xs
xsm
sm
md
lg

มารู้จักชนิดของเมฆกันเถอะ

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"คิวมูโลนิมบัส", "นิมโบสเตรตัส, "เซอโรคิวมูลัส" อ๊ะ! อย่างเพิ่งต๊กกะใจ นี่ไม่ใช่คาถาสาปแช่งใครสักหน่อย แต่เป็นชื่อเรียกของหมู่เมฆเมฆาบนท้องฟ้าต่างหากเล่า และเราก็กำลังจะพาคุณผู้อ่านไปทำความรู้จักกับชนิดของเมฆกันสักหน่อยว่าปุยสีขาวที่ล่องลอยอยู่บนฟ้าเหล่านั้นเขามีชื่อเรียกว่าอะไรกันบ้าง

เมื่อแหงนมองท้องฟ้าแล้วเห็นก้อนเมฆทีไรเป็นต้องจินตนาการว่ามีรูปร่างคล้ายสิ่งนั้นสิ่งนี้ทุกทีไป เห็นเป็นมังกรบ้างล่ะ ปลาโลมาก็มี และเชื่อว่าอีกหลายๆ คนก็มีจินตนาการเช่นนี้เหมือนกัน แต่รู้ไหมว่าก้อนเมฆที่เราเห็นเป็นรูปทรงต่างๆ ก็มีชื่อเรียกเหมือนกันตามลักษณะและความสูงของก้อนเมฆนั้นๆ

ก่อนที่จะไปรู้จักกับก้อนเมฆ เรามาทำความรู้จักกับท้องฟ้ากันก่อนดีกว่าว่ามีเมฆบนท้องฟ้ามากน้อยแค่ไหนถึงจะเรียกได้ว่า "ท้องฟ้าแจ่มใส" หรือ "มีเมฆกระจายเป็นหย่อมๆ"

เมื่อมีเมฆล่องลอยอยู่บนฟ้าราว 1-10% เวลานั้นท้องฟ้าแจ่มใสแน่นอน, ถ้ามีเมฆ 11-25% เรียกได้ว่ามีเมฆบางส่วน, 26-50% นับว่ามีเมฆกระจัดกระจาย, 51-90% ถือว่ามีเมฆเป็นหย่อมๆ และหากเมฆปกคลุมท้องฟ้า 90-100% แสดงว่ามีเมฆครึ้ม

ทีนี้ก็มาดูกันว่ามีเมฆชนิดไหนบ้าง และแต่ละชนิดมีชื่อเรียกว่าอะไร

เมฆแบ่งได้เป็น 10 ชนิด ตามรูปร่างลักษณะและระดับความสูงเหนือพื้นดินของฐานเมฆ ซึ่งแบ่งได้เป็น 3 กลุ่มใหญ่ ได้แก่ เมฆชั้นต่ำ, เมฆชั้นกลาง และเมฆชั้นสูง

เมฆชั้นต่ำ มีความสูงของฐานเมฆเหนือพื้นดินไม่เกิน 2 กิโลเมตร เมฆที่จัดอยู่ในกลุ่มนี้มีทั้งหมด 5 ชนิด ประกอบด้วย

สเตรตัส (Stratus) : เมฆแผ่นที่ลอยไม่สูงมากนัก มักเกิดในตอนเช้าหรือหลังฝนตก ถ้าลอยติดพื้นจะเรียกว่า “หมอก”
คิวมูลัส (Cumulus) : เป็นเมฆก้อนปุกปุย สีขาว รูปทรงคล้ายดอกกะหล่ำ มักก่อตัวในแนวดิ่ง ลอยกระจายห่างกัน และเกิดขึ้นเวลาที่สภาพอากาศแจ่มใสดี
นิมโบสเตรตัส (Nimbostratus) : เมฆสีเทา ทำให้เกิดฝนพรำ และมักปรากฏสายฝนจากฐานเมฆ
คิวมูโลนิมบัส (Cumolonimbus) : ก้อนเมฆฝนขนาดใหญ่ยักษ์ มีรูปทรงคล้ายดอกกะหล่ำและก่อตัวในแนวตั้งเช่นกัน ทำให้เกิดพายุฝนฟ้าคะนอง หากลมชั้นบนพัดแรง ยอดเมฆจะแผ่ออกคล้ายทั่ง
สเตรโตคิวมูลัส (Stratocumulus) : เมฆก้อนที่ไม่มีรูปทรงชัดเจน มักมีสีเทา ลอยต่ำ ติดกันเป็นแพ และมีช่องว่างระหว่างก้อนแค่เพียงเล็กน้อยเท่านั้น มักพบเห็นเมื่อสภาพอากาศไม่ค่อยดีนัก

เมฆชั้นกลาง มีระดับความสูงของฐานเมฆตั้งแต่ 2-6 กิโลเมตร มี 2 ชนิด คือ

อัลโตสเตรตัส (Altostratus) : เมฆแผ่นหนาสีเทาที่ปกคลุมท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง บางครั้งหนามากจนบดบังแสงอาทิตย์ได้
อัลโตคิวมูลัส (Altocumulus) : เมฆก้อนสีขาว ลอยเป็นแพห่างกันไม่มาก มีช่องว่างระหว่างก้อนเพียงเล็กน้อย มองดูคล้ายฝูงแกะ คล้ายเมฆเซอโรคิวมูลัส แต่ขนาดใหญ่กว่ามาก

เมฆชั้นสูง มีความสูงที่ระดับตั้งแต่ 6 กิโลเมตรขึ้นไป มี 3 ชนิด ได้แก่

เซอโรสเตรตัส (Cirrostratus) : เมฆแผ่นบางๆ สีขาว โปร่งแสง เป็นผลึกน้ำแข็ง มักปกคลุมท้องฟ้าเป็นบริเวณกว้าง และทำให้เกิดดวงอาทิตย์หรือดวงจันทร์ทรงกลด
เซอโรคิวมูลัส (Cirrocumulus) : เมฆสีขาว มีลักษณะคล้ายเกล็ดบางๆ หรือระลอกคลื่นเล็กๆ เป็นผลึกน้ำแข็ง โปร่งแสง และเรียงรายกันเป็นระเบียบ
เซอรัส (Cirrus) : เมฆริ้ว สีขาว โปร่งแสง และเป็นผลึกน้ำแข็ง ลักษณะคล้ายขนนกเพราะถูกกระแสลมชัดบนพัด มักเกิดขึ้นเวลาที่สภาพอากาศดี

ทีนี้ก็รู้กันแล้วว่าเมฆมีกี่ชนิด และเมฆชนิดไหนทำให้เกิดฝนพรำหรือทำฝนตกหนัก ฉะนั้นก่อนออกจากบ้านครั้งต่อไปก็อย่าลืมพยากรณ์อากาศกันเสียหน่อย จะได้เตรียมพร้อมรับมือกับฝนฟ้าในแต่ละวันได้ทันเวลาไงล่ะจ๊ะ

หมายเหตุ : ข้อมูลและภาพประกอบจากศูนย์การเรียนรู้วิทยาศาสตร์โลกและดาราศาสตร์ (LESA)




กระบวนการเกิดเมฆ



ชมคลิปกระบวนการเกิดเมฆซึ่งคณะยุววิจัยลีซาได้เดินทางไปศึกษาบนเส้นทางศึกษาธรรมชาติกิ่วแม่ปาน อุทยานแห่งชาติดอยอินทนนท์ เมื่อเดือน ก.พ.ที่ผ่านมา ทั้งนี้อากาศได้พัดพาความชื้นจากมหาสมุทรผ่านพม่าเข้ามาถึงประเทศไทย แล้วผ่านมาถึง อ.แม่แจ่ม จ.เชียงใหม่ จากนั้นปะทะกับหน้าผาของดอยอินทนนท์แล้วยกตัวขึ้นไปสัมผัสอากาศด้านบนที่มีอุณหภูมิต่ำกว่า ทำให้ไอน้ำควบแน่นและแข็งฉับพลันกลายเป็นเกล็ดน้ำแข็งของเมฆ ในภาพเคลื่อนไหวจะเห็นอากาศใสๆ เบื้องล่างเปลี่ยนเป็นเมฆขาวขุ่นตามกระแสลม













กำลังโหลดความคิดเห็น