xs
xsm
sm
md
lg

Redwood : ต้นไม้ยักษ์ (จบ)

เผยแพร่:   โดย: สุทัศน์ ยกส้าน


การสำรวจป่า redwood ทำให้เรารู้ว่า ณ วันนี้ต้น redwood ที่สูงกว่า 110 เมตร มี 15 ต้น และต้นที่สูงกว่า 105 เมตร มี 47 ต้น ต้นที่มีปริมาตรมากที่สุด คือ ต้น Del Norte Titan ที่มีปริมาตร 1,045 ลูกบาศก์เมตร เพราะสูง 93.6 เมตร และลำต้นมีเส้นผ่าศูนย์กลางยาว 7.2 เมตร

ส่วนต้นสูงที่สุด ชื่อ Hyperion นั้นสูงถึง 116 เมตร สำหรับขั้นตอนการเติบโต เรารู้ว่าต้นเริ่มมีเมล็ดหลังจากที่มีอายุได้ 10-15 ปี 80% ของเมล็ดจะถูกสัตว์กิน ถึงแม้เมล็ดจะมีปีกสำหรับร่อน แต่ก็ลอยไปได้ไม่ไกล คือ ไม่เกิน 60-120 เมตร ตามปกติต้นอ่อนเติบโตเร็วและจะสลัดกิ่งที่อยู่ล่างทิ้งไป จนกิ่งที่เหลือจะอยู่ที่ระดับสูง 30 เมตร เหนือพื้นดินและถึงต้นจะสูงขึ้นๆ ตลอดเวลา แต่ขนาดของต้นก็แทบไม่เปลี่ยนเลย

ปริศนาหนึ่งที่ยังไม่มีคำตอบชัดเจน คือ เหตุใดต้นไม้บางชนิดจึงสูงได้สูงดี และเหตุใดต้นไม้หลายชนิดจึงไม่สูง Brian Enquist นักนิเวศวิทยาแห่งมหาวิทยาลัย Arizona ในสหรัฐอเมริกาเป็นบุคคลหนึ่งที่สนใจเรื่องนี้ และเขาได้ให้เหตุผลว่าพันธุกรรม คือ สาเหตุสำคัญ แต่สิ่งแวดล้อมก็มีบทบาทไม่น้อยเช่นกัน เพราะถ้าเอาต้น redwood มาปลูกในเขตมรสุม ต้น redwood ก็จะไม่เป็นต้นไม้ยักษ์ สำหรับอัตราการเจริญเติบโตก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่นักชีววิทยาสนใจ เช่น นักพฤกษศาสตร์ได้พบว่ากรณีต้น Eucalyptus regnans ในออสเตรเลียนั้น ต้นอ่อนจะชะลูดสูง 2 เมตร/ปี และเมื่ออายุ 90 ปี อัตราการเติบโตจะลดเหลือเพียง 50 เซนติเมตร/ปี แต่เมื่ออายุ 150 ปี มันจะหยุดชะลูดอย่างสิ้นเชิง

ในการตอบปริศนาว่า เหตุใดต้นไม้จึงหยุดเติบโต Karl Niklas แห่งมหาวิทยาลัย Cornell ได้พบว่า เพราะความรวดเร็วของการเจริญบอกความอุดมสมบูรณ์ของดิน และอากาศในป่า ดังนั้น เมื่อต้นไม้สูงขึ้นๆ ท่อลำเลียงน้ำ และสารอาหารในต้นไม้จะทำงานอย่างด้อยประสิทธิภาพลงๆ เช่น ใบจะมีขนาดเล็กลงๆ และนั่นก็หมายความว่า ขณะต้นไม้มีอายุน้อย

การสังเคราะห์อาหารด้วยแสงจะมีประสิทธิภาพสูงกว่าต้นที่มีอายุมาก เพราะมันเป็นเรื่องยากที่น้ำจากโคนต้นจะไหลขึ้นตามท่อลำเลียง (Xylem) ถึงระดับสูง 100 เมตร ดังนั้น เมื่อต้น redwood ต้องการน้ำมาเลี้ยงต้นวันละหลายร้อยกิโลกรัม George Koch แห่งมหาวิทยาลัย Northern Arizona State จึงได้รายงานในวารสาร Nature ฉบับที่ 428 หน้า 85 ปีนี้ว่าต้น redwood จะไม่มีวันสูงเกิน 130 เมตร และนั่นก็ตรงกับสถิติต้นไม้ที่สูงที่สุด (Douglas fir) ที่สูง 126 เมตร

เมื่อเดือนเมษายนที่ผ่านมานี้ Richard Preston ได้เรียบเรียงหนังสือหนึ่งชื่อ The Wild Trees : A Story of Passion and Daring ซึ่งจัดพิมพ์โดย Random House ราคา 25.95 ดอลลาร์ หนังสือนี้ได้กล่าวถึงการอนุรักษ์ป่า redwood โดยไม่ใช้ศัพท์เทคนิคมาก และใช้คำอุปมาเปรียบเทียบ ต้น redwood ในหลายลักษณะ เช่น เสมือนวาฬของอาณาจักรสัตว์ หรือเป็นสวน Eden ในแนวดิ่งที่มีสิ่งมีชีวิตมากถึง 156 ชนิด

ดังนั้น นักชีววิทยาจึงมอง redwood เสมือนฝูงปะการังอากาศ และเวลาถูกไฟป่าเผา โคนต้น redwood จะกลวงจนมีสภาพคล้ายถ้ำ คำบรรยายหนังสือเล่มนี้จึงทำให้เรารู้ว่า ผู้เขียนประสบความสำเร็จในการนำชีวิตความลึกลับ และความสง่างามของต้นไม้ยักษ์มาสู่ผู้อ่านได้อย่างน่าประทับใจ เพื่อให้เข้าใจชีวิตของพืชไดโนเสาร์นี้

ในวารสาร Proceedings of the National Academy of Sciences, DOI : 10.1073/ pnas. 07034 76104 ที่เผยแพร่เมื่อเร็วๆ นี้ Nuria Marba แห่งมหาวิทยาลัย Balearic Islands ที่เมือง Palma ใน Majorca ของสเปน ได้รายงานการศึกษาธรรมชาติของต้นไม้ที่ครอบคลุมตั้งแต่พืชที่มีขนาดเล็ก เช่น หญ้าทะเล จนถึงพืชที่มีขนาดใหญ่ เช่น ต้น redwood ว่า ในป่าที่สมดุล อัตราการแพร่พันธุ์และอัตราการล้มตายของพืชจะพอๆ กัน ซึ่งอัตราที่ว่านี้ แปรผกผันกับมวลของต้นไม้ขณะโตเต็มที่ และนั่นก็หมายความว่า โดยทั่วไปต้นไม้ยักษ์จะตายช้า และสืบพันธุ์ช้ากว่าต้นไม้จิ๋ว

นอกจากนี้ Marba ยังชี้ให้เห็นว่า ต้นไม้ยักษ์ที่กำลังตายจะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกมาในอัตราที่ช้ากว่าต้นไม้ขนาดเล็กที่กำลังจะตายด้วย

สุทัศน์ ยกส้าน ผู้เชี่ยวชาญพิเศษ สสวท
กำลังโหลดความคิดเห็น