ผอ.สดร.เสนอทางเลือกใหม่นอกเหนือจาก "ยอดดอยอินทนนท์" เพื่อตั้ง "หอดูดาวแห่งชาติ" พิจารณาพื้นที่ "ทีโอที" อีกหนึ่งทาง ระบุไม่อยากรบกวนธรรมชาติและอยากให้เกิดผลกระทบน้อยที่สุด แจงเลือกที่ตั้งบนดอยอินทนนท์ที่ระดับความสูง 2,000 เมตรขึ้นไปทั้งหมด หากแต่ยังไม่ฟันธงที่ใดชัด ชี้ขึ้นอยู่กับผู้ใหญ่ใน ก.วิทย์
รศ.บุญรักษา สุนทรธรรม ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) เปิดเผยภายหลังเข้าพบนายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เพื่อให้สนับสนุนพระราชบัญญัติจัดตั้ง สดร.เป็นองค์การมหาชนในเช้าวันที่ 5 มี.ค.51 ว่า เขาได้รายงานถึงการดำเนินงานต่างๆ ของสถาบัน ทั้งนี้รวมถึงกรณีก่อสร้างหอดูดาวแห่งชาติบนยอดดอยอินทนนท์ที่กำลังถูกต่อต้านและมีปัญหาในการทำรายงานประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมหรืออีไอเอด้วย
กรณีหอดูดาวนั้น ผอ.สดร.ระบุว่าได้เสนอที่ตั้งอื่นๆ เพื่อเป็นทางเลือกสำหรับหอดูดาวแห่งชาตินอกไปจากบนยอดดอยอินทนนท์และกำลังพิจารณาอยู่หลายพื้นที่ซึ่งทั้งหมดตั้งอยู่ที่ระดับความสูง 2,000 เมตรในบริเวณอุทยานแห่งชาติดอยอินทนน์ โดยพื้นที่ดำเนินกิจการของบริษัท ทีโอที จำกัด (มหาชน) ซึ่งตั้งอยู่บนดอยอินทนนท์ก็เป็นอีกทางหนึ่งด้วย ส่วนจะเลือกที่ตั้งใดนั้นขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของผู้ใหญ่ในกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ
"ก็ดูอยู่หลายที่แต่ยังไม่ฟันธง เราต้องการสร้างความสมดุลระหว่างวิชาการกับสิ่งแวดล้อม บนยอดดอยมีปัญหาอยู่หลายเรื่อง เราก็พยายามให้ความร่วมมือ ไม่อยากไปรบกวนธรรมชาติ เราจะเลือกสถานที่ใช้ประโยชน์อยู่แล้วและไม่ต้องไปตัดต้นไม้เพิ่ม ซึ่งการย้ายหอดูดาวไปที่อื่นก็เสียบ้างแต่ก็ต้องให้เกิดความสมดุลทั้ง 2 อย่างคือวิชาการไม่เสียและเกิดผลกระทบน้อยที่สุด"
รศ.บุญรักษากล่าวพร้อมกันระบุว่าสถานที่ตั้งซึ่งเป็นทางเลือกใหม่นั้นต้องมีความสูงไม่ต่ำกว่า 2,000 เมตร เพราะหากต่ำกว่านั้นจะไม่สามารถใช้งานกล้องโทรทรรศน์ได้ อย่างกรณีที่เกาหลีสร้างหอดูดาวบนยอดเขาที่ความสูงประมาณ 1,000 เมตร ปรากฏว่าไม่สามารถทำงานวิจัยบางอย่างได้
"สำหรับอีไอเอก็ยังต้องทำต่อไป ทั้งนี้หากเลือกสถานที่ใหม่ก็คงเพิ่มเติมข้อมูลบางส่วนและอาศัยข้อมูลเดิมด้วย เพราะทางเลือกในการสร้างหอดูดาวทั้งหมดอยู่บนดอยอินทนนท์ที่บางส่วนใช้ข้อมูลเดียวกันได้" รศ.บุญรักษากล่าวและเปิดใจหลังให้สัมภาษณ์ด้วยน้ำเสียงเหน็ดเหนื่อยว่าอยากให้เรื่องดังกล่าวจบลงเสียที
สถานที่ตั้งของทีโอทีบนดอยอินทนนท์นั้นอยู่เลยขึ้นไปจากทางแยกเข้าสู่บริเวณพระมหาธาตุเจดีย์นภเมทนีดล-นภพลภูมิสิริไปเล็กน้อยและอยู่ใกล้ๆ กับบริเวณเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปานที่อยู่สูงประมาณ 2,200 เมตร
ส่วนเหตุผลที่นักวิชาการเลือกยอดดอยอินทนนท์เป็นสถานที่ตั้งของหอดูดาวแห่งชาตินั้น แหล่งข่าววงในซึ่งร่วมผลักดันการสร้างหอดูดาวกล่าวว่า เหตุผลสำคัญคือยอดดอยอินทนนท์นั้นมีอากาศเบาบางและมีเกณฑ์ค่าการมองเห็นทางดาราศาสตร์ (Astronomer seeing) ยอดเยี่ยม คือประมาณ 0.7-0.8 ฟิลิปดา (arc second) โดยค่าดังกล่าวยิ่งต่ำกว่า 1 ยิ่งดีต่อการศึกษาทางดาราศาสตร์และประสิทธิภาพของกล้องก็ขึ้นกับค่าดังกล่าวด้วย
อีกเหตุผลคือยอดดอยอินทนนท์อยู่สูงกว่าระดับ "เฮซ" (Haze) หรือเมฆหมอกซึ่งเป็นฝุ่นที่เกิดจากการระเหยของสารอินทรีย์และสะท้อนแสงไปรบกวนการศึกษาท้องฟ้า นอกจากนี้ในแง่ของโครงสร้างพื้นฐานแล้วดอยอินทนนท์มีถนนตัดผ่านขึ้นไปถึงยอดดอยและมีเส้นใยแก้วนำแสงที่ช่วยอำนวยความสะดวกในการส่งข้อมูลจากหอดูดาวด้วย ซึ่งแหล่งข่าวคนเดิมกล่าวว่าไม่มียอดดอยไหนในเมืองไทยที่มีความพร้อมเท่านี้อีกแล้ว.