xs
xsm
sm
md
lg

ยังเหลือที่ให้ยูคาอีก 20 ล้านไร่ นำเข้าเครื่องทดลอง "เปลี่ยนไม้เป็นดีเซล"

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"วุฒิพงศ์" เตรียมนำเข้าเครื่องเปลี่ยนไม้เป็นพลังงานเหลวระดับห้องแล็บจากญี่ปุ่น เผยใช้ไม้ 300 ก.ก.ได้ดีเซล 60 ลิตร หนุนเอกชนสั่งเครื่องจักรรุ่นใหญ่มาผลิต พร้อมหนุนเกษตรกรปลูกไม้โตเร็วรองรับ โดยเฉพาะ "ยูคา" ระบุภาคอิสานยังมีที่ดอนปลูกได้อีก 20 ล้านไร่ ด้านนักวิจัยเผยเทคโนโลยีนี้ยังต้องพัฒนาต่ออีกไกล ไม่ควรรีบทุ่มเชิงพาณิชย์

นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ให้สัมภาษณ์ภายหลังเดินทางไปดูงานการแปรรูปเชื้อเพลิงชีวมวลที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อสัปดาห์ก่อน ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ช่วงเย็นวันที่ 12 มี.ค.51 โดยระบุว่าจะสั่งเข้าเครื่องจักรเปลี่ยนชีวมวลเป็นก๊าซสังเคราะห์เพื่อใช้ในกระบวนการผลิตน้ำมันจ ากบริษัทไมโครเอ็นเนอร์จี (Micro Energy) ของญี่ปุ่นจำนวน 1 เครื่อง มูลค่า 7-8 ล้านบาท ซึ่งเป็นเครื่องจักรระดับห้องปฏิบัติการที่เปลี่ยนเนื้อไม้ 300 กิโลกรัมให้เป็นน้ำมันดีเซลได้ 60 ลิตร

ทั้งนี้ รมว.วิทยาศาสตร์เปิดเผยว่า จะนำเข้าเครื่องจักรระดับห้องปฏิบัติการเข้ามาวิจัยต่อยอดเพื่อสร้างความมั่นใจให้กับภาคเอกชน เพื่อสนับสนุนให้นำเข้าเครื่องจักรขนาดใหญ่ที่มีกำลังผลิตในระดับที่ใช้เนื้อไม้ 24-30 ตันได้เป็นน้ำมัน 5 ตัน

ส่วนจะนำเครื่องดังกล่าวไปวิจัยที่ใดและจะใช้เวลาวิจัยนานเท่าใดนั้น เขายังไม่สามารถระบุได้ โดยการสนับสนุนให้นำเข้าเครื่องจักรเปลี่ยนชีวมวลเป็นพลังงานนี้จะทำควบคู่ไปกับการสนับสนุนปลูกไม้โตเร็ว อาทิ ยูคาลิปตัส กระถินเทพา เป็นต้น

ในส่วนของวัตถุดิบที่จะรองรับเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงจากชีวมวลนั้น นายวุฒิพงศ์กล่าวว่าเฉพาะพื้นที่ภาคตะวันออกเฉียงเหนือมีพื้นที่เพาะปลูกถึง 300 ล้านไร่ และการปลูกยูคาลิปตัสบนคันนาก็ได้ผลผลิตปีละ 800 ตันต่อไร่ ซึ่งขณะนี้มีการปลูกยูคาลิปตัสตามคันนาแล้ว 30 ล้านไร่ แต่ยังเหลือพื้นที่ดอนอีก 20 ล้านไร่ที่ยังไม่ได้ปลูกยูคาลิปตัส

อย่างไรก็ดี รมว.วิทยาศาสตร์ฯ ไม่กังวลหากมีใครต่อต้านการปลูกยูคาลิปตัส  พร้อมเผยรายชื่อเอกชนที่พัฒนาพันธุ์ยูคาลิปตัสที่มีลำตั้นตั้งตรง ซึ่งเขาเห็นว่าดีกว่ายูคาลิปตัสพันธุ์ดั้งเดิมที่เกษตรกรปลูกกันมาอยู่แล้ว อาทิ เครือซีเมนส์ไทยและดับเบิลเอ เป็นต้น

สำหรับเทคโนโลยีที่ใช้ผลิตเชื้อเพลิงจากชีวมวลดังกล่าวนั้น ผศ.ดร.คณิต วัฒนวิเชียร หัวหน้าห้องปฏิบัติการวิจัยเครื่องยนต์สันดาปภายใน คณะวิศวกรรมศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย ผู้ร่วมเดินทางไปดูงานที่ญี่ปุ่นพร้อมนายวุฒิพงศ์อธิบายว่าคือเทคโนโลยี "บีทีแอล" (Biomass to Liqiud: BTL) ที่เปลี่ยนชีวมวลให้กลายเป็นก๊าซสังเคราะห์ ที่ประกอบด้วยคาร์บอนมอนอกไซด์ (CO) และไฮโดรเจน (H) จากนั้นนำก๊าซที่ได้ไปเข้า "หอกลั่น" ซึ่งจะได้ผลิตภัณฑ์ออกมาเป็น อาทิ แอมโมเนีย เบนซิน ดีเซล และปุ๋ย เป็นต้น

อย่างไรก็ดี ผู้สื่อข่าวผู้จัดการวิทยาศาสตร์ได้สอบถามเพิ่มเติมไปยังนักวิจัยผู้ศึกษาเรื่องพลังงานทดแทนของมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี (มจธ.) ถึงรายละเอียดของเทคโนโลยีบีทีแอลซึ่งได้ข้อมูลว่าเทคโนโลยีดังกล่าวจะแบ่งเป็น 2 ขั้นตอน คือ

1.นำชีวมวลไปเผาแบบควบคุมอากาศ คือใส่ออกซิเจนน้อยซึ่งเป็นกระบวนการที่เรียกว่า "แกสซิฟิเคชัน" (gasification) แล้วได้ออกมาเป็นก๊าซสังเคราะห์ซึ่งประกอบด้วยคาร์บอนมอนอกไซด์และไฮโดรเจน

2.นำก๊าซที่ได้จากขั้นตอนแรกผ่านกระบวนการความร้อนเคมีกระบวนการหนึ่ง โดยอาศัยตัวเร่งปฏิกิริยาจะได้เชื้อเพลิงเหลวที่มีคุณสมบัติใกล้เคียงกับน้ำมัน จากนั้นใช้เทคนิคการกลั่นได้เป็นดีเซลและกรีเซอรีล

"เทคโนโลยีนี้มีมานานแล้วตั้งแต่สมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 และเป็นเทคโนโลยีที่ไม่คุ้มทุน โดยกระบวนการเปลี่ยนก๊าซสังเคราะห์เป็นเชื้อเพลิงเหลวนั้นต้องใช้ตัวเร่งปฏิกิริยาซึ่งแพงมาก แม้จะทำได้แต่ไม่คุ้มทุน น้ำมันที่ได้ออกมายังแพงกว่าท้องตลาด แต่ยังไม่มีคนประเมินออกมาว่าแพงกว่าเท่าไหร่" นักวิจัยพลังงานทางเลือกกล่าว

พร้อมกันนี้นักวิจัยจาก มจธ.ยังได้ให้ข้อมูลอีกว่ามีเทคโนโลยีลักษณะเดียวกันนี้หลักๆ 3 เทคโนโลยีคือ 1.เทคโนโลยีที่ใช้ก๊าซธรรมชาติซึ่งเรียกว่า "จีทีแอล" (GTL) 2.เทคโนโลยีที่ใช้ชีวมวลคือบีทีแอล และ 3.เทคโนโลยีที่ใช้ถ่านหินคือ "ซีทีแอล" (CTL)

ทั้ง 3 เทคโนโลยีนั้น นักวิจัยประเมินว่าจีทีแอลคือเทคโนโลยีที่พอจะเกิดได้และมีใช้บ้างในเชิงพาณิชย์ โดยบริษัทน้ำมันแห่งหนึ่งได้ใช้ผสมกับน้ำมันที่ได้จากน้ำมันดิบแต่ก็ยังมีราคาแพงกว่าน้ำมันทั่วไป

"ถ้าจีทีแอลยังไม่คุ้มทุนก็ลืมบีทีแอลไปได้เลย ในตอนนี้แทบจะไม่มีประเทศไหนเลยที่ใช้บีทีแอลในเชิงพาณิชย์ บีทีแอลเป็นเทคโนโลยีที่ดีแต่ต้องใช้เวลาอีกสัก 15-20 ปี"

"ทุกวันนี้เอาชีวมวลไปใช้ประโยชน์ในทางอื่นได้ดีกว่า เช่น เอาไปเผาผลิตไฟฟ้าโดยตรง ได้ประโยชน์และถูกกว่า ทั้งยังเป็นไปได้ในเชิงพาณิชย์ แต่ก็ควรสนับสนุนให้มีการวิจัยและติดตามเทคโนโลยีต่อไป โดยที่ยังไม่ต้องทุ่มลงทุนในเชิงพาณิชย์ รอให้เทคโนโลยีมีความชัดเจนกว่านี้ก่อน" นักวิจัยพลังงานทางเลือกกล่าว.

กำลังโหลดความคิดเห็น