นวัตกรรมในเรื่องของกระดาษเมืองไทยถือได้ว่ามีการพัฒนาไม่หยุดนิ่ง ตามความต้องการของตลาด รวมถึงตามกระแสสังคมในการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมที่หลายฝ่ายลดการใช้ไม้ พลาสติกในขั้นตอนการผลิต เน้นการหาทางเลือกใหม่ให้กับธุรกิจ ซึ่งหนึ่งในนั้นคือนวัตกรรมของ “กระดาษรังผึ้ง” ที่อาจยังไม่ค่อยคุ้นหูคนไทยมากนัก แต่สำหรับธุรกิจส่งออกคงจะคุ้นเคยเป็นอย่างดี เพราะเป็นกระดาษที่มีส่วนสำคัญต่อการปกป้องสินค้าให้อยู่ในสภาพสมบูรณ์ 100% จนถึงมือผู้รับ
แต่สำหรับผู้ประกอบการหัวใส ที่ได้ทายาทธุรกิจเจนเนอเรชั่นที่ 2 มาต่อยอดธุรกิจของผู้เป็นพ่อในวงการกระดาษลูกฟูก ที่ปัจจุบันมาถึงจุดอิ่มตัว เผชิญกับปัญหาทั้งในเรื่องของคู่แข่ง และราคาที่ห้ำหั่นกัน จนทำให้ผู้ประกอบการขนาดเอสเอ็มอีดำเนินธุรกิจนี้อย่างยากลำบาก
นายอรุณ เหล่าการกิจกุล กรรมการผู้จัดการ บริษัท โอ แอนด์ เอช ฮันนี่คอมป์เปเปอร์ จำกัด ผู้ผลิตกระดาษรังผึ้ง เล่าว่า ในฐานะที่ตนเองอยู่ในแวดวงของกระดาษลูกฟูกมายาวนาน โดยได้ช่วยดูแลกิจการของผู้เป็นพ่อมาตั้งแต่สมัยเรียน จนกระทั่งศึกษาจบ ก็มาช่วยดูแลกิจการนี้อย่างเต็มตัว ก็ได้รับรู้ปัญหาว่าขณะนี้ธุรกิจในด้าน กระดาษลูกฟูก ที่นำมาผลิตเป็นกล่องกระดาษ หรือแพคเกจให้กับสินค้าต่างๆ ได้เดินทางมาถึงจุดอิ่มตัว ดังนั้นในฐานะที่เป็นคนรุ่นใหม่ไฟแรงที่เข้ามาสานต่อธุรกิจนี้ จึงได้มองหานวัตกรรมใหม่ๆ ของวงการกระดาษ อาศัยการศึกษาดูงานในต่างประเทศ หวังสร้างความแตกต่างให้กับตลาด พร้อมหลีกหนีคู่แข่ง สุดท้ายจึงมาลงตัวที่กระดาษรังผึ้ง จากประเทศจีน เมื่อน้องสาวคนเล็ก (ชุลีพร เหล่าการกิจกุล) สามารถติดต่อธุรกิจในภาษาจีนได้ และจากคุณสมบัติของกระดาษรังผึ้งที่ตัวแผ่นสามารถรองรับน้ำหนักได้สูงถึง 800 กก./ตรม.
ดังนั้นจึงนำร่องทดลองทำตลาดกับตลาดรังผึ้งในประเทศไทย ซึ่งในช่วงแรกเน้นการนำเข้ากระดาษรังผึ้งเป็นแผ่นสำเร็จรูป แล้วนำมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ตามที่ตลาดต้องการ เช่น ธุรกิจส่งออก เน้นแปรรูปเป็นพาเลท แทนการใช้ไม้ที่บางครั้งผู้ส่งออกประสบปัญหาในเรื่องของแมลงที่อาจแฝงอยู่ในไม้พาเลท หรือแม้กระทั่งการนำไปทำเป็นส่วนหนึ่งของการกันกระแทกให้กับผลิตภัณฑ์ส่งออก
“การที่เราแปรรูปกระดาษรังผึ้ง เป็นแพคเกจหนึ่งที่มีส่วนสำคัญในธุรกิจส่งออก ก็ได้รับการตอบรับดีจากผู้ส่งออก โดยเฉพาะในเรื่องของการลดต้นทุนในเรื่องค่าขนส่งไปได้ประมาณ 30% จากเดิมที่ใช้ไม้เป็นหลัก รวมถึงยังตรงกับกระแสสังคมโลกที่ต้องการลดภาวะโลกร้อน เพราะกระดาษรังผึ้งสามารถนำมารีไซเคิลแล้วนำกลับมาใช้ใหม่ได้ ซึ่งได้รับการตอบรับจากลูกค้าเป็นอย่างดี ทำให้ทางบริษัทฯ ตัดสินใจนำเข้าเครื่องเพื่อนำมาผลิตกระดาษรังผึ้งแทน เพื่อลดต้นทุนการผลิต เมื่อเดือนมิถุนายน 2551 ที่ผ่านมา”
จากคุณสมบัติของกระดาษรังผึ้งที่สามารถรับน้ำหนักได้มาก ดังนั้นจึงไม่ใช่เรื่องยาก หากจะนำมาต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่คนทั่วไปรู้จักดี อย่าง ชั้นวางหนังสือ โลงศพสัตว์เลี้ยง โลงศพ หรือแม้กระทั่งการนำกระดาษไปสร้างบูธแสดงงานสินค้าต่างๆ ที่ส่วนใหญ่จะใช้แสดงงานเพียงไม่กี่วัน จากเดิมที่ใช้ไม้อัด หรือเหล็ก ซึ่งสิ่งเหล่านั้นมีต้นทุนที่สูงกว่าการใช้กระดาษรังผึ้ง
“การที่เราพยามยามเพิ่มค่าให้กับกระดาษรังผึ้งด้วยงานดีไซน์ ถือเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับคนไทย ช่วยลดต้นทุนการผลิตในเรื่องธุรกิจส่งออก ผู้ประกอบการที่ต้องสร้างบูธแสดงสินค้าอยู่บ่อยครั้ง ในขณะที่ช่วยลดค่าใช้จ่ายให้กับในบางเรื่องให้กับคนไทยได้ เช่น โลงศพจากระดาษรังผึ้งที่มีน้ำหนักเบา และราคาถูก ที่พร้อมเป็นอีกทางเลือกหนึ่งให้กับผู้มีรายได้น้อย ในราคาเริ่มต้นเพียง 700 บาท ซึ่งล่าสุดทางบริษัทได้เจาะตลาดโลงศพจากกระดาษรังผึ้ง ที่ 3 จังหวัดชายแดนใต้ที่ขณะนี้ต้องนำเข้าไม้เพื่อนำมาทำเป็นโลงศพจำนวนมาก"
อย่างไรก็ตามธุรกิจของกระดาษรังผึ้งยังมีโอกาสเติบโตได้อีกมาก เนื่องจากสามารถแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ต่างๆ ได้อย่างง่ายดาย ขึ้นอยู่กับไอเดียของผู้ประกอบการ ที่จะรังสรรค์ออกมาให้เป็นสินค้าประเภทใด ดังนั้นอนาคตธุรกิจกระดาษของไทยคงไม่มีวันถึงทางตัน ตราบใดที่ผู้ประกอบการไม่หยุดคิด
***สนใจติดต่อ 0-3829-9390-2 หรือที่ www.oandhhoneycombpaper.com***