สเปซดอทคอม/เอพี - หลังจากที่ทหารเรือสหรัฐฯ ได้ปฏิบัติการสกัดดาวเทียมหมดสภาพ ณ กลางมหาสมุทรแปซิฟิกไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว แต่ความกังวลใหม่ก็ได้เริ่มขึ้นว่าเศษซากต่างๆ ของดาวเทียมดวงที่ถูกทำลายจะตกลงตรงไหนอย่างไร และจะทำร้ายมนุษย์หรือไม่
ปกติแล้วชิ้นส่วนของวัตถุที่มนุษย์สร้างขึ้นและส่งถึงอวกาศจนหมดอายุการใช้งาน จนกลายเป็นขยะอวกาศ ส่วนใหญ่ก็จะล่องลอยอยู่ตามแนวโคจร และตกลงมาสู่โลกเป็นระยะๆ ดั่งเช่นดาวเทียมหมดสภาพที่ทางกลาโหมสหรัฐอเมริกา จัดการสกัดไปหมาดๆ
ดาวเทียมดวงดังกล่าวเป็นดาวเทียมจารกรรมขนาดเท่ารถบัส น้ำหนัก 450 กิโลกรัม ชื่อ ยูเอสเอ-193 (USA-193) หรือที่เรียกกันว่า เอ็นโรล-21 (NROL-21) เพราะเป็นของสำนักงานลาดตระเวนแห่งสหรัฐฯ หรือเอ็นอาร์โอ (National Reconnaissance Office : NRO) ส่งขึ้สู่วงโคจรตั้งแต่วันที่ 14 ธ.ค.49 แต่เมื่อถึงวงโคจรได้ไม่นาน ก็ขาดการติดต่อกับภาคพื้นดิน
การยิงทำลายดาวเทียมเกิดขึ้นเมื่อเวลา 22.26 น. ของวันที่ 20 ก.พ.51 ตามเวลาสหรัฐฯ หรือตรงกับเวลา 10.26 น.ของวันที่ 21 ก.พ.ตามเวลาประเทศไทย โดยเรือลาดตระเวนยูเอสเอส เลคอีรี (USS Lake Erie) จับพิกัดดาวเทียมที่อยู่ในระดับ 247 กิโลเมตรเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก และยิงด้วยขีปนาวุธเอสเอ็ม 3 (Standard Missile-3 : SM-3) ที่ปรับแต่งใหม่เพื่อภารกิจนี้ ด้วยความเร็วประมาณ 11,265 กิโลเมตรต่อชั่วโมงเพื่อทำลายดาวเทียมเหนือมหาสมุทรแปซิฟิก
ทั้งนี้เศษดาวเทียมที่เกิดขึ้นจากการยิงสกัดครั้งนี้ตกเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกในทันที เพราะพิกัดการระเบิดอยู่ในละติจูดต่ำ โดยเศษซากดาวเทียมส่วนใหญ่จะถูกเผาระหว่างผ่านชั้นบรรยากาศโลกภายใน 2 วัน แต่กว่าที่เศษบางส่วนที่โดนกระแทกลอยจะทยอยตกสู่โลกทั้งหมดนั้น ต้องใช้เวลาถึง 40 วัน
อย่างไรก็ดีต่อความกังวลที่ว่าเศษดาวเทียมที่ถูกยิงสกัดจะกระจัดกระจายขนาดไหน และจะส่งผลอย่างไรต่อมนุษย์บนโลก
ทั้งนี้ขยะอวกาศอื่นๆ ก่อนหน้านี้ก็ยังไม่เคยมีผู้ใดรายงานว่าตกลงใส่ศรีษะมนุษย์เดินดินรายใด ดังนั้น การยิงทำลายดาวเทียมครั้งนี้ก็เช่นกัน เชื่อว่าไม่น่าจะมีสเก็ดหรือเศษเสี้ยวใดๆ กระเด็นมาทำร้ายผู้คนบนพื้นโลกได้
จากการสกัดยิงดาวเทียมในครั้งนี้ จะทำให้เศษดาวเทียมที่ถูกทำลายอาจมีน้ำหนักรวมกันมากกว่า 2 ตันกระจัดกระจายตกสู่พื้นโลก ตามคำคาดการณ์ของนักดาราศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาร์วาร์ดผู้ติดตามเส้นทางของดาวเทียมและเศษขยะจากอวกาศ
อีกทั้งจากการติดตามของศูนย์การศึกษาเศษวัตถุที่โคจรและตกสู่โลก (Center for Orbital and Reentry Debris Studies) พบว่ามีเศษขยะขนาดใหญ่จากดาวเทียมและวัตถุอื่นๆ ที่มนุษย์สร้างขึ้นตกสู่โลกประมาณ 50-200 ชิ้นต่อปี
รายงานจากศูนย์ดังกล่าวระบุว่า ในรอบ 40 ปีที่ผ่านมา มีขยะอวกาศที่มนุษย์สร้างขึ้นตกเข้ามาถึงชั้นบรรยากาศโลกประมาณ 5.5 ล้านกิโลกรัม
แต่ว่ามีเพียงรายงานเดียวที่ระบุชัดว่าซากวัตถุจากอวกาศตกใส่หัวไหล่ของลอตตี วิลเลียมส์ (Lottie Williams) ในมลรัฐโอกลาโฮมา เมื่อ 11 ปีก่อน (2540) ซึ่งเป็นชิ้นส่วนเล็กๆ ของจรวดเดลตา แต่ก็ไม่ได้ทำให้เธอบาดเจ็บแต่อย่างใด
เหตุที่ขยะอวกาศเมื่อตกสู่ชั้นบรรยกาศโลกแล้วไม่หล่นโดนมนุษย์ นั่นก็ด้วยเหตุผลง่ายๆ คือ พื้นที่ 70% ของโลกเป็น "พื้นน้ำ"
อีกทั้งบนพื้นดินนั้นมีมนุษย์อาศัยอยู่เฉลี่ย 50 คนต่อ 1 ตารางกิโลเมตร และแน่นอนว่าเราอาศัยอยู่อย่างกระจุกตัว ไม่ได้ใช้พื้นที่เต็มๆ ตามการคำณวนแต่อย่างใด ดังนั้นจึงมีพื้นที่บนดินอีกเกือบ 99% ที่มนุษย์ไม่ได้อาศัยอยู่ ณ เวลาที่วัตถุอวกาศตกลงมา
ทั้งหมดนี้เป็นการคำณวนหยาบๆ ตามหลักสถิติโดยอเล็ก เดอ เชอร์บินิน (Alex de Sherbinin) นักวิจัยแห่งมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย (Columbia University)
ที่สำคัญไม่ว่าบนพื้นที่ใดๆ บนโลกต่างก็มีอัตราเสี่ยงที่วัตถุอวกาศจะตกลงมาเท่าๆ กัน หาได้มีที่ใดเสี่ยงมากกว่าไม่ เพราะการที่ดาวเทียมหรือวัตถุอวกาศจะหล่นลงมานั้น เพราะวงโคจรที่ผิดปกติ
ดังนั้นทางศูนย์ศึกษาเศษซากจากอวกาศจึงประเมินโอกาสที่ขยะอวกาศจะตกใส่ผู้คนบนโลกมนุษย์นั้นมีความเป็นไปได้ 1 ในล้านล้าน ซึ่งแน่นอนว่าน้อยกว่าเสี่ยงโดนฟ้าผ่าหลายเท่านัก
โจนาธาน แมกโดเวล (Jonathan McDowell) นักดาราศาสตร์ฟิสิกส์ แห่งศูนย์ดาราศาสตร์ฟิสิกส์สมิธโซเนียน (Harvard-Smithsonian Center for Astrophysics) ผู้ก่อตั้งจดหมายข่าวรายงานอวกาศ (Jonathan's Space Report) ซึ่งติดตามการปล่อยและวงโคจรของยานอวกาศและดาวเทียมต่างๆ ทั่วโลก บอกว่าโอกาสที่สูงสุดคือ 1 ใน 10,000 ที่ดาวเทียมหมดสภาพจะตกใส่มนุษย์
ทั้งนี้เขาวิเคราะห์โดยใช้ข้อมูลความหนาแน่นของประชากรจากมหาวิทยาลัยโคลัมเบีย แหล่งเดียวกันกับที่ศูนย์ศึกษาเศษอวกาศใช้ แต่ช่วงแห่งความน่าจะเป็นก็กว้างถึง 1 ในล้านเลยทีเดียว
ส่วนเหตุผลหลักในการกำจัดดาวเทียมดวงดังกล่าวไม่ให้ตกสู่พื้นโลกนั้น ทางกลาโหมสหรัฐฯ บอกว่า เพราะถังเชื้อเพลิงที่บรรจุไปด้วยสารไฮดารซีนซึ่งเป็นพิษจนอาจถึงแก่ชีวิต หากตกลงที่ใดจะเกิดเป็นก๊าซพิษเกินบริเวณประมาณ 2 สนามปุตบอล ตามคำแนะนำของหน่วยงานควบคุมโรค หรือซีดีซี (Disease Control and Prevention)
เหตุผลเหล่านี้ทำให้นักดาราศาสตร์เห็นว่าเป็นเรื่องขบขัน เพราะการยิงทำลายดาวเทียมสักดวงไม่น่าจะใช้เหตุผลทางสาธารณสุขมาเป็นพื้นฐาน และเขาก็ไม่คิดว่าการยิงทำลายดาวเทียมจะทำให้ความเป็นพิษของเชื้อเพลิงมีอันตรายลดลง
"ถ้าพวกเขายิงตรงเป้า ก็จะมีโอกาสแค่ 30% ที่จะทำลายถังบรรจุไฮดราซีนได้" เจฟฟรีย์ ฟอร์เดน (Geoffrey Forden) นักฟิสิกส์แห่งเอ็มไอที (MIT) ผู้เชี่ยวชาญทางด้านอวกาศให้ความเห็น
ทั้งนี้ หากถังดังกล่าวสามารถหลุดรอดเข้าสู่ชั้นบรรยากาศโลกได้ ฟอร์เดนระบุว่าจะมีโอกาสทำร้ายผู้คนได้ 3.5% ซึ่งนับว่ามากพอดู แต่เขาก็เชื่อว่าน่าจะเป็นเหตุผลทางการเมืองมากกว่าในการสกัดดาวเทียมครั้งนี้
ส่วนทางองค์การบริหารการบินอวกาศสหรัฐฯ (นาซา) ถูกรัฐบาลห้ามไม่ให้ออกความเห็นเกี่ยวกับดาวเทียมดวงนี้
จากการสังเกตเบื้องต้นในการยิงขีปนาวุธเจ้าที่หน้ากลาโหมแจ้งว่าพุ่งตรงเข้ากับถังไฮดราซีน และเชื่อว่าถังดังกล่าวถูกทำลายตามความความตั้งใจที่อ้างไว้เรียบร้อยแล้ว