xs
xsm
sm
md
lg

เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกเฝ้าติดตามปัญหามลพิษมาบตาพุด

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ศูนย์ข่าวศรีราชา - กลุ่มเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกและกลุ่มอนุรักษ์ เฝ้าติดตามปัญหามลพิษมาบตาพุดอย่างต่อเนื่อง เน้นให้รัฐฯประกาศเป็นเขตควบคุมมลพิษ

นายสุทธิ อัชฌาศัย ประธานเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก เผยว่า เมื่อวันที่ 19 มีนาคม 2551 ณ ห้องประชุม 2 ชั้น 6 อาคารมูลนิธิสภาคริสตจักรในประเทศไทย ตนและเครือข่ายประชาชนภาคตะวันออก ร่วมกับกลุ่มศึกษาและรณรงค์มลภาวะอุตสาหกรรม และกรีนพีซเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ร่วมประชุมเรื่องปัญหาผลกระทบจากโรงงานอุตสาหกรรมในมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง หลังการเก็บตัวอย่างอากาศมาตรวจครั้งล่าสุดเมื่อปี 2550 พบสารก่อมะเร็งอย่างน้อย 3 ตัวที่มีค่าสูงในบริเวณพื้นที่มาบตาพุด คือ Benzene, 1, 3 Butadiene และ Ethylbenzene

นายสุทธิ กล่าวอีกว่า จากการติดตามปัญหาผลกระทบต่างๆ (VOCs) มาตั้งแต่ปี 2545-2550 พบว่า ในบรรยากาศรอบพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง มีการปนเปื้อนของ VOCs ที่ตรวจพบแล้วอย่างน้อยที่สุด 55 ตัว ในจำนวนนี้มี 45 ตัว ที่มีอันตรายต่ออวัยวะสำคัญของร่างกายถึง 20 จุด เช่น ตับ ไต หัวใจ ระบบประสาทส่วนกลาง

สำหรับข้อเรียกร้องของภาคประชาชนในพื้นที่มาบตาพุด เครือข่ายประชาชนภาคตะวันออกได้เรียกร้องให้ประกาศเขตควบคุมมลพิษ แต่ภาครัฐก็ไม่ยอมดำเนินการ โดยจัดทำเพียงแผนลดมลพิษขึ้นมา เพื่อจะใช้เป็นเหตุผลในการขยายอุตสาหกรรมเพิ่มในพื้นที่ ทั้งที่ปัญหาเดิมยังมีอยู่และยังไม่มีการแก้ไขปัญหาในทันทีทันใด เช่น คนที่ได้รับผลกระทบสุขภาพก็ยังต้องช่วยตัวเอง จึงขอเรียกร้องให้มีการสร้างองค์ความรู้ หาเครื่องมือในการตรวจวัดมลพิษอย่างง่ายให้กับภาคประชาชน เพื่อที่จะได้เฝ้าระวังตนเองจากมลพิษ

“ที่ผ่านมา รัฐบาลจัดทำแผนลดมลพิษ 2550-2554 ขึ้นมาเพื่อให้ดูเหมือนว่ามีความจริงใจในการจะลดมลพิษในพื้นที่มาบตาพุด แต่นั้นเป็นการซื้อเวลาเพื่อที่จะหาทางนำไปสู่การลงทุนในอุตสาหกรรมต่อ กับปิโตรเคมีคอมเพล็กซ์เฟสที่ 3 อีกร่วม 60 กว่าโรงในนิคมอุตสาหกรรมต่างๆ ในพื้นที่จังหวัดระยอง ทั้งนิคมฯมาบตาพุด นิคมฯเหมราชตะวันออก นิคมฯเอเชีย นิคมฯผาแดง และนิคมฯ RIL ซึ่งมีทั้งโรงกลั่นน้ำมัน โรงไฟฟ้าถ่านหิน และส่วนต่อขยายของปิโตรเคมีหนัก” นายสุทธิ กล่าว

นายสุทธิ กล่าวต่อไปว่า ที่ผ่านมา หน่วยงานที่รับผิดชอบ อ้างว่าแผนลดมลพิษดังกล่าวได้ผลเป็นที่น่าพอใจ ซึ่งเรื่องนี้ดูแล้วจะไม่เป็นธรรมกับคนในพื้นที่ที่ได้รับผลกระทบเสียเลย เพราะประชาชนไม่เคยรู้เห็นว่า และการแก้ไขปัญหาได้ผลไม่ทราบเอาอะไรมาชี้วัด เนื่องจากมลพิษบางตัวอาจจะลดลงแต่ยังเกินค่ามาตรฐาน ที่สำคัญปัญหาก็ยังคงมีเหมือนเดิม ทั้งปัญหาสิ่งแวดล้อม น้ำเสีย อากาศพิษ กลิ่นเหม็น

ล่าสุด สถานีอนามัยของชุมชนมาบข่า ที่รั้วบ้านของประชาชนอยู่ติดกับรั้วนิคมฯ RIL ในนิคมฯนี้ จะมีการลงทุนของเครือ ปตท.และปูนซีเมนต์มากเป็นที่สุด ทำโรงกลั่นน้ำมัน และอะโรเมติก

เจ้าหน้าที่อนามัยได้เก็บตัวอย่างเลือดของประชาชน จำนวน 30 คน พบว่า มีสารเบนซีนระเหยเกินค่ามาตรฐาน 28 คน ซึ่งปัญหาดังกล่าวส่งผลกระทบต่อสุขภาพ และสร้างความวิตกกังวลให้กับประชาชนในพื้นที่เป็นอย่างมาก และปัญหาเช่นนี้ภาครัฐกลับออกมาบอกว่า แผนลดมลพิษนั้นได้ผล และเดินหน้าให้ขยายอุตสาหกรรมอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นเรื่องที่ไม่ถูกต้องเลย

ที่ผ่านมา มีการก่อตั้งกองทุนรอบโรงไฟฟ้า กองทุนระยองแข็งแรง ซึ่งเรื่องนี้กลับทำให้ชุมชนและประชาชนอ่อนแอ และไม่รู้จักป้องกันตนเอง เพราะฉะนั้น..การสร้างองค์ความรู้ให้กับชาวบ้านในการเฝ้าระวังสุขภาพ คู่ขนานไปกับการทำงานของหน่วยงานรัฐและเอกชน จึงเป็นสิ่งที่จำเป็น ดังนั้นควรสร้างหน่วยการวัดค่ามลพิษอย่างง่าย เพราะจะทำให้ประชาชนสามารถเฝ้าระวังสุขภาพของตนเองได้ เมื่อตรวจพบก็สามารถแจ้งให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องรีบดำเนินการจัดการกับมลพิษที่ปล่อยออกมาได้ทันท่วงที

กำลังโหลดความคิดเห็น