ถนนสายวิทย์ปี 2 ทำเก๋ จัดกิจกรรมแข่ง "รูบิก" ชิงชนะเลิศระดับนักเรียน-ผู้ใหญ่ นักเรียน ม.5 ผู้ผ่านเวทีแข่งขันเอกชนเผยเทคนิคบิดให้เร็ว พร้อมกันนี้ยังเปิดตัวนิทานดาวเรื่องใหม่ "ดวงอาทิตย์ที่รัก" ผลงาน "ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์"
กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีจัดงาน "ถนนสายวิทยาศาสตร์" ขึ้นเป็นปีที่ 2 ระหว่างวันที่ 23-26 ม.ค.51 ซึ่ง ศ.ดร.ยงยุทธ ยุทธวงศ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คาดหวังว่ากิจกรรมนี้จะช่วยดึงดูดเยาวชนให้มีความสนใจในวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี
"บางคนอาจยึดเป็นอาชีพต่อไปในอนาคตหรืออย่างน้อยก็มีทัศนคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สำหรับปีที่ผ่านมามีความขลุกขลักร่วมทั้งมีความกังวลมากเรื่องการวางระเบิดซึ่งก็ผ่านมาได้และปีนี้ก็ยังมีความระมัดระวังอยู่"
พร้อมกันนี้ ดร.พิชัย สนแจ้ง ผู้อำนวยการองค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์แห่งชาติ (อพวช.) เผยว่าปีนี้ได้จัดการแข่งขัน "รูบิก อพวช. ประจำปี 2551" (NSM Rubik's Cube Speed Contest 2008) ขึ้นเป็นปีแรก โดยแบ่งการแข่งขัน 2 ระดับคือ ระดับนักเรียนซึ่งมีเงินรางวัล 5,000 บาท และระดับประชาชนทั่วไปซึ่งมีเงินรางวัล 3,000 บาท
ระหว่างวันที่ 23-25 ม.ค.เปิดแข่งขันคัดเลือกผู้ทำเวลาได้ดีที่สุดเข้าแข่งขันรอบชิงชนะเลิศในวันที่ 26 ม.ค. ทั้งนี้จำกัดผู้เข้าแข่งขันรอบคัดเลือกวันละ 10 คนเท่านั้น โดยสมัครได้ด้วยตัวเองในวันงาน
นอกจากนี้ นายสุธีรพล ฮุง หรือเบิร์ด นักเรียนชั้น ม.5 โรงเรียนเซนต์ดอมินิก ซึ่งเข้าแข่งขันรูบิกของบริษัท Toy R Us เมื่อปลายปีที่ผ่านมาและได้เป็นอันดับที่ 5 นั้นได้สาธิตการเล่นรูบิกพร้อมเผยเทคนิคการเล่นระหว่างการแถลงข่าวเปิดงานถนนสายวิทยาศาสตร์ว่า มีขั้นตอนโดยเริ่มจากการหมุนรูบิกให้ได้แถบกากบาทสีขาวก่อน
จากนั้นบิดให้ได้หน้าสีขาวเต็ม แล้วทำให้ครบ 1 ชั้นโดยที่สีในชั้นแรงต้องตรงกับสีตรงกลางรูบิกแต่ละด้านด้วย ขั้นตอนต่อไปคือทำให้เต็ม 2 ชั้น จากนั้นทำให้หน้าสีเหลืองให้เต็มหน้าแล้วจึงทำให้จบทั้งลูก
"เริ่มแรกค่อยๆ เรียนรู้กลไกของรูบิกไปก่อน" เบิร์ดกล่าวพร้อมย้ำให้ทำตามเทคนิคที่กล่าวไปข้างต้น ส่วนรูบิกรูปการ์ตูนต่างๆ ซึ่งเป็นที่นิยมขณะนี้นั้นเขากล่าวว่ามีความยากกว่าและมีสูตรที่ต่างไปเนื่องจากการ์ตูนในแต่ละหน้ายังกลับหัวได้
ทั้งนี้เวลาที่ทำได้ดีอย่างไม่เป็นทางการคือ 13 วินาที โดยเขาได้ฝึกเล่นมาเป็นเวลา 4 เดือนแล้ว พร้อมแนะนำเว็บไซต์สำหรับเรียนรู้การเล่นรูบิกคือwww.thailandcube.com ส่วนการแข่งขันในงานถนนสายวิทยาศาสตร์ครั้งนี้เขากล่าวว่าจะเข้าร่วมอย่างแน่นอนและเชื่อว่ามีคนที่เก่งกว่าเขาอีกมาก
ด้าน ดร.สุจินดา โชติพานิช ปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ ได้ชี้แจงถึงกิจกรรมต่างๆ ว่ามีผู้ร่วมจัดกิจกรรมจาก 16 หน่วยงานใน 5 กระทรวงคือ กระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ กระทรวงอุตสาหกรรม กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข โดยแบ่งกิจกรรมเป็นสถานีต่างๆ 31 สถานีรวม 100 กิจกรรม อาทิ สถานีดาวซึ่งสถาบันวิจัยดาราศาสตร์แห่งชาติ (สดร.) จัดกิจกรรมให้ความเข้าใจเกี่ยวกับเรื่องดาราศาสตร์และดวงดาว พร้อมเผยแพร่นิทานดาวเรื่องใหม่ "ดวงอาทิตย์ที่รัก" ซึ่งแต่งโดย ศ.ดร.ยงยุทธ สถานีนักวิทยาศาสตร์น้อยซึ่งมีการทดลองต่างในชีวิตประจำวัน เป็นต้น
นอกจากนี้หน่วยงานภายใต้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) ก็ร่วมขนกิจกรรมเข้าร่วมในถนนสายวิทยาศาสตร์กันอย่างคึกคัก ทั้งศูนย์บริหารจัดการเทคโนโลยี (ทีเอ็มซี) ที่ขนเกมออกกำลังกายซึ่งควบคุมการเคลื่อนไหวผ่านเว็บแคม "บูสท์ไลฟ์" (Boostlife) ที่เคยสร้างสีสันในงานวันเด็กมาร่วมสนุกในงานนี้อีกครั้ง หรือศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค) ก็ร่วมจัดนิทรรศการภาวะโลกร้อนด้วยปฏิทินความรู้ พร้อมเสริมกิจกรรมค้นหาตุ๊กตาที่มีชิปอาร์เอฟไอดี (RFID) เพื่อแนะนำให้เยาวชนรู้จักชิปชนิดใหม่
ผู้สนใจเข้าร่วมถนนสายวิทยาศาสตร์ปีที่ 2 สามารถเดินทางเข้าร่วมกิจกรรมได้ทั้งรถโดยสารประจำทางสาย 8, 44, 67, 92 , 97 ปอ.44, ปอ.157, ปอ.171,ปอ.509 และ ปอ.538
หากต้องการทราบรายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามได้ที่องค์การพิพิธภัณฑ์วิทยาศาสตร์ฯ โทร.0-2577-9999 ต่อ 1829-30 หรือ กลุ่มงานประชาสัมพันธ์สำนักงานปลัดกระทรวงวิทยาศาสตร์ฯ โทร.0-2354-4466 ต่อ 118 หรือ โทร.1313 และ www.most.go.th