นักวิจัยเอ็มเทคออกแบบชุดวัดความชื้นต้นแบบสำหรับเมล็ดข้าวและเมล็ดถั่วให้สะดวกต่อการใช้งาน ออกแบบให้เหมาะกับสิ่งที่ต้องการวัด หวังให้เป็นเครื่องมืออิเล็กโทรนิกส์สำหรับเกษตรกรไทยในการจัดการผลผลิตทางการเกษตร ทั้งยังประยุกต์ใช้ได้กับเมล็ดพืชหลากชนิด หรือผลิตภัณฑ์ที่ไม่เป็นทรงกลม ล่าสุดถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับภาคเอกชนต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ ลดการนำเข้าจากต่างประเทศ
ศูนย์เทคโนโลยีโลหะและวัสดุแห่งชาติ (เอ็มเทค) จัดพิธีลงนามสัญญาอนุญาตให้ใช้สิทธิในเทคโนโลยีกับบริษัท ซายน์ลูชัน จำกัด ในผลงาน “ชุดอิเล็คโทรดสำหรับวัดความชื้นของเมล็ดหรือเม็ดวัสดุที่มีรูปร่างไม่เป็นทรงกลม” ผลงานวิจัยของ ดร.ไพศาล เสตสุวรรณ และ ดร.ธีระพนธ์ แย้มวงษ์ 2 นักวิจัยเอ็มเทค เมื่อวันที่ 5 มี.ค. 2551 ที่ผ่านมา ณ อุทยานวิทยาศาสตร์ประเทศไทย จ.ปทุมธานี โดยอุปกรณ์ดังกล่าวเหมาะสำหรับเกษตรกรนำไปจัดการกับผลผลิตทางการเกษตร และลดการนำเข้าอุปกรณ์จากต่างประเทศ
ดร.ไพศาล เปิดเผยว่า การวัดความชื้นโดยการวัดค่าความจุไฟฟ้าเป็นวิธีที่ใช้โดยทั่วไปอยู่แล้ว แต่งานวิจัยนี้นำมาพัฒนาให้เหมาะสมกับสิ่งที่ต้องการวัดมากขึ้น โดยการพัฒนาชุดอิเล็คโทรดสำหรับวัดเมล็ดข้าว, เมล็ดถั่ว หรือเมล็ดพืชอื่นๆ ที่ไม่เป็นทรงกลม ซึ่งมีอยู่มากมาย
“เราไม่สามารถวัดค่าความชื้นของเมล็ดพืชได้ทีละเมล็ด เมล็ดที่ไม่เป็นทรงกลม เช่น ข้าวเปลือก จะมีการจัดเรียงตัวกันไม่เหมือนเดิมทุกครั้งที่ตวงวัด โจทย์คือทำอย่างไรให้การวัดแต่ละครั้งได้ค่าที่ไม่แตกต่างกัน” ดร.ไพศาล กล่าว
ชุดอิเล็คโทรดสำหรับวัดความชื้นที่นักวิจัยพัฒนาขึ้นประกอบด้วยภาชนะบรรจุสิ่งที่ต้องการวัด ภายในมีแท่งอิเล็คโทรดที่ทำจากอะลูมิเนียมจำนวน 25 แท่ง จัดเรียงเป็น 5x5 สูงไม่เกินครึ่งหนึ่งของความสูงภาชนะ และต่อเข้ากับเครื่องวัดค่าความจุไฟฟ้า
“ผู้ใช้สามารถตวงเมล็ดพืชที่ต้องการวัดความชื้นใส่ลงในชุดอิเล็คโทรดให้สูงกว่าแท่งอิเล็คโทรดประมาณเท่าตัว เพื่อป้องกันไม่ให้ส่วนบนสุดของสิ่งที่ต้องการวัดมีผลกับค่าความชื้น เครื่องจะแสดงค่าความชื้นออกมาเป็นค่าความจุไฟฟ้า หากเมล็ดพืชมีความชื้นสูง ค่าความจุไฟฟ้าก็จะสูงตาม ซึ่งต้องนำค่าความจุไฟฟ้าที่วัดได้ไปเทียบกับค่ามาตรฐานของเมล็ดพืชนั้นๆ เพื่อหาเปอร์เซ็นต์ความชื้นต่อไป และเมล็ดพืชแต่ละชนิดจะมีค่ามาตรฐานของเปอร์เซ็นต์ความชื้นไม่เท่ากัน” ดร.ไพศาล กล่าว
ดร.ไพศาลบอกว่า ชุดอิเล็คโทรดดังกล่าวสามารถแสดงค่าความจุไฟฟ้าได้ทันทีหลังจากที่ใส่ตัวอย่างลงไป และค่อนข้างแม่นยำ โดยมีความคลาดเคลื่อนเพียงบวกลบไม่เกิน 1% แต่อาจไม่แม่นยำเท่าการวัดความชื้นด้วยวิธีมาตรฐานที่ต้องชั่งน้ำหนักวัสดุที่ต้องการวัด นำไปอบแห้ง และนำมาชั่งน้ำหนักแห้งเพื่อหาน้ำหนักความชื้นที่หายไป ซึ่งวิธีนี้ซับซ้อน ใช้เวลานาน และค่าใช้จ่ายสูง
ในเบื้องต้นนักวิจัยออกแบบชุดอิเล็คโทรดสำหรับวัดความชื้นเมล็ดข้าวเปลือกและเมล็ดถั่ว เพื่อให้เหมาะสมต่อการใช้งานของเกษตรกรในการจัดการผลผลิตทางการเกษตร เช่น วัดความชื้นของเมล็ดข้าว เพื่อพิจารณาว่าควรเก็บเกี่ยวเมื่อไหร่ ควรเก็บไว้ในยุ้งฉางนานแค่ไหนจึงจะขาย เป็นต้น ซึ่งเหล่านี้จะช่วยให้เกษตรกรจัดการกับรายได้ของเขาได้ดีขึ้น เพราะความชื้นเป็นอีกหนึ่งตัวแปรสำคัญในการซื้อขายข้าวเปลือก
ขณะนี้ผลงานดังกล่าวกำลังอยู่ระหว่างการยื่นจดสิทธิบัตร และได้ถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กับบริษัท ซายน์ลูชัน จำกัด ที่ผลิต นำเข้า จำหน่ายอุปกรณ์และเครื่องมือทางวิทยาศาสตร์มานานกว่า 5 ปี โดยมีสำนักงานจัดการสิทธิเทคโนโลยีเป็นผู้ประสานงาน
นายยอดชาย เอื้อวนาปักษา กรรมการบริษัทฯ เผยว่า จะต้องนำเทคโนโลยีนี้ไปพัฒนาต่อในส่วนของวงจรอิเล็คโทรนิกส์ต่างๆ และตัวแบบผลิตภัณฑ์ เพื่อให้สะดวกกับการใช้งานมากขึ้น ให้ผู้ใช้ทำการวัดและอ่านค่าเปอร์เซ็นต์ความชื้นได้ทันที และอาจพัฒนาให้วัดความชื้นของผลิตภัณฑ์ที่หลากหลายมากขึ้น เช่น วัดความชื้นในปลากรอบ ทราย และถ่านหิน เป็นต้น ซึ่งคาดว่าอีกราว 1 ปี จะมีผลิตภัณฑ์ออกสู่ตลาด และจะมีราคาจำหน่ายถูกกว่าที่นำเข้าจากต่างประเทศอย่างน้อย 30% โดยเครื่องวัดความชื้นที่นำเข้าจากเกาหลีมีราคาประมาณ 25,000 บาท
อย่างไรก็ดี รศ.ดร.วีระศักดิ์ อุดมกิจเดชา ผอ.เอ็มเทค กล่าวว่า ผลงานชุดอิเล็คโทรดวัดความชื้นเมล็ดหรือเม็ดวัสดุที่ไม่เป็นทรงกลมนี้เป็นอีกผลงานวิจัยหนึ่งของเอ็มเทคที่ได้ถ่ายทอดสู่เอกชนเพื่อนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ได้จริง ไม่ได้ทำงานวิจัยแต่ขึ้นหิ้งและลงไปไม่ถึงรากหญ้าอย่างที่หลายคนมักเข้าใจกันบ่อยครั้งเมื่อพูดถึงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี