xs
xsm
sm
md
lg

ใครจะเชื่ออัจฉริยะสร้างได้ด้วย "ออทิสติก" ทั้ง "ไอน์สไตน์-นิวตัน" เข้าข่าย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เดอะเดลีเทเลกราฟ-นักจิตเวชศาสตร์ลงความเห็น "ไอน์สไตน์" และ "นิวตัน" 2 นักวิทยาศาสตร์ชั้นเซียนของโลกมีความบกพร่องทางสังคม หรือมีอาการของออทิสติกร่วมด้วย และความผิดปกตินี้เองที่เป็นสิ่งผลักดันให้พวกเขากลายเป็นอัจฉริยบุคคล

ไมเคิล ฟิตซ์เจอรัลด์ (Michael Fitzgerald) ศาสตราจารย์ด้านจิตเวชศาสตร์แห่งวิทยาลัยทรินิตี (Trinity College) กรุงดับลิน ไอร์แลนด์ เปิดเผยระหว่างการประชุมวิชาการด้านจิตเวชศาสตร์ (the Royal College of Psychiatrists' Academic Psychiatry) ว่า 2 นักวิทยาศาสตร์ชื่อดังของโลกอย่าง "อัลเบิร์ต ไอน์สไตน์" (Alber Einstein) และ "ไอแซค นิวตัน" (Isaac Newton) มีความบกพร่องทางพัฒนาการด้านสังคม ซึ่งจัดอยู่ในอาการของ "ออทิสติก" และมีส่วนทำให้บุคคลทั้งสองประสบความสำเร็จในฐานะนักวิทยาศาสตร์ของโลก

ฟิตซ์เจอรัลด์ระบุว่า ทั้งไอน์สไตน์ซึ่งเป็นผู้คิดค้นทฤษฎีสัมพัทธภาพ และนิวตันผู้ค้นพบกฏความโน้มถ่วงของโลก มีบุคลิกภาพที่เป็นสัญญาณบ่งบอกว่าพวกเขามีอาการอยู่ในกลุ่มของออทิสติก (autism spectrum disorder) ที่เรียกว่า "แอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม" (Asperger's syndrome) ซึ่งเป็นความบกพร่องทางสังคม ไม่ค่อยสุงสิงกับบุคคลทั่วไป แต่มักมีความจำดี ใจจดจ่ออยู่กับสิ่งใดสิ่งหนึ่ง และชอบทำซ้ำๆ แต่จะไม่มีความบกพร่องในด้านพัฒนาการทางภาษาและการสื่อสาร

"เป็นที่รู้กันดีว่านิวตันชอบทำงานติดต่อกันหลายวันชนิดลืมวันลืมคืน ไม่ยอมกิน ไม่ยอมนอน หรือหยุดพักผ่อนบ้างเลย ส่วนไอน์สไตน์ก็ต้องไปทำงานอยู่ในสำนักงานทะเบียนสิทธิบัตร (patent office) เพราะดื้อรั้นและไม่ยอมอ่อนข้อให้กับเหล่าอาจารย์ในมหาวิทยาลัย" ฟิตซ์เจอรัลด์ เผย

นอกจากไอน์สไตน์และนิวตันที่ปรากฏอาการในกลุ่มออนิสติกนี้แล้ว ยังมีบุคคลผู้มีชื่อเสียงก้องโลกที่อยู่ในแวดวงต่างๆ ทั้งการเมือง ศิลปะ หรือวรรณกรรม อีกหลายคนที่มีลักษณะอาการเดียวกันนี้ เช่น ชาร์ลส์ เดอ โกลล์ (Charles de Gaulle) นายพลผู้แกร่งกล้าและอดีตประธานาธิบดีฝรั่งเศสช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่ 2,

จอร์จ ออร์เวลล์ (George Orwell) นักเขียนชื่อดังชาวอังกฤษผลงานที่โด่งดังที่สุดคือ "รัฐสัตว์" (Animal Farm), บีโธเฟน (Beethoven) ชาวเยอรมนี และโมสาร์ท (Mozart) ชาวออสเตรีย 2 นักประพันธ์เพลงผู้ยิ่งใหญ่ของโลกแห่งยุคคลาสสิก,

ฮันส์ คริสเตียน แอนเดอร์เซน (Hans Christian Andersen) นักแต่งนิทานชื่อก้องโลกชาวเดนมาร์กเจ้าของผลงาน "เดอะลิตเติล เมอร์เมด" (The Little Mermaid) และอิมมานูเอล คานท์ (Immanuel Kant) นักปรัชญาชื่อดังชาวเยอรมัน

หลังจากที่ศึกษาบุคลิกลักษณะดังกล่าวนี้มากว่า 1,600 คน ฟิตซ์เจอรัลด์ก็ลงความเห็นว่ากลุ่มอาการออทิสติกนี้ล้วนปรากฏอยู่ในอัตชีวประวัติของบุคคลที่มีชื่อเสียงของโลกหลายต่อหลายคน ซึ่งเขาบอกด้วยว่าความเป็นอัจฉริยบุคคลนั้นถูกกำหนดไว้ในพันธุกรรมอยู่แล้ว

อย่างไรก็ดี ยังไม่มีใครรู้ว่ายีนไหนกันแน่ที่มีบทบาทสำคัญ และต้องมีมากน้อยเท่าใด
แต่เชื่อว่าต้องมีหลายยีนที่เป็นตัวกำหนดให้มีบุคลิกเช่นนั้น

ทั้งนี้ฟิตซ์เจอรัลด์ ยังแต่งหนังสือเรื่อง "ยีนอัจฉริยะ: คนมีพรสวรรค์ที่เป็นแอสเพอร์เกอร์เปลี่ยนโลกได้อย่างไร" (Genius Genes: How Asperger Talents Changed the World) ที่เพิ่งตีพิมพ์เมื่อปลายปีที่แล้ว โดยนำเสนอเรื่องราวชีวิตและพฤติกรรมของบุคคลผู้มีชื่อเสียงของโลก 21 คน ที่มีการแสดงออกของลักษณะอาการแอสเพอร์เกอร์ ซินโดรม เพื่อเป็นกรณีศึกษา ซึ่งรวมถึงนิวตันและไอน์สไตน์ด้วย

ทั้งนี้ฟิตซ์เจอรัลด์ระบุว่าบุคคลที่มีอาการในกลุ่มของออทิสติกนี้จะพบได้ประมาณ 60-120 กรณี ในจำนวน 10,000 คน

ฟิตซ์เจอรัลด์บอกอีกว่า บุคคลที่บกพร่องด้านการปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น อาจมีความหวาดระแวงหรือขัดแย้งอยู่ในใจ แต่พวกเขาเหล่านี้จะมีจริยธรรมและความตั้งใจที่สูงมาก พวกเขาสามารถจดจ่อทำสิ่งใดสิ่งหนึ่งนานถึง 20-30 ปีได้โดยที่ไม่ไขว้เขวไปเรื่องอื่น ซึ่งเกินความคาดหมายของคนทั่วไป

"การศึกษาจิตเวชศาสตร์มักมุ่งไปที่อาการผิดปกติด้านลบของผู้ป่วยที่แตกต่างไปจากคนทั่วไป แต่ทั้งนี้ต้องการนำเสนอให้เห็นว่าความบกพร่องทางจิตก็ส่งผลให้เกิดมิติทางด้านบวกได้เช่นกัน ดังเช่นที่ปรากฏอยู่ในอัจฉริยบุคคลทั้งหลาย" ฟิตซ์เจอรัลด์กล่าว




กำลังโหลดความคิดเห็น