เอพี/ม.เนแบรสกา- ปกติแล้ว การผลิตเอทานอลจำเป็นต้องใช้พืชอย่างข้าวโพดมาหมักให้ได้เอทานอล แต่ที่สหรัฐฯ นักวิจัยเปลี่ยนหญ้าโตเร็วให้มาเปลี่ยนเป็นเอทานอลได้ดีไม่แพ้กัน แถมยังต้นทุนต่ำกว่าแบบฟ้ากับดิน
เคน โฟเกล (Ken Vogel) นักพันธุศาสตร์ กระทรวงเกษตรสหรัฐฯ และศาสตราจารย์มหาวิทยาลัยเนแบรสกา-ลินคอล์น ผู้ทำวิจัยกล่าวว่า ในพื้นที่ปลูกขนาด 1 เอเคอร์ หรือ 2.5 ไร่เท่าๆ กัน หญ้าสวิตช์แกรส (switch grass) สามารถเปลี่ยนเป็นเอทานอลได้ถึง 300 แกลลอน หรือประมาณ 1,100 ลิตร เทียบกับการใช้ข้าวโพดที่จะให้เอทานอลได้มากกว่าราว 50 แกลลอนเท่านั้น
มิหนำซ้ำยังไม่ต้องใช้ปุ๋ยหรือการดูแลดีนัก โดยกระบวนการผลิตเอทานอลด้วยหญ้ากำลังอยู่ระหว่างการพัฒนาให้สมบูรณ์ ซึ่งเมื่อศึกษากับแปลงปลูกขนาดใหญ่ถึง 50 ไร่แล้ว พลังงานที่ได้จะมากกว่าที่ใช้ไปในการปลูก การเก็บเกี่ยว และการเปลี่ยนมาเป็นเอทานอลถึง 5.4 เท่า และยังปลดปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์สู่บรรยากาศน้อยกว่าเครื่องยนต์เบนซินถึง 94%
หญ้าสวิตช์แกรส เป็นวัชพืชที่พบมากที่ภาคตะวันตกของสหรัฐอเมริกา แถบเซาธ์ดาโกตา และนอร์ธดาโกตา โดยงานวิจัยนี้เป็นความร่วมมือนานกว่า 5 ปีระหว่างมหาวิทยาลัยเนแบรสกา-ลินคอล์น และหน่วยวิจัยกระทรวงเกษตรสหรัฐฯ ตีพิมพ์ในวารสารของสถาบันวิทยาศาสตร์แห่งสหรัฐฯ (The Proceedings of the National Academy of Sciences) เมื่อต้นสัปดาห์ทีผ่านมา
สตีฟ โซรัม (Steve Sorum) ผู้จัดการคณะกรรมการโครงการผลิตเอทานอลของรัฐเนแบรสกา กล่าวว่า ภาคอุตสาหกรรมต่างตื่นเต้นกับการเปลี่ยนเส้นใยเซลลูโลสของหญ้าให้เป็นเอทานอลนี้มาก เนื่องจากการใช้สารตั้งต้นที่เป็นเพียงหญ้าราคาถูก และผลพลอยได้จากการผลิตเอทานอลยังนำไปเผาปั่นไฟหรือเผาเพื่อกลั่นเอทานอลได้ด้วย โดยขั้นต่อไปคือการทำให้มีต้นทุนต่ำลง
ทั้งนี้ สภาคองเกรสเพิ่งผ่านกฎหมายใหม่เมื่อเดือน ธ.ค.ที่ผ่านมาให้มีการผลิตเอทานอล 1.36 แสนล้านลิตรต่อปี ภายในปี 2565 โดยเฉพาะการใช้วัตถุดิบอย่างหญ้าสวิตช์แกรสและเศษไม้ ซึ่งจำกัดให้ในอีก 7 ปี จะใช้ข้าวโพดเพื่อผลิตเอทานอลเพียง 1 ใน 3 ของทั้งหมด
นอกจากนี้ ในปี 2550 ที่ผ่านมา กระทรวงพลังงานสหรัฐฯ ยังทุ่มเงินอีก 11,500 ล้านบาท เพื่อตั้งโรงกลั่นเอทานอลจากเส้นใยเซลลูโลส 6 โรงภายใน 3 ปี คาดว่าจะช่วยผลิตเอทานอลได้ถึง 490 ล้านลิตรต่อปี