xs
xsm
sm
md
lg

รู้จัก “หนู” รับปี “หนู” : ถ้าวันนั้นไม่มี “หนู” วันนี้คงไม่มีเรา

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

หนูแรทผู้ไม่รู้อีโหน่อีเหน่ตัวนี้ถูกทำให้เป็นเบาหวาน เพื่อเป็นโมเดลให้นักวิทยาศาสตร์ศึกษาและหาวิธีรักษาโรคนี้ในคน (ภาพจาก wikimedia.org)
“มิกกี้เมาส์” และ “มินนี่เมาส์” อาจเป็นดาราดังแห่งวอลดิสนีย์ หรือ “เจอร์รี” หนูแสนซนขวัญใจคุณหนูๆ คู่ปรับของ “ทอม” แมวจอมเจ้าเล่ห์ แต่ยังมีหนูอีกจำนวนมากมายที่ใครหลายคนลืมนึกถึง หนูที่ส่งเสียงร้องจี๊ดจี๊ดอยู่ในห้องทดลอง

หลายคนคงไม่ชอบใจแน่หากพบเห็น “หนู” วิ่งเพ่นพ่านอยู่ในบ้านของตัวเอง เพราะในสายตาของคนทั่วไป หนูเป็นเพียงแค่สัตว์รำคาญ ชอบทำลายข้าวของ และเป็นพาหะนำโรค แต่ก็มีหนูหลายชนิดที่กลายเป็นสัตว์เลี้ยงน่ารัก หรือสร้างสีสันให้กับโลกแห่งความบันเทิง ทว่าในโลกวิทยาศาสตร์ “หนู” กลับเป็นสัตว์ที่มีคุณค่ายิ่ง และอาจเรียกได้ว่าเป็นผู้มีพระคุณของมนุษย์ในฐานะที่พวกเขาเป็น “หนูทดลอง

"หนู" สัตว์ตัวน้อยน่ารักน่าชัง

หนู เป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็ก และจัดอยู่ในจำพวกสัตว์ฟันแทะ มีหลายชนิดและหลายสกุล เช่น หนูนา ที่อยู่ในจำพวกเดียวกับหนูแรท (rat), หนูหริ่ง จำพวกเดียวกับหนูเมาส์ (mouse) นอกจากนี้ยังมีหนูพุก (bandicoot), หนูตะเภา (guinea pig), และหนูแฮมสเตอร์ (hamster) เป็นต้น

เมื่อไม่นานมานี้นักวิทยาศาสตร์ก็เพิ่งค้นพบสัตว์ฟันแทะตัวจิ๋ว “เจอร์บัวหูยาว” (long-eared jerboa) ที่มีลักษณะคล้ายหนูและมีหูตั้งเหมือนมิกกี้เมาส์ วิ่งเล่นอยู่กลางทะเลทรายโกบีในมองโกเลีย

บางคนที่เห็นความน่ารักของหนูก็จับเอาสัตว์ตัวเล็กเหล่านั้นมามาสร้างสรรค์ด้วยจินตนาการให้กลายเป็นหนูที่โลดแล่นอยู่บนแผ่นฟิล์มหรือในหนังสือการ์ตูน เช่น มิกกี้เมาส์และมินนี่เมาส์, ทอมแอนด์เจอร์รี และแฮมทาโร่ (Hamtaro) ที่กำลังเป็นขวัญใจเด็กๆ อยู่ขณะนี้

จากศัตรูตัวฉกาจในไร่นา สู่ชีวิตที่มีคุณค่าในห้องทดลอง

หนูในอดีตไม่ใช่สัตว์ที่ใกล้ชิดกับคนเหมือนอย่างสุนัขและแมว คนสมัยโบราณเมื่อหลายพันปีก่อนรู้จักหนูเป็นอย่างดีในฐานะศัตรูตัวฉกาจที่ชอบทำลายผลผลิตในไร่นาและยุ้งฉาง และเพราะหนูนี่เองที่ทำให้แมวกลายมาเป็นเพื่อนต่างสายพันธุ์อีกชนิดหนึ่งของมนุษย์ เพราะมนุษย์เห็นประโยชน์ของแมวที่ช่วยกำจัดหนูในยุ้งฉางได้เป็นอย่างดี จึงนำมาเลี้ยงไว้ใกล้ชิด แม้แต่ชาวอียิปต์โบราณยังยกย่องบูชาแมวดุจเทพเจ้า

ส่วนหนูที่ในตอนนั้นยังไม่มีใครเห็นคุณค่านอกจากเป็นสัตว์น่ารำคาญก็เริ่มถูกนำมาใช้เป็นสัตว์ทดลอง ซึ่งมนุษย์เริ่มนำสัตว์ต่างๆ มาศึกษาและใช้ในการทดลองต่างๆ เมื่อหลายพันปีก่อนตั้งแต่สมัยอริสโตเติล (Aristotle) และเมื่อวิทยาการต่างๆ ก้าวหน้ามากขึ้น สัตว์ทดลองก็มีความสำคัญยิ่งขึ้น โดยเฉพาะ “หนูทดลอง”ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ช่วยส่งให้วิทยาศาสตร์และการแพทย์ก้าวไกลเช่นที่เห็นทุกวันนี้

"หนู" ผู้อยู่เบื้องหลังความสำเร็จของนักวิจัย

ดร.ประดน จาติกวนิช ประธานคณะกรรมการเพื่อการพัฒนางานเลี้ยงและใช้สัตว์เพื่องานทางวิทยาศาสตร์ (คชพส.) สำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติ (วช.) เล่าให้ฟังว่า หากย้อนกลับไปดูรายชื่อนักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลกว่า 100 ปีที่ผ่านมี จะพบว่านักวิทยาศาสตร์ที่ทำการทดลองในสัตว์ ส่วนใหญ่ล้วนใช้หนูเป็นสัตว์ทดลองแทบทั้งสิ้น อาจใช้สัตว์อื่นบ้าง แต่เป็นส่วนน้อยมาก

กระทั่ง 3 นักวิทยาศาสตร์รางวัลโนเบลสาขาสรีรศาสตร์และการแพทย์ปีล่าสุด 2550 ยังได้รางวัลโนเบลจากการทดลองสร้าง “หนูน็อกเอาต์” (knockout mice) หรือการดัดแปลงยีนในหนูเพื่อศึกษากลไกการเกิดโรคต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับพันธุกรรมนั่นเอง

เพราะหนูเป็นสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและยังมีพันธุกรรมที่ใกล้เคียงคนเรา จึงถูกเลือกนำมาใช้เป็นสัตว์ทดลองในอันดับต้นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การทดลองที่มีชีวิตมนุษย์เป็นเดิมพัน

หนูที่ใช้ในงานทดลองส่วนใหญ่เป็นหนูแรทและหนูเมาส์ ซึ่งจะมีลักษณะคล้ายกัน แต่หนูแรทตัวใหญ่กว่าราว 3 เท่า ส่วนหนูเมาส์ตัวเล็กใกล้เคียงกับหนูบ้านและมีพันธุกรรมที่ใกล้เคียงกับคนมากกว่า” ดร.ประดน อธิบาย นอกจากนี้ยังมีหนูตะเภา และหนูแฮมสเตอร์ ที่ถูกนำมาใช้ในงานทดลองเช่นกัน

สายพันธุ์แห่งการเสียสละ

ดร.ประดน บอกอีกว่า เหตุที่นำหนูมