปลี่ยนแปลงได้หรือไม่อยู่พอดี

คร่าวๆ นะครับ ชิ้นแรกเป็นงานวิจัยชื่อ Standford Prison Experiment หรือ "คุกจำลอง" โดยดร.ฟิลลิป ซิมบาร์โด ที่จับคนมา 24 คน แบ่งเป็น 2 กลุ่ม กลุ่มหนึ่งเล่นเป็นนักโทษและอีกกลุ่มเล่นเป็นผู้คุมในสภาพที่ทุกอย่างนั้นเน้นความสมจริงสมจังมากที่สุด มีกล้องติดไว้ตามที่ต่างๆ เพื่อเฝ้าสังเกตพฤติกรรมตลอด 24 ชม.

แรกๆ ทุกคนก็รู้สึกสนุกดี ทว่าไม่กี่วัน บรรดาคนที่เล่นเป็นผู้คุมก็เริ่มอินกับเครื่องแบบและตำแหน่ง สั่งลงโทษคนที่เล่นเป็นผู้ต้องหาทั้งให้แก้ผ้านอนกับพื้นคอนกรีตแข็งๆ เย็นๆ สั่งอดอาหาร บังคับให้ขัดโถส้มด้วยมือเปล่า พ่นที่ดับเพลงเข้าใส่ ทำเอาหลายคนทนไม่ไหว ร้องห่มร้องไห้ ทว่าอีกฝ่ายก็ไม่มีทีท่าว่าจะหยุด

ซ้ำดูจะมีความรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ (ยังดีที่มีกฏห้ามทำร้ายร่างกายอยู่) ด้วยความคิดที่ว่ากล้องอาจจะจับภาพไม่ได้

ขณะที่ผู้เป็นเจ้าของการทดลองก็เริ่มอิน กระทั่งแฟนสาวของเขาต้องออกปากขอให้พอ เจ้าตัวจึงได้สติ สั่งยกเลิกกลางคันเพราะเกรงจะเกิดเรื่องที่ควบคุมไม่ได้

อีกชิ้นเป็นงานทดลองของ "สแตนลีย์ มิลแกรม" ที่ให้คนหนึ่งมาสวมบทอาจารย์อีกคนเป็นนักเรียน นั่งกันอยู่คนละห้อง จากนั้นให้อาจารย์ถามคำถาม หากนักเรียนตอบไม่ได้ทางอาจารย์จะกดปุ่มซึ่งจะส่งกระแสไฟฟ้าช็อตไปยังนักเรียน โดยระดับของกระแสไฟจะเริ่มที่ละดับอ่อนๆ และเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึง 450 โวลท์ หากตอบคำถามผิดบ่อยๆ

(เรื่องจริงก็คือไม่มีการปล่อยกระแสไฟฟ้าไปจริงๆ แต่จะให้ทางฝ่ายที่เล่นเป็นนักเรียนแกล้งส่งเสียงร้องว่าเจ็บปวด)

เบื้องต้นผู้ที่สวมบทเป็นอาจารย์ก็ลังเลที่จะทำโทษ ทว่าเมื่อคนคุมการทดลองที่นั่งอยู่ด้วยสั่งให้ทำ ทางอาจารย์จำเป็นก็ยังคงช็อตนักเรียนต่อไปเรื่อยๆ แม้ว่าอีกฝ่ายจะร้องด้วยความเจ็บปวดดังขึ้นๆ ถึงขนาดที่บางครั้งก็แกล้งทำเป็นหัวใจวาย ทว่าอีกฝ่ายก็ยังกดปุ่มต่อไปเรื่อยๆ เพียงเพราะคำสั่งของคนคุมที่ว่า "คุณไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบผลที่เกิดขึ้นใดๆ ทั้งสิ้น" หรือ "คุณไม่มีทางเลือก คุณต้องทดลองต่อไปเรื่อยๆ"

สุดท้ายก็คือ 65% ของผู้ทดลองยินยอมที่จะช็อตนักเรียนจนถึงระดับ 450 โวลท์ และไม่มีใครหยุดก่อนที่จะถึงระดับ 300 โวลท์เลยแม้แต่คนเดียว!

ในหนังสือมีบทสรุปครับว่า ทำไมสำนึกชั่ว - ดีของมนุษย์เราถึงได้อ่อนแอลงไปถึงขนาดที่ยอมทำเรื่องที่สามารถทำร้าย ทำลายร่างกาย-ชีวิตเพื่อนมนุษย์ด้วยกันได้ดังเช่นผลการทดลองทั้งสองที่ออกมา ถ้าใครมีเวลาก็ขอให้ลองไปหาหนังสือมาอ่านกันดู

ส่วนบทสรุปของผม ณ บรรทัดนี้ก็คือ ใครจะบ้า "อำนาจ" ก็บ้าไปเถิดครับ แต่ขอให้เป็น "อำนาจ" ที่มี "เกิดเทพ" ต่อท้าย ก็แล้วกัน
(งานนี้เชื่อว่าใครหลายคนคงบอก...โธ่ไอ้บ้า(อำนาจ) หรือ โธ่ไอ้อำนาจ(บ้า) เอ๊ย 555...)
...
"โลกจิต" (สำนักพิมพ์ a book) : เป็นหนังสือเกี่ยวกับการทำงานของสมองส่วนต่างๆ ที่คุณแทนไทเขียนออกมาง่ายๆ น่าอ่าน มีหลายเรื่องที่น่าสนใจจริงๆ เช่น อยากรู้มั้ยล่ะครับว่าคนตาบอดตั้งแต่กำเนิดเขามีจินตนาการเรื่องภาพหรือไม่? ทำไมคนแขนขาดถึงไม่ยอมรับว่าตนพิการ แถมยังบอกด้วยว่าก็นี่ผมกำลังใช้แขน(ข้างที่ขาด)ยกน้ำดื่มอยู่นี่ไง? คนหูแว่วเป็นคนโรคจิตจริงหรือเปล่า? ทำไมบางคนถึงจำหน้าตัวเองไม่ได้ จนต้องไว้หนวดไว้เคราหาหมวกมาสวมเพื่อสร้างความต่าง?

สนุกดี ลองหามาอ่านกันดูครับ
กำลังโหลดความคิดเห็น