xs
xsm
sm
md
lg

ผลสำรวจเผยวิกฤติสถานการณ์น้ำ คนกรุง-บ้านใกล้โรงงานกว่า 60% ใช้ชีวิตกับ "น้ำเน่า"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"เอแบคโพลล์" เผยผลสำรวจต้อนรับวันน้ำโลก  พบคนไทยกำลังเผชิญวิกฤติน้ำ คนกรุง-ผู้อาศัยรอบนิคมอุตสาหกรรมเกือบ 70% มีบ้านใกล้แหล่งน้ำเสีย กว่า 40% ต้องทนให้น้ำเสียเข้าถึงตัวบ้าน "บู่" ภาครัฐไม่จริงจังได้ 5.25 เต็ม 10 เหตุกฎหมายย่อหย่อน-การปฏิบัติหย่อนยาน ด้านกรีนพีซเผยคนไทยต้องทนวิกฤติมลพิษทางน้ำ 2 ครั้งต่อเดือน วอนรัฐบรรจุเป็นวาระเร่งด่วนของชาติ ป้องกันสงครามแย่งชิงน้ำเป็นความจริง ระบุคนชนบทจะเดือดร้อนสุดๆ

วันที่ 22 มี.ค.ที่จะถึงนับเป็นวันน้ำโลก หรือ "World Water Day" กรีนพีซ เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมกับศูนย์วิจัยความสุขชุมชน มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ ได้แถลงผลงานวิจัย "ความคิดเห็นของประชาชนต่อปัญหามลพิษทางน้ำ : กรณีศึกษาตัวอย่างประชาชนในเขตกรุงเทพมหานครและชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรม" ขึ้นเมื่อวันที่ 20 มี.ค.51 ณ มหาวิทยาลัยอัสสัมชัญ (เอแบค) กรุงเทพฯ

ดร.นพดล กรรณิกา หัวหน้าศูนย์วิจัยความสุขชุมชน เผยว่าจากการสำรวจกลุ่มตัวอย่างที่มีอายุ 18-60 ปีในเขตกรุงเทพฯ และชุมชนรอบนิคมอุตสาหกรรมบางชัน จ.กรุงเทพฯ นิคมอุตสาหกรรมบางปะอิน จ.อยุธยา นิคมอุตสาหกรรมอัญธานี นิคมอุตสาหกรรมบางพลี จ.สมุทรปราการ และนิคมอุตสาหกรรมมาบตาพุด จ.ระยอง จำนวน 1,967 คน ระหว่างวันที่ 15 ม.ค.-7 ก.พ.51 ที่ผ่านมา พบว่ากลุ่มตัวอย่างร้อยละ 66.3 มีแหล่งน้ำเน่าเสียอยู่ในรัศมี 1 กม.จากที่พักอาศัย โดยผู้ที่อยู่พักอาศัยรอบนิคมอุตสาหกรรมจะมีอัตราส่วนสูงสุด

ทั้งนี้ ผลสำรวจพบว่าประชาชนเกินกว่าร้อยละ 60 ได้รับผลกระทบจากปัญหาด้วยตัวเองแล้ว เช่น มีกลิ่นเหม็นจากน้ำเน่าเสียเข้ามาสร้างความรำคาญถึงในตัวบ้าน จำนวนสัตว์น้ำและพืชผักที่บริโภคได้ลดลง แมลงพาหะที่มีพิษเข้ามาในบ้านมากขึ้น โดยร้อยละ 54.4 ระบุว่าแหล่งน้ำที่เคยใช้ในการดำรงชีวิตและเพื่อการพักผ่อนถูกทำลายไปจนหมด และอีกถึงร้อยละ 41.8 เผยว่ามีน้ำเน่าเสียซึมผ่านเข้าไปถึงตัวบ้านทีเดียว

"เมื่อถามถึงระดับความตื่นตัวต่อการแก้ปัญหามลพิษทางน้ำ คะแนนเต็ม 10 กลุ่มตัวอย่างให้คะแนนตัวเองเฉลี่ย 7.01 คะแนน ให้คะแนนคนรอบข้างเฉลี่ย 5.76 คะแนน และให้คะแนนรัฐบาลเฉลี่ย 5.43 คะแนน แต่เมื่อถามถึงความจริงจังในการแก้ปัญหาของรัฐบาล พบว่ากลุ่มตัวอย่างให้คะแนนเฉลี่ย 5.25 เท่านั้น" หัวหน้าศูนย์วิจัยความสุขชุมชนกล่าว

