xs
xsm
sm
md
lg

"13.38 วิ" เร็วสุดของแชมป์ "รูบิก" บนถนนสายวิทย์ 51

เผยแพร่:   โดย: MGR Online


ในที่สุดการแข่งขัน "รูบิก" บนถนนสายวิทย์ก็ผ่านไปอย่างลุ้นระทึก โดยแชมป์ระดับมัธยมทำความเร็วสูงสุดในการแข่งขัน 13.38 วินาที ด้าน อพวช.เผยจัดสรรการแข่งขันเพื่อฝึกกระบวนการคิด พร้อมเผยอาจจัดแข่งขันในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์เพื่อขยายเวทีให้เด็กต่างจังหวัดมีโอกาสเข้าร่วมมากขึ้น

การแข่งขัน "รูบิก อพวช." (NSM Rubik's Cube Speed Contest 2008) ซึ่งจัดขึ้นเป็นครั้งแรกโดยองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) ภายในงานถนนสายวิทยาศาสตร์ประจำปี 2551 ของกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ระหว่างวันที่ 23 -26 ม.ค.นี้ก็ได้ผู้ชนะเลิศที่ทำเวลาได้เร็วที่สุดจากการแข่งขันในวันสุดท้ายของงาน โดยกติการแข่งขันนั้นผู้ผ่านรอบคัดเลือกเข้าสู่รอบสุดท้ายต้องแก้ลูกบาศก์รูบิกให้สีแต่ละด้านตรงกันภายใน 5 นาที ซึ่งผู้ที่ทำเวลาได้เร็วที่สุดเป็นผู้ชนะเลิศ ทั้งนี้แบ่งการแข่งขันเป็น 3 ระดับคือ ประถมศึกษา มัธยมศึกษาและประชาชนทั่วไป

ผลการแข่งขันดังนี้
- ระดับประถมศึกษา
ผู้ชนะเลิศ ด.ช.ธีรัช จารุวัฒนกุล นักเรียนชั้น ป.1 โรงเรียนอัสสัมชัญ ลำปาง ทำเวลาได้ 30.56 วินาที

- ระดับมัธยมศึกษา
ผู้ชนะเลิศ นายกิตติกร ตั้งสุจริตธรรม นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนหอวัง ทำเวลาได้ 13.38 วินาที

- ระดับประชาชนทั่วไป
ผู้ชนะเลิศ นายชลเทพ กิจสินธพชัย นิสิตชั้นปีที่ 3 สาขาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ทำเวลาได้ 21.46 วินาที

ทั้งนี้นายกิตติกร ตั้งสุจริตธรรม เคยชนะเลิศอันดับ 1 จากการแข่งขันรูบิก "Toy R Us" ของบริษัทเอกชนเมื่อปลายปีที่ผ่านมา ดังนั้นในเวทีการแข่งขันระดับประเทศที่จัดขึ้นโดยหน่วยงานของภาครัฐครั้งนี้เขาจึงจัดเป็น "ตัวเก็ง" ที่จะคว้าชัย ซึ่งเจ้าตัวเผยว่ารู้สึกตื่นเต้นและกดดัน แต่ในการแข่งขันครั้งนี้นับว่าเขาโชคดีที่สามารถข้ามบางขั้นตอนในการแก้รูบิกซึ่งทำให้เร็วขึ้น 2-3 วินาที

ทางด้าน นายธนากร พละชัย รองผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ เผยถึงการจัดการแข่งขันรูบิกขึ้นในงานถนนสายวิทยาศาสตร์ว่า ต้องการจัดการแข่งขันที่ฝึกกระบวนการคิดเช่นเดียวกันการแข่งขันจรวดขวดน้ำเพิ่มขึ้น ซึ่งในการแข่งขันรูบิกนั้นนอกจากต้องใช้ความคิดในทางทฤษฎีแล้วยังต้องฝึกทักษะ ซึ่งค้ลายกับการคิดเลขที่ทุกคนสามารถคิดได้แต่ขึ้นอยู่กับว่าใครจะคิดได้เร็ว สำหรับการแข่งขันรูบิกนั้นบางคนอาจจะรู้ทฤษฎีมากแต่อาจต้องใช้เวลาหลายชั่วโมง ขณะที่บางคนใช้เวลาแค่ไม่กี่วินาที

พร้อมกันนี้รอง ผอ.อพวช.ยังเผยอีกว่า มีแนวคิดที่อาจจะจัดการแข่งขันรูบิกระดับประเทศขึ้นในงานมหกรรมวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีเพื่อขยายเวทีให้ใหญ่เนื่องจากมีนักเรียนจากทั่วประเทศมาร่วมงาน เป็นการเปิดโอกาสให้กับเด็กต่างจังหวัด หรืออาจจัดรูปแบบการแข่งขันคล้ายจรวดขวดน้ำคือคัดตัวแทนจากแต่ละภาคเข้าแข่งขันในระดับประเทศ



คลิกที่ไอคอน Manager Multimedia
เพื่อรับชมภาพการแข่งขัน "รูบิก" เพิ่มเติม


ดูภาพชุดจาก Manager Multimedia





กำลังโหลดความคิดเห็น