xs
xsm
sm
md
lg

“ซีพี” ยันหนุนเพื่อนบ้านปลูกข้าวโพดตามกรอบ ACMECS

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

“ซีพี” ยันส่งเสริมเพื่อนบ้านปลูกข้าวโพดตามกรอบ ยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี–เจ้าพระยา-แม่โขง หรือ ACMECS ย้ำชัดไม่มีนโยบายรุกป่า แม้พื้นที่ปลูกในประเทศจะเหลือจำกัด

ดร.อาชว์ เตาลานนท์ รองประธานกรรมการ เครือเจริญโภคภัณฑ์ เปิดเผยว่า ปัจจุบันข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ทั่วโลกมีราคาสูงขึ้นมากเป็นประวัติการณ์ เนื่องจากสหรัฐอเมริกาผู้ผลิตข้าวโพดอันดับ 1 ของโลก ได้ลดการส่งออกข้าวโพดลง เพื่อนำไปผลิตเอทานอลใช้เป็นพลังงานทดแทน การเปลี่ยนแปลงเช่นนี้ จะส่งผลต่อเนื่องให้ปริมาณข้าวโพดที่ต้องป้อนให้แก่โรงงานอาหารสัตว์มีไม่เพียงพอต่อความต้องการ

จากแนวโน้มสถานการณ์ดังกล่าว เครือเจริญโภคภัณฑ์ ซึ่งมีความต้องการใช้ข้าวโพดปีละประมาณ 2 ล้านตัน ในการผลิตอาหารสัตว์ ได้เตรียมความพร้อมโดยเข้าไปส่งเสริมการปลูกข้าวโพดในประเทศเพื่อนบ้านแล้วกว่า 3 ล้านไร่ ได้แก่ กัมพูชา ลาว พม่า และเวียดนาม เนื่องจากประเทศเหล่านี้มีสภาพภูมิอากาศที่คล้ายคลึงกับประเทศไทย โดยได้ถ่ายทอดเทคโนโลยี ตั้งแต่เมล็ดพันธุ์ข้าวโพด ตลอดจนวิธีทำเกษตรกรรมอันทันสมัย ส่งผลให้เกษตรกรในประเทศเพื่อนบ้านได้รับประโยชน์ทันที เป็นการสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างประเทศ ขณะเดียวกันบริษัทก็จะได้วัตถุดิบที่มีคุณภาพมาทำการผลิตอาหารสัตว์เช่นกัน

บริษัทได้เข้าไปส่งเสริมการปลูกในประเทศเพื่อนบ้านดังกล่าวแล้วกว่า 3 ล้านไร่ แบ่งเป็นพื้นที่ส่งเสริมในประเทศกัมพูชา 500,000 ไร่ ประเทศลาว 300,000 ไร่ พม่า 700,000 ไร่ และเวียดนาม 1,700,000 ไร่

การปลูกในประเทศเพื่อนบ้านนั้น ยังต้องให้ความสำคัญเรื่องการขนส่งที่จะส่งผลกระทบให้ราคาเพิ่มขึ้น แต่อย่างไรก็ตาม ข้าวโพดเลี้ยงสัตว์จากประเทศเพื่อนบ้านที่ซีพีเข้าไปส่งเสริมยังมีความสามารถในการแข่งขันได้ ทั้งนี้ เนื่องจากไม่เสียภาษี เพราะดำเนินการส่งเสริมภายใต้กรอบ ACMECS (Ayeyawady-Chao Phraya-Mekong Economic Cooperation Strategy) หรือโครงการยุทธศาสตร์ความร่วมมือทางเศรษฐกิจ อิระวดี–เจ้าพระยา-แม่โขง ซึ่งจัดตั้งขึ้นเมื่อปี พ.ศ.2546 โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อใช้ประโยชน์ความแข็งแกร่ง และความหลากหลายของประเทศ 5 ชาติสมาชิก (กัมพูชา ลาว พม่า เวียดนาม และไทย) ร่วมกันทำการส่งเสริมการพัฒนาอย่างสมดุล โดยความร่วมมือในสาขาเกษตรกรรมอุตสาหกรรม ได้เลือกโครงการส่งเสริมปลูกข้าวโพดเลี้ยงสัตว์แบบ contract farming ที่มีการทำสัญญาซื้อ-ขายกันล่วงหน้าระหว่างผู้รับซื้อและเกษตรกร

นอกจากนี้ ยังมีแผนขยายพื้นที่อีกมาก โดยเฉพาะในประเทศลาว กัมพูชา และพม่า รวมทั้งยังมีศักยภาพที่จะขยายเข้าสู่ประเทศอินเดีย บังกลาเทศ เนปาล และปากีสถาน

สำหรับการผลิตข้าวโพดเลี้ยงสัตว์ของประเทศไทยปัจจุบันมีเพียง 4 ล้านตัน จากพื้นที่การผลิตรวม 6 ล้านไร่ ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการที่มีอยู่ประมาณ 5.5 ล้านตัน โดยใช้เป็นวัตถุดิบอาหารสัตว์ในประเทศเป็นส่วนใหญ่ เนื่องจากพื้นที่ปลูกข้าวโพดในประเทศไทยมีจำนวนจำกัด และมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากเกษตรกรได้หันไปปลูกพืชชนิดอื่นที่มีผลตอบแทนสูงกว่า เช่น มันสำปะหลัง อ้อย ยางพารา จึงส่งผลให้พื้นที่ปลูกข้าวโพดในประเทศไทยลดลงอย่างต่อเนื่องจากปี 2548 ที่มีพื้นที่ปลูก 5.67 ล้านไร่ ปี 2549 มีพื้นที่ปลูก 5.14 ล้านไร่ มาปี 2550 เหลือพื้นที่ปลูกเพียง 5.08 ล้านไร่เท่านั้น

อย่างไรก็ตาม เครือเจริญโภคภัณฑ์ ไม่มีนโยบายและความจำเป็นใดๆ ที่จะต้องส่งเสริมให้เกษตรกรไทยเร่งปลูกข้าวโพดโดยการบุกรุกพื้นที่ป่า เนื่องจากได้มีการส่งเสริมการปลูกในประเทศเพื่อนบ้านอย่างเพียงพอแล้วดังกล่าวข้างต้น ขณะเดียวกัน บริษัทยังมีนโยบายในการปลูกป่าร่วมกับกรมป่าไม้ในโครงการปลูกป่าเฉลิมพระเกียรติฯ อย่างต่อเนื่องเป็นเวลานับ 10 ปี รวมพื้นที่ป่าประมาณ 1 แสนไร่ อาทิเช่น ในพื้นที่อุทยานแห่งชาติภูหินร่องกล้า อุทยานแห่งชาติตาดหมอก และป่าชายเลนบริเวณภาคใต้ จนสามารถทำให้หลายพื้นที่เปลี่ยนสภาพจากภูเขาหัวโล้น เป็นผืนป่าเขียวชอุ่ม มีต้นไม้ทั้งในระดับบนที่เป็นไม้ใหญ่และป่าในระดับล่างที่เป็นไม้เล็ก และได้รับรางวัลในโครงการประกวดการปลูกป่าจากกรมป่าไม้ถึง 3 ระดับ ได้แก่ แปลงปลูกขนาดใหญ่ ขนาดกลางและขนาดเล็ก ตามกฎเกณฑ์ที่กรมป่าไม้กำหนด
กำลังโหลดความคิดเห็น