xs
xsm
sm
md
lg

"จอห์น วีเลอร์" นักฟิสิกส์ผู้นิยามคำว่า "หลุมดำ" ลาโลกในวัย 96

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

จอห์น วีเลอร์ ผู้ทำให้โลกรู้จักคำว่า หลุมดำ เสียชีวิตขณะอายุได้ 96 ปี ทั้งนี้เขาคือนักฟิสิกส์คนหนึ่งที่มีบทบาทสำคัญในการสร้างระเบิดปรมาณูยุคสงครามโลกครั้งที่ 2
บีบีซีนิวส์/อินดิเพนเดนต์/เอพี/เอเอฟพี- "จอห์น วีเลอร์" นักฟิสิกส์ยุคระเบิดปรมาณูผู้ตั้งคำว่า "หลุมดำ" อีกทั้งเคยเคียงบ่าเคียงไหล่ "นีล บอห์ร" นักฟิสิกส์ระดับปรมาจารย์ผู้นำเสนอทฤษฎีอะตอมในสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 รวมทั้งนำพาความเฟื่องฟูให้กับทฤษฎีสัมพัทธภาพของไอน์สไตน์ จากโลกนี้ไปแล้วด้วยวัย 96 ปี

จอห์น วีเลอร์ (John Wheeler) นักฟิสิกส์อเมริกันวัย 96 ผู้คิดคำศัพท์ "หลุมดำ" (Black hole) สำหรับเรียกวัตถุที่ดูดกลืนทุกสิ่งแม้กระทั่งแสงไม่ให้เล็ดลอดออกมา ได้เสียชีวิตลงภายในบ้านพักด้วยโรคปอดอักเสบเมื่อวันที่ 13 เม.ย.51 ที่ผ่านมา นับเป็นการสูญเสียนักวิทยาศาสตร์ปรมาณูคนสุดท้ายที่มีบทบาทอย่างยิ่งในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2

วีเลอร์เคยมองว่าเป็นเรื่องไร้สาระสิ้นดีสำหรับแนวคิดของโรเบิร์ต ออพเพนไฮเมอร์ (Robert Oppenheimer) บิดาแห่งระเบิดปรมาณูและฮาร์ตแลนด์ สไนเดอร์ (Hartland Snider) เกี่ยวกับหลุมดำซึ่งเกิดจากดาวฤกษ์ที่หมดเชื้อเพลิงเพื่อเผาไหม้ในปฏิกิริยานิวเคลียร์แล้วอัดแน่นเป็นจุดที่มีความหนาแน่นอย่างไม่สิ้นสุดหรือที่เรียกว่า "ซิงกูลาริตี" (singularity) ซึ่งทำให้วัตถุใดๆ หรือแม้กระทั่งแสงไม่สามารถเล็ดลอดออกมาได้

แต่เมื่อเขาได้นำทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของอัลเบิร์ต ไอน์สไตน์ (Albert Einstein) มาประยุกต์ใช้กับดวงดาวที่เผาไหม้เชื้อเพลิงจนหมดแล้ว เขาเองก็ต้องประหลาดใจที่ได้ข้อสรุปเช่นเดียวกับแนวคิดของออพเพนไฮเมอร์ เขาได้นำความเฟื่องฟูมาให้กับทฤษฎีของไอน์สไตน์ซึ่งไม่เข้ากับยุคสมัยนั้น

วีเลอร์พบว่าการหลีกหนีที่จะหดตัวไปสู่ภาวะซิงกูลาริตี เป็นเรื่องที่เลี่ยงไม่ได้สำหรับดาวที่มีมวลมากกว่าจุดเริ่มต้นมวลวิกฤต ซึ่งมีค่าประมาณ 2-3 เท่าของมวลดวงอาทิตย์ และเขาได้ก็ได้นำเสนอคำว่า "หลุมดำ" ในงานประชุมวิชาการเมื่อปี 2510 เพื่ออธิบายแทนคำว่า "ดาวที่พังทลายอย่างสมบูรณ์เนื่องด้วยแรงโน้มถ่วง" (gravitationally completely collapse) ที่ใช้กันในสมัยนั้น

