ทีมอาจารย์และนักศึกษาราชมงคลล้านนาพัฒนาเครื่องสลัดน้ำผึ้งต้นแบบ ใช้พลังงาน 2 ระบบ ได้ทั้งแบตเตอรีและไฟบ้าน เคลื่อนย้ายสะดวก ทำงานรวดเร็ว ทำความสะอาดง่าย ได้น้ำผึ้งสะอาดดีไม่มีสิ่งเจือปน เตรียมจดสิทธิบัตรและถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เอกชนผลิตเชิงพาณิชย์
อาจารย์ทักษ์ หงษ์ทอง สาขาวิชาไฟฟ้า คณะวิศวกรรมศาสตร์ และทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีราชมงคลล้านนา วิทยาเขตเชียงราย ออกแบบและพัฒนา "เครื่องสลัดน้ำผึ้ง 2 ระบบ" สำเร็จ เป็นเครื่องสลัดน้ำผึ้งต้นแบบเพื่อรองรับอุตสาหกรรมเลี้ยงผึ้งไทย ทดแทนการใช้แรงงานคน แถมสะดวกและสะอาด รวดเร็วกว่าเครื่องสลัดน้ำผึ้งแบบดั้งเดิม
นายนธี การะหงษ์ นักศึกษาในทีมวิจัย เปิดเผยว่า ปกติการเครื่องสลัดน้ำผึ้งทั่วไปที่เกษตรกรใช้ จะใช้แรงงานคนเป็นหลักในการหมุนปั่นเพื่อสลัดน้ำผึ้งออกจากรัง โดยแต่ละครั้งสลัดน้ำผึ้งได้ครั้งละ 6 แผง และใช้เวลานานถึง 1 ชั่วโมงจึงจะแล้วเสร็จ บางกรณีที่หมุนแรงเกินไปก็อาจทำให้ตัวอ่อนผึ้งที่อยู่ในรังหลุดออกมาด้วย ส่วนตัวเครื่องมักทำจากเหล็กหรือสังกะสี ซึ่งขึ้นสนิมง่ายและอาจทำให้มีสิ่งเจือปนในน้ำผึ้งได้
"เครื่องสลัดน้ำผึ้งที่พัฒนาขึ้นใหม่นี้เราออกแบบให้ถังปั่นรองรับแผงรังผึ้งได้ทั้งหมด 8 แผง มากขึ้นจากเดิม 2 แผง ตัวเครื่องทำจากสแตนเลส ทำความสะอาดง่ายกว่า การทำงานของเครื่องอาศัยหลักของแรงเหวี่ยงแบบมีศูนย์กลาง น้ำผึ้งจะถูกสลัดออกจากแผงรังไปติดอยู่ที่บริเวณรอบถัง และไหลออกมาจากถังผ่านช่องเก็บน้ำผึ้ง ซึ่งใช้เวลาในการหมุนปั่นสลัดน้ำผึ้งได้ออกจนหมดทุกแผงเพียง 15 นาทีเท่านั้น โดยช่วง 1 นาทีแรก หมุนด้วยความเร็วสูง 700 รอบต่อนาที จากนั้นลดระดับให้ช้าลงเหลือเพียง 325 รอบต่อนาทีจนแล้วเสร็จ ซึ่งที่ต้องลดความเร็วให้หมุนช้าลงเพื่อรักษาตัวอ่อนผึ้งในรังไม่ให้หลุดออกมากับน้ำผึ้งด้วย" นายนธี อธิบายหลักการ
นักศึกษาในทีมวิจัยให้ข้อมูลต่อว่า เครื่องสลัดน้ำผึ้ง 2 ระบบ สามารถใช้พลังงานได้ทั้งจากแบตเตอรีและไฟบ้านขนาด 220 โวลต์ ซึ่งในตัวเครื่องมีแบตเตอรีแบบชาร์จไฟได้ใหม่อยู่ 2 ก้อน ใช้งานได้นานติดต่อกัน 6 ชั่วโมง สามารถเคลื่อนย้ายเครื่องสลัดน้ำผึ้งไปใช้งานในที่ต่างๆ ได้โดยสะดวก และยังใช้แบตเตอรีรถยนต์แทนได้ในกรณีที่แบตเตอรีหมด ซึ่งแบตเตอรีมีอายุการใช้งานราว 1 ปี ส่วนตัวเครื่องมีอายุการใช้งานนาน 5 ปี
ด้านอาจารย์ทักษ์ ยังบอกอีกว่า จะพัฒนาเครื่องสลัดน้ำผึ้งต่อไปให้รองรับแผงรังผึ้งได้มากกว่าเดิม ประสิทธิภาพการทำงานเพิ่มมากขึ้น และปรับปรุงแผงควบคุมวงจรของเครื่องให้กันน้ำได้
ทั้งนี้ อาจารย์ทักษ์และทีมนักศึกษาใช้เวลาราว 1 ปี ในการพัฒนาเครื่องสลัดน้ำผึ้ง 2 ระบบ ที่เป็นเครื่องต้นแบบนี้โดยได้รับทุนสนับสนุนการวิจัยจากสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ซึ่งขณะนี้ สวทช. กำลังดำเนินการจดสิทธิบัตรเครื่องสลัดน้ำผึ้งดังกล่าว และหลังจากนั้นจะถ่ายทอดเทคโนโลยีสู่เอกชนเพื่อผลิตเครื่องสลัดน้ำผึ้งในเชิงพาณิชย์ต่อไป