ส่วนข้อเรียกร้องจากภาคประชาชน ดร.นพดล กล่าวว่า กลุ่มตัวอย่างมากกว่าร้อยละ 60 เรียกร้องให้ภาคประชาชนด้วยกัน กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โรงงานอุตสาหกรรม ตลอดจนผู้ว่าราชการจังหวัดต่างๆ จริงจังกับการแก้ปัญหานี้มากขึ้น เนื่องจากที่ผ่านมากฎหมายที่เกี่ยวข้องยังไม่ครอบคลุมเพียงพอ และภาครัฐมักย่อหย่อนในการบังคับใช้กฎหมาย ทั้งที่เรื่องดังกล่าวมีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตประชาชนโดยตรง ซึ่งหากไม่เริ่มแก้ปัญหาตั้งแต่วันนี้ อนาคตประเทศไทยจะต้องเสียค่าใช้จ่ายจำนวนมหาศาลเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว

"ระดับความรุนแรงของปัญหา หากให้คะแนนเต็ม 10 ผมมองว่าต้องขึ้นอยู่กับคนที่เขาพบปัญหา บางคนที่พบปัญหากับตัวเองแล้ว อาจบอกว่าปัญหาที่เขาพบมีความรุนแรงอยู่ในระดับ 8-9 คะแนนจาก 10 คะแนนเลยก็ได้" ดร.นพดลกล่าว

ส่วนนายพลาย ภิรมย์ ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซฯ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าจากการติดตามข่าวสารจากสื่อสารมวลชนในรอบ 26 เดือนที่ผ่านมา ตั้งแต่ ม.ค.49-ก.พ.51 มีรายงานข่าวด้านมลพิษทางน้ำถึง 42 กรณีหรือเฉลี่ย 2 กรณีต่อเดือน ส่งผลถึงคุณภาพชีวิตของประชาชนใน 26 จังหวัดของประเทศ โดยร้อยละ 81 เป็นมลพิษทางน้ำที่ส่งผลให้ปลาตาย และร้อยละ 62 ได้รับความเดือดร้อนจากมลพิษจากโรงงานอุตสาหกรรม มี จ.สมุทรปราการ จ.ระยอง และจ.ปราจีนบุรี ได้รับผลกระทบจากมลพิษทางน้ำถี่ที่สุด

นอกจากนั้น เขาเผยด้วยว่า ในรอบ 5 ปีที่ผ่านมา ลุ่มน้ำที่มีคุณภาพดีในไทยลดจำนวนลงแล้วครึ่งหนึ่ง จาก 40% ของแหล่งน้ำทั้งหมดเหลือเพียง 20% เท่านั้น โดยปัญหาดังกล่าวจะยิ่งทวีความรุนแรงยิ่งขึ้นในอนาคต ทั้งนี้เพราะคุณภาพของแหล่งน้ำทั่วไปแย่ลง แต่ความต้องการน้ำมีมากขึ้นตามระดับการพัฒนา รวมไปถึงภาวะโลกร้อนที่ทำให้ปริมาณน้ำจืดในธรรมชาติลดลง

"ตอนนี้เรามีวิกฤติด้านน้ำมันอย่างไร ต่อไปในอนาคตวิกฤติที่เกิดจากน้ำก็จะมีความรุนแรงยิ่งกว่า เกิดเป็นสงครามแย่งชิงน้ำ ซึ่งที่จริงตอนนี้ก็เรียกได้ว่าเราอยู่ในวิกฤติแล้ว แต่จะแผ่ขยายไปยังกลุ่มคนมากน้อยแค่ไหน เร็วหรือช้าอย่างไรยังตอบไม่ได้ ต่อไปน้ำกินน้ำใช้จะเริ่มขาดแคลน น้ำสะอาดมีราคาแพงเพราะต้องผ่านกระบวนการบำบัดมาก คนชนบทที่ไร้กำลังต่อรองจะได้รับผลกระทบมากที่สุด" นายพลายกล่าว

ผู้ประสานงานรณรงค์ด้านสารพิษ กรีนพีซฯ เรียกร้องไปยังรัฐบาลด้วยว่า รัฐบาลควรให้ความสำคัญกับการแก้ปัญหามลพิษทางน้ำอย่างจริงจังมากขึ้นเป็นวาระเร่งด่วนของชาติ มีการบูรณาการการแก้ปัญหาสิ่งแวดล้อมเข้ากับการพัฒนาประเทศอย่างเป็นรูปธรรม และการแก้ปัญหาที่ต้นเหตุคือผู้ก่อให้เกิดมลพิษ และต้องให้ความสำคัญกับการมีส่วนร่วมของชุมชนในการจัดการน้ำด้วย.


กำลังโหลดความคิดเห็น