อย่างไรก็ดี ริชาร์ด เฟย์นแมน (Richard Feynman) นักฟิสิกส์รางวัลโนเบลผู้เป็นที่คุ้นหูเมื่อเอ่ยถึงนาโนเทคโนโลยีและเป็นอดีตลูกศิษย์ของวีเลอร์เองมองว่าคำดังกล่าวนั้นฟังดูลามกสัปดน ทั้งนี้อาจเป็นที่เข้าใจได้หากนึกถึงศัพท์ฝรั่งเศส "ตรูนัวร์" (trou noir) ที่ถอดความได้ว่าหลุมดำเช่นเดียวกัน แต่มีความหมายแตกต่างกันโดยสิ้นเชิง

ถึงอย่างนั้นหลุมดำซึ่งประดิษฐ์คำขึ้นโดยวีเลอร์ก็เป็นที่รู้จักโดยกว้างขวาง และช่วยตกผลึกทางความคิดให้กับนักฟิสิกส์ได้เป็นอย่างดี โดยก่อนเสนอชื่อดังกล่าวนั้นไม่มีงานวิจัยเกี่ยวกับหลุมดำออกมาเลย และคำๆ นี้ยังทำให้เกิดมโนภาพถึงวัตถุลึกลับดังกล่าวได้กับทุกคนแม้กับคนที่ไม่ได้ศึกษาฟิสิกส์ ทุกวันนี้กลายเป็นเรื่องปกติสำหรับคนทั่วไปที่จะพูดว่า "หลุมดำน่าจะดูดคนโกงชาติไปให้หมด"

วีเลอร์เคยประกาศอย่างเป็นทางการว่า "หลุมดำไม่มีขน" (black holes have no hair) เพื่อบ่งบอกถึงความจริงที่ว่าหลุมดำไม่มีคุณลักษณะที่จำแนกได้ เปรียบเหมือนไม่มีปุ่มหรือแนวกั้นหรือเส้นขนติดอยู่เพื่อบ่งบอกว่าเป็นหลุมดำ นอกจากนี้เขายังเขายังประดิษฐ์คำว่า "รูหนอน" (wormhole) เพื่อใช้เรียกกาล-อวกาศ (space-time) ที่มีรูปร่างเหมือนอุโมงค์ให้เราเดินทางย้อนเวลาหรือเดินทางไกลๆ ได้ ซึ่งตามทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์ทำนายถึงการมีรูหนอน

นักฟิสิกส์จากยุคสงครามโลกผู้ลาโลกคนนี้มีความสามารถพิเศษในการอธิบายแนวคิดที่ซับซ้อนให้คำพูดที่เรียบง่ายได้ ยกตัวอย่างเช่นแนวคิดเกี่ยวกับทฤษฎีสัมพัทธภาพทั่วไปของไอน์สไตน์นั้นเขาอธิบายเป็นประโยคว่า "สสารบอกอวกาศว่าจะโค้งงออย่างไร และอวกาศที่โค้งงอก็บอกสสารว่าจะเคลื่อนที่อย่างไร" (Matter tells space how to warp.And warped space tells matter how to move) ประโยคง่ายๆ นี้เป็นเหมือนบทสวดสำหรับนักศึกษาฟิสิกส์ทุกคน

วีลเลอร์จบการศึกษาระดับดุษฎีบัณฑิตทางด้านฟิสิกส์ขณะอายุเพียง 21 ปีจากมหาวิทยาลัยจอห์นฮอปกินส์ในบัลติมอร์ (Johns Hopkins University in Batimore) สหรัฐฯ เมื่อปี 2476 และหลังจากนั้นประมาณ 20 ปีเขาได้ร่วมงานกับ "นีล บอห์ร" (Neil Bohr) นักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่แห่งศตวรรษที่แล้วอีกคน โดยเขาได้รับทุนจากสภาวิทยาศาสตร์สหรัฐฯ ให้เดินทางไปทำวิจัยที่สวีเดนกับนักฟิสิกส์ผู้ได้รับรางวัลจากทฤษฎีที่อธิบายธรรมชาติของอะตอมนี้

ในช่วงสงครามโลกครั้งที่ 2 ทั้งวีเลอร์และบอห์รต่างเป็นนักวิทยาศาสตร์ในโครงการ "แมนฮัตตัน" (Manhattan project) อันเป็นโครงการพัฒนาระเบิดปรมาณูลูกแรกของโลก นอกจากนี้วีเลอร์ยังมีส่วนช่วยเอ็ดเวิร์ด เทลเลอร์ (Edward Teller) นักฟิสิกส์อีกคนพัฒนาระเบิดไฮโดรเจนที่ทรงพลังอีกด้วย

การสูญเสียนักฟิสิกส์ผู้ยิ่งใหญ่ในครั้งนี้ประธานาธิบดีจอร์จ ดับเบิลยู บุชและนางลอรา บุช สตรีหมายเลขหนึ่งแห่งสหรัฐฯ ได้กล่าวแสดงความเสียใจถึงการจากไปของนักฟิสิกส์อเมริกันผู้ยิ่งใหญ่ ซึ่งระหว่างเส้นทางอาชีพที่โดเด่นนั้นเขาได้ร่วมงานกับนักวิทยาศาสตร์อย่างบอห์รและไอน์สไตน์ในโครงการที่สร้างจุดเปลี่ยนให้กับประวัติศาสตร์

"ขณะที่เป็นศาสตราจารย์ที่มหาวิทยาลัยพรินซ์ตันและมหาวิทยาลัยเท็กซัสออสติน (University of Texas-Austin) ดร.วีเลอร์ได้สร้างแรงบันดาลใจให้กับนักศึกษาหลายรุ่นเพื่อเปลี่ยนความอยากรู้อยากเห็นไปสู่การค้นหาอย่างเป็นวิทยาศาสตร์" ประธานาธิบดีสหรัฐฯ และภริยากล่าวสดุดีถึงการเป็นครูที่ทรงบทบาทของวีเลอร์

"สำหรับผมเขาคือไททัน (ผู้ยิ่งใหญ่) คนสุดท้าย เป็นสุดยอดฮีโร่ของฟิสิกส์ที่อยู่มาถึงทุกวันนี้" คำกล่าวยกย่องเชิดชูวีเลอร์ของแมกซ์ เทกมาร์ก (Max Tegmark) จากสถาบันเทคโนโลยีแมสสาชูเสตต์ (Massachusetts Institute of Technology) หรือเอ็มไอที

ทั้งนี้ในชีวิตของการเป็นนักฟิสิกส์วีเลอร์ทำงานในสถาบันการศึกษาหลายแห่งแต่ใช้เวลามากที่สุดในมหาวิทยาลัยพรินซ์ตัน (Princeton University) ซึ่งเป็นสถาบันเดียวกับที่ไอน์สไตน์ทำงานเป็นแห่งสุดท้าย ด้านชีวิตส่วนตัววีเลอร์แต่งงานเมื่อปี 2478 และมีลูกสาว 1 คนและลูกชายอีก 2 คน และเมื่อปีที่ผ่านมาภรรยาของเขาได้เสียชีวิตไปก่อน.

วีเลอร์ (ขวา) ขณะไปเยือนญี่ปุ่นในการประชุมวิชาการ โดยมีศาสตราจารย์ชาวญี่ปุ่นให้การต้อนรับ
วีลเลอร์ (กลาง) ได้รับรางวัลจากคณะกรรมการพลังงานปรมาณูสหรัฐฯ ซึ่งประธานาธิบดี ลินดอน จอห์นสัน (Lyndon Johnson) ซึ่งยืนอยู่ด้านขวาเป็นผู้มอบ
 ระเบิดปรมาณูในยุคสงครามโลกที่วีเลอร์มีส่วนสำคัญในการพัฒนา
กำลังโหลดความคิดเห็น