xs
xsm
sm
md
lg

บีโอไอ-สวทช.-ทีเซลส์รุกธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ ตั้งเป้าเพิ่มอีก 60 บริษัทใน 3 ปี

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


เทคโนโลยีชีภาพ เทรนด์ใหม่ที่มาแรงในวงการวิทยาศาสตร์ แถมขยายขอบเขตทำเงินได้ในภาคอุตสาหกรรม 3 พันธมิตร บีโอไอ สวทช. และทีเซลส์ จับมือกันดันเอกชนให้หันมาลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพให้มากขึ้น เพื่อเป็นการพัฒนาประเทศและต่อยอดงานวิจัยในห้องแล็บลงภาคอุตสาหกรรม เน้นปรับปรุงพันธุ์พืช-สัตว์ ผลิตชุดตรวจโรค-วัคซีน เป็นต้น สวทช.ตั้งเป้าผลิต 60 บริษัทใหม่ในอีก 3 ปีหน้า

สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน หรือบีโอไอ (BOI) กระทรวงอุตสาหกรรม ร่วมกับสำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และศูนย์ความเป็นเลิศด้านชีววิทยาศาสตร์ของประเทศไทย (ทีเซลส์) จัดการประชุมเรื่อง “การส่งเสริมการลงทุนธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพ” เมื่อวันที่ 1 ก.พ.51 ที่โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น เพื่อให้ข้อมูลและสนับสนุนภาคเอกชนให้มาลงทุนในธุรกิจด้านเทคโนโลยีชีวภาพมากขึ้น โดยเน้นสิ่งที่เป็นจุดแข็งของประเทศทั้งในด้านการเกษตรและการแพทย์

นายสาธิต ชาญเชาวน์กุล เลขาธิการบีโอไอ กล่าวว่านโยบายพัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพของประเทศไทย ปี 2547-2552 เน้นการใช้เทคโนโลยีชีวภาพช่วยส่งเสริมทั้งในด้านการเกษตร สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และด้านพลังงาน ซึ่งบีโอไอได้ประกาศสนับสนุนการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพไปเมื่อเดือน เม.ย. ปีที่แล้ว

“ช่วง 3 ปีที่ผ่านมายังเน้นที่การใช้แรงงานและวัตถุดิบ แต่ต่อไปต้องใช้ปัญญาและเทคโนโลยีชีวภาพมากขึ้น ทำอย่างไรจึงสร้างคุณค่าของผลิตภัณฑ์ให้มากขึ้นและขยายสู่ภาคอุตสาหกรรมที่ยังไม่มีในประเทศได้ ทั้งอุตสาหกรรมการเกษตร การแพทย์ และต้องพัฒนาบุคลากรควบคู่ไปกับพัฒนาเทคโนโลยีที่สูงขึ้นไป” นายสาธิตกล่าว

ด้าน รศ.ดร.ศักรินทร์ ภูมิรัตน ผอ.สวทช. เผยว่า โครงสร้างพื้นฐานของประเทศไทยค่อนข้างอ่อน ทว่าประเทศมีทรัพยากรมากมาย ถ้าจะนำมาต่อยอดให้มีมูลค่ามากขึ้นก็ต้องใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเป็นเครื่องมือ ทั้งนี้ต้องอาศัยความร่วมมือกับภาครัฐและเอกชนมากขึ้น โดยนักวิจัยมีหน้าที่พัฒนาเทคโนโลยี ส่วนเอกชนก็นำไปทำให้เกิดเป็นอุตสาหกรรมต่อไป

“เดิมเราตั้งเป้าไว้ว่าจะทำให้มีบริษัทเอกชนที่เข้ามาลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพเกิดขึ้น 100 บริษัท ใน 6 ปี ซึ่งปี 47–50 เกิดขึ้นแล้ว 40 บริษัท และภายในอีก 3 ปีข้างหน้าจะต้องให้ได้อีก 60 บริษัท” รศ.ดร.ศักรินทร์ เผย

ผอ.สวทช. กล่าวต่อว่า จะเน้นส่งเสริมและพัฒนาเทคโนโลยีเกี่ยวกับการการเกษตรและอาหาร เช่น ปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ พัฒนาเมล็ดพันธุ์พืช การแปรรูป ผลิตภัณฑ์ชีวภาพแก้ปัญหาโรคพืช ปัญหาดินเค็ม ชุดตรวจโรคหรือวิธีการตรวจสุขภาพสัตว์ ส่วนเทคโนโลยีด้านการแพทย์จะเน้นไปที่ชุดตรวจโรคต่างๆ โดยเฉพาะที่ไช้ระบบไบโอเซ็นเซอร์ เพื่อให้สอดคล้องกับโรคอุบัติใหม่ที่เกิดขึ้น และโรคอื่นๆ

“ตัวอย่างผลงานที่ประสบความสำเร็จ ได้แก่ เทคโนโลยีการเพาะเลี้ยง คัดเลือกพันธุ์ และชุดตรวจโรคในกุ้งกุลาดำ ซึ่งตอนนี้เราสามารถเพาะเลี้ยงกุ้งกุลาดำได้ผลดีจากแต่ก่อนมาก และอาจเป็นที่เดียวในโลกที่เพาะเลี้ยงได้ และเรายังสามารถพัฒนาตรงจุดนี้ต่อไปให้เป็นหนึ่งในโลกได้อีกด้วย ส่วนชุดตรวจไข้หวัดนกระบบไบโอเซ็นเซอร์ก็ช่วยให้การรวดเร็วและแม่นยำขึ้นกว่าเก่า” รศ.ดร.ศักรินทร์ กล่าว

รศ.ดร.ศักรินทร์ เสริมว่า ยังมีภาคเอกชนส่วนใหญ่ยังไม่รู้ว่าเทคโนโลยีชีวภาพก็สามารถทำให้เกิดธุรกิจที่ดีได้ จึงจำเป็นต้องให้ข้อมูลและยกผลสำเร็จที่ผ่านมาให้เห็นเป็นตัวอย่าง เพื่อกระตุ้นให้เกิดการลงทุนมากขึ้นในอนาคต

ส่วน นพ.ธงชัย ทวิชาชาติ ผอ.ทีเซลส์ กล่าวว่า ทีเซลส์มีหน้าที่ให้ทุนสนับสนุนและผลักดันงานวิจัยไปสู่ระดับอุตสาหกรรม และจะเลือกเทคโนโลยีที่ประเทศเรามีศักยภาพอยู่แล้ว เพื่อเลี่ยงการนำเข้าเทคโนโลยีของต่างชาติ โดยเน้นที่ด้านสุขภาพและการแพทย์เป็นหลัก

ผอ.ทีเซลส์ ยกตัวอย่าง วัคซีนไข้เลือดออกของ ม.มหิดล ที่กำลังผลักดันให้เข้าสู่ระดับอุตสาหกรรม งานวิจัยและการรักษาด้วยสเต็มเซลล์ ที่แม้ตอนนี้มีการนำมารักษาโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาวและโลหิตจาง แต่ในอนาคตจะมีบทบาทมากขึ้น และขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการกำหนดกฎระเบียบให้ชัดเจนโดยสำนักงานคณะกรรมการอาหารและยา (อย.) และ กรมวิทยาศาสตร์การแพทย์ นอกจากนี้ยังส่งเสริมการตรวจสุขภาพและการตรวจวินิจฉัยโรคระดับยีน เป็นต้น

สำหรับกิจการเทคโนโลยีชีวภาพที่เข้าข่ายได้รับการส่งเสริมพิเศษ ศ.นพ.สิริฤกษ์ ทรงศิวิไล รักษาการผู้ช่วย ผอ.สวทช. กล่าวว่า จะต้องเป็นกิจการที่มีการวิจัยและพัฒนาผลิตภัณฑ์โดยใช้เทคโนโลยีชีวภาพชั้นสูง และอยู่ใน 4 สาขา ได้แก่ 1. การผลิตเมล็ดพันธุ์หรือการปรับปรุงพันธุ์พืชและสัตว์ เช่น เมล็ดภัณฑ์ถั่วเหลืองต้านทานโรคราสนิม 2. การผลิตสารเวชภัณฑ์ เช่น วัคซีนต่างๆ สเต็มเซลล์

3. ชุดตรวจวินิจฉัยทางการแพทย์ การเกษตร อาหาร และสิ่งแวดล้อม เช่น ชุดตรวจโรคสำเร็จรูป, สารตั้งต้นในการตรวจวัด และ 4. การใช้เซลล์จุลินทรีย์ เซลล์พืช และเซลล์สัตว์ในผลิตสารชีวโมเลกุลและสารออกฤทธิ์ทางชีวภาพ เช่น การผลิตเชื้อแบคทีเรียเพื่อควบคุมโรคพืช

ส่วน นางหิรัญญา สุจินัย ที่ปรึกษาด้านการลงทุนของบีโอไอ ชี้แจงขั้นตอนการขอรับการส่งเสริมการลงทุนในธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพว่า ภาคเอกชนทีสนใจสามารถยื่น “คำขอรับการลงทุน” และ “แบบประกาศคำขอรับการส่งเสริม ประเภท 7.30 กิจการเทคโนโลยีชีวภาพ” ได้ที่สำนักการบริหารการลงทุน 4 สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน

ทั้งนี้ ธุรกิจเทคโนโลยีชีวภาพที่ขอรับการส่งเสริมการลงทุน จะต้องใช้เทคโนโลยีชีวภาพที่ทันสมัยตามความเห็นชอบจาก สวทช. หรือ ทีเซลส์ ส่วนรายละเอียดต่างๆ สามารถติดต่อเพื่อขอรับทราบเพิ่มเติมได้ที่ สำนักงานคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน




กำลังโหลดความคิดเห็น