xs
xsm
sm
md
lg

อดีตปลัดเกษตรชี้โพรง "วุฒิพงศ์" ใช้วิชาการฟันธง "ปลูกยูคา" ในวงสัมมนา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


"ยุกติ" อดีตปลัดเกษตรฯ เข้าพบ "วุฒิพงศ์" ถึงกระทรวงวิทย์ แนะทางเชิญนักวิชาการฝ่ายหนุน-ค้านปลูกยูคาลิปตัสหาข้อยุติร่วมกันในวงสัมมนา มั่นใจเป็นไม้โตเร็วชนิดหาตัวจับยาก แก้ปัญหาคนจนได้ ด้านเจ้าตัวตอบสั้นๆ ยังต้องคุยต่อไป ไม่จบง่ายๆ

เป็นข่าวร้อนประจำสัปดาห์ต่อเนื่องกันหลายวันเลยทีเดียว จากการที่นายวุฒิพงศ์ ฉายแสง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี (วท.) คนใหม่ได้เสนอให้ปลูกยูคาลิปตัสตามคันนาเพื่อใช้ผลิตเชื้อเพลิงเหลวและสร้างรายได้ให้แก่ชาวนา จนมีกลุ่มเกษตรกรผู้ปลูกยูคาลิปตัสในภาคอีสานเดินทางมาให้กำลังใจถึงห้องทำงานเมื่อวันที่ 13 ก.พ.51 ณ กระทรวงวิทยาศาสตร์ กรุงเทพฯ

ในวันเดียวกัน ดร.ยุกติ สาริกะภูติ อดีตปลัดกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ ในฐานะนายกสมาคมไทยพัฒนาการปลูกป่าและอุตสาหกรรมไม้ ยังได้เดินทางเข้าพบนายวุฒิพงศ์ และเปิดเผยภายหลังเข้าพบว่า เขาได้เสนอความคิดเห็นให้นายวุฒิพงศ์ จัดให้มีการสัมมนาระดมความคิดเห็นเพื่อหาข้อยุติเกี่ยวกับการปลูกยูคาลิปตัสขึ้น

ทั้งนี้รูปแบบการสัมมนาจะเชิญนักวิชาการของฝ่ายสนับสนุนและฝ่ายคัดค้านการปลูกยูคาลิปตัสมาโต้เถียงโดยใช้เหตุผลและข้อมูลวิจัยร่วมกัน ซึ่งจะทำให้ได้ข้อยุติทั้งสองฝ่าย เพราะข้อโต้แย้งเกี่ยวกับการปลูกยูคาลิปตัสมีมานานมากแล้ว ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยมีความต้องการไม้ยูคาลิปตัสปีละ 70 ล้านตัน แต่ผลิตได้เองในประเทศเพียงครึ่งหนึ่ง ที่เหลือต้องนำเข้า

ส่วนจุดยืนของสมาคมฯ ดร.ยุกติ ชี้ว่า ในนามของสมาคมฯ ซึ่งสนับสนุนการปลูกไม้โตเร็วอาทิ ยูคาลิปตัส มองว่านโยบายดังกล่าวของนายวุฒิพงศ์เป็นนโยบายการแก้ปัญหาความยากจนได้ดี เพราะยูคาลิปตัสเป็นพืชโตเร็วที่หาได้ยาก ใช้ประโยชน์ได้มาก และมีความต้องการเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

อย่างไรก็ดี เสนอด้วยว่าพืชตระกูลอะเคเซียอย่างกระถินก็เป็นไม้โตเร็วที่น่าสนใจเช่นกัน ปกติจะใช้ปลูกเป็นพืชเบิกนำตามภูเขาหัวโล้นที่เพาะปลูกอะไรไม่ขึ้นแล้ว แต่ไม่เหมาะที่จะปลูกตามคันนา ซึ่งเมื่อเสนอความคิดเห็นไปแล้ว นายวุฒิพงศ์ก็รับฟังและบอกเพียงว่าเป็นเรื่องที่ยังจะไม่จบลงง่ายๆ แต่ต้องพูดคุยกันต่อไป

นอกจากนี้ ดร.ยุกติ เผยอีกว่า ยังได้ให้ข้อเสนอแนะถึงนโยบายการปลูกป่าใน 25 ลุ่มน้ำทั่วประเทศของ รมว.วิทยาศาสตร์ฯ รายนี้ด้วยว่า เป็นความคิดที่ดี และควรพัฒนาการปลูกป่าตั้งแต่ต้นน้ำถึงปลายน้ำ ส่วนจะปลูกพืชตัวใดนั้นก็ต้องดูตามความเหมาะสม โดยต้องคำนึงถึงประชาชนผู้ใช้น้ำ ภาคอุตสาหกรรม และการปลูกป่าด้วย
กำลังโหลดความคิดเห็น