xs
xsm
sm
md
lg

ก.วิทย์หมายตา 2 เทคโนโลยี "ญี่ปุ่น -แคนาดา" เปลี่ยนยูคาเป็นดีเซล

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"นิคม" เผยรุดเจรจาแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีพร้อมตั้งโรงงานเปลี่ยนไม้ยูคาเป็นพลังงานในไทย หมายตาเทคโนโลยีผลิตดีเซลของญี่ปุ่นและแคนาดา ย้ำไทยต้องมีทั้ง 2 เทคโนโลยีตอบสนองศักยภาพการผลิตยูคาไทยที่มีเพียงพอ ระบุทุ่งกุลาฯ มีสิทธิ์นำร่อง

ผศ.ดร.นิคม แหลมสัก ผอ.ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผู้ร่วมเดินทางไปกับผู้บริหารกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ เพื่อศึกษาเทคโนโลยีการเปลี่ยนไม้เป็นเชื้อเพลิง ณ ประเทศญี่ปุ่นระหว่าง 6 -8 มี.ค.51 นี้ เปิดเผยเมื่อวันที่ 28 ก.พ.51 ว่า มีการประสานไปยังสถาบันวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีอุตสาหกรรมขั้นสูงแห่งชาติญี่ปุ่น และบริษัทไมโคร เอ็นเนอร์ยี (Micro Energy) เจ้าของเทคโนโลยีเพื่อเข้าเจรจาแลกเปลี่ยนเทคโนโลยีและศึกษาการตั้งโรงงานในไทยแล้ว

สำหรับเทคโนโลยีที่สนใจคือ เทคโนโลยีแก๊สซิฟิเคชัน (Gasification) ซึ่งผ่านกระบวนการผลิตฟิชเชอร์-โทรปช์ (Fischer-Tropsch) หรือการเปลี่ยนไม้ให้เป็นก๊าซด้วยอุณหภูมิสูงกว่า 1,000 องศาเซลเซียสและควบแน่นให้เป็นของเหลวที่เรียกว่าบีทีแอล (Biomass-to-Liquid: BTL) ซึ่งนำมาใช้ทดแทนน้ำมันดีเซลได้โดยไม่ต้องผสมสูตรใดๆ อีก เทคโนโลยีดังกล่าวมีราคาประมาณเครื่องละ 150 ล้านบาท โดยผลิตเชื้อเพลิงเหลวได้ 2,500 -5,000 ลิตร/วัน และผลิตไฟฟ้าได้อีกถึงวันละ 100 -240 กิโลวัตต์

นอกจากนี้ ผศ.ดร.นิคม ชี้ว่า ทางคณะยังสนใจดูงานบริษัทไดนาโมทีฟ เทคโนโลยีส์ คอร์ปอเรชัน (DynaMotive Technologies Corporation) ประเทศแคนาดา ที่ได้พัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเชื้อเพลิงเหลวไบโอออยล์ (Bio-oil) โดยกระบวนการผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากเส้นใยต้นไม้เป็นเชื้อเพลิงเหลวภายในเวลา 1 -2 วินาที หรือ "ฟาสต์ ไพโรไลซิส" (Fast Pyrolysis) โดยเชื้อเพลิงเหลวที่ได้สามารถใช้แทนน้ำมันเตาและผลิตกระแสไฟฟ้า ตัวเทคโนโลยีมีราคา 300 -400 ล้านบาท/เครื่อง เบื้องต้นพบว่ากุลาร้องไห้เป็นพื้นที่ที่มีศักยภาพผลิตไม้โตเร็วได้อย่างเพียงพอ

"ไทยเราต้องใช้ทั้งสองเทคโนโลยี เพราะมีประโยชน์มากในการผลิตเชื้อเพลิงทดแทนเชื้อเพลิงจากฟอสซิส และเรามีไม้พลังงานที่มีศักยภาพในการรองรับมาก โดยเฉพาะยูคาลิปตัส เพราะเป็นไม้โตเร็ว การศึกษาวิจัย 50 ปี พบว่าการปลูกบนคันนาไม่ส่งผลกระทบใดๆ ต่อสิ่งแวดล้อม" ผอ.ศูนย์วิจัยป่าไม้ คณะวนศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์กล่าว

กำลังโหลดความคิดเห็น