xs
xsm
sm
md
lg

นักวิจัย มช. ดันเลี้ยงผึ้งอินทรีย์แบบรัง 2 ชั้น ยกระดับน้ำผึ้งไทย

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


น้ำผึ้งที่อุดมไปด้วยประโยชน์นานัปการอาจมาพร้อมกับอันตรายจากสารเคมีที่แฝงอยู่ในน้ำผึ้งด้วยความรู้เท่าไม่ถึงการณ์หรือความไม่รับผิดชอบของเกษตรกรผู้เลี้ยง เป็นปัญหาทำให้น้ำผึ้งไม่ได้คุณภาพและไม่ปลอดภัยต่อผู้บริโภค นักวิจัย มช. จึงศึกษาการเลี้ยงผึ้งแบบไม่ใช้สารเคมีเพื่อให้ได้น้ำผึ้งอินทรีย์ เป็นทางออกให้กับเกษตรกรไทย และหวังดันน้ำผึ้งไทยให้ไปไกลในระดับสากล

ผศ.พิชัย คงพิทักษ์ ภาควิชากีฏวิทยา คณะเกษตรศาสตร์ ม.เชียงใหม่ และกรรมการฝ่ายวิชาการ สมาคมผู้เลี้ยงผึ้งภาคเหนือแห่งประเทศไทย ศึกษาวิจัยเกี่ยวกับผึ้งมานานกว่า 20 ปี ล่าสุดพัฒนากระบวนการเลี้ยงผึ้งแบบอินทรีย์ เพื่อให้เกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งได้ผลผลิตเป็นน้ำผึ้งที่มีคุณภาพดี ปลอดภัย ไร้สารเคมี สอดคล้องกับวิถีเกษตรอินทรีย์ และยกระดับน้ำผึ้งไทยให้มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับในสากล

"การเลี้ยงผึ้งเพื่อเก็บน้ำผึ้งโดยทั่วไปเกษตรกรจะเลี้ยงผึ้งในรังผึ้งที่เตรียมไว้สำหรับเลี้ยงผึ้งเพื่อการนี้โดยเฉพาะ วิธีเลี้ยงก็เพียงแค่นำรังผึ้งไปวางไว้ในที่ต่างๆ ที่มีพืชสำหรับให้ผึ้งเก็บน้ำหวานมาสะสมในรัง เช่น สวนลำไย แต่ปัญหามีอยู่ว่าเกษตรกรมักใช้สารเคมีฉีดพ่นต้นไม้เพื่อกำจัดศัตรูพืช, ฉีดสารเคมีในรังผึ้งเพื่อกำจัดไรศัตรูผึ้ง หรือใช้ยาปฏิชีวนะกับผึ้งเพื่อป้องกันผึ้งไม่ให้เป็นโรคที่เกิดจากไรศัตรูผึ้ง ซึ่งเหล่านี้ก่อให้เกิดสารเคมีตกค้างในน้ำผึ้งได้เช่นกัน" ผศ.พิชัย กล่าว

ผศ.พิชัย บอกว่าวิธีแก้ไขปัญหาดังกล่าวคือการจัดการการเลี้ยงผึ้งที่มีประสิทธิภาพ เลี้ยงแบบธรรมชาติ ไม่ใช้สารเคมี เพื่อผลิตน้ำผึ้งอินทรีย์ที่ไม่มีสารเคมีตกค้าง และได้น้ำผึ้งที่มีคุณภาพสูง เป็นที่ยอมรับของตลาดต่างประเทศ ซึ่งกระบวนการผลิตน้ำผึ้งอินทรีย์ที่ได้มาตรฐานต้องผ่านการตรวจสอบและได้รับการรับรองจากกรมปศุสัตว์ด้วย

"นักวิจัยจะต้องเผยแพร่ความรู้แก่เกษตรกร เกษตรต้องไม่ใช้สารเคมีกับรังผึ้งและตัวผึ้ง และต้องทำความเข้าใจว่าฤดูกาลไหนที่ต้องการเลี้ยงผึ้งเพื่อเก็บน้ำผึ้ง จะต้องไม่ฉีดพ่นสารเคมีให้ต้นพืชเด็ดขาด" นักวิจัยเผยและยกตัวอย่างว่า หากต้องการเลี้ยงผึ้งให้ได้น้ำผึ้งดอกลำไย สามารถเริ่มเลี้ยงได้ตั้งแต่ต้นปีจนกระทั่งเดือน มี.ค.-เม.ย. จึงเก็บน้ำผึ้ง โดยช่วงที่ลำไยออกดอกต้องไม่ฉีดสารเคมีใดๆ แก่ลำไยเลย

ปัญหาสำคัญอีกประการหนึ่งคือเกษตรกรมักเลี้ยงผึ้งในรังชั้นเดียว ทำให้ได้น้ำผึ้งน้อย คุณภาพต่ำ ผศ.พิชัย จึงศึกษาเปรียบเทียบระหว่างการเลี้ยงผึ้งในรังชั้นเดียวกับเลี้ยงในรัง 2 ชั้น ที่สวนลำไยในพื้นที่ จ.ลำพูน พบว่า ผึ้งที่เลี้ยงในรัง 2 ชั้น ซึ่งมีประชากรผึ้งเท่ากันกับผึ้งในรังชั้นเดียว 2 รังรวมกัน จะให้น้ำผึ้งมากกว่าถึง 30% และน้ำผึ้งที่ได้มีความหนืดมากกว่าและมีความชื้นหรือมีน้ำเป็นส่วนประกอบต่ำกว่าราว 1% ทั้งนี้เพราะเมื่อแยกเป็นรังชั้นเดียว 2 รัง ทำให้แต่ละรังมีประชากรผึ้งน้อย จึงทำให้บ่มน้ำผึ้งได้ไม่ดีพอในระยะเวลาเท่ากัน อีกทั้งน้ำผึ้งจากรัง 2 ชั้น ยังขายได้ราคาสูงกว่าอีกด้วย

นอกจากนี้ ผศ.พิชัย บอกอีกว่า สวนลำไยที่มีการเลี้ยงผึ้งร่วมด้วย จะช่วยให้ผลผลิตลำไยสูงกว่าและรสชาติดีกว่าอีกด้วย เพราะผึ้งจะมีส่วนสำคัญในการช่วยผสมเกสรของดอกลำไย จากการศึกษาพบว่าเมื่อเลี้ยงผึ้งในสวนลำไย จะได้ผลผลิตลำไยราว 115 กิโลกรัมต่อต้น แต่หากไม่มีผึ้งจะได้ผลผลิตเพียง 15 กิโลกรัมต่อต้นเท่านั้น

ทั้งนี้ ผศ.พิชัย แนะว่าเกษตรกรผู้เลี้ยงผึ้งควรเปลี่ยนคอนเลี้ยงผึ้งทุกๆ 1 ปี เนื่องจากเมื่อเลี้ยงผึ้งในคอนเดิมเป็นเวลานานเกินไป รวงผึ้งจะมีสีดำและมีคราบผึ้งสะสมอยู่ในหลอดรัง ทำให้หลอดรังแคบลง ผึ้งรุ่นใหม่จะมีขนาดตัวเล็กลงตามขนาดหลอดรังด้วย ส่วนน้ำผึ้งก็จะมีสีดำคล้ำและด้อยคุณภาพ ส่วนน้ำผึ้งคุณภาพดีที่ไม่ตกตะกอน ผศ.พิชัย บอกว่ามีอยู่ 3 ชนิด ได้แก่ น้ำผึ้งดอกลำไย น้ำผึ้งขี้ไก่ย่าน และน้ำผึ้งสาบเสือ

อย่างไรก็ดี ขณะนี้มีเกษตรกรเลี้ยงผึ้งในประเทศไทยประมาณ 500 ราย ทว่ามีอยู่ราว 5% เท่านั้นที่เลี้ยงผึ้งแบบอินทรีย์ ซึ่งนักวิจัยจะดำเนินการเผยแพร่กระบวนการเลี้ยงผึ้งเพื่อให้ได้น้ำผึ้งอินทรีย์ผลผลิตสูงแก่เกษตรกรต่อไป



กำลังโหลดความคิดเห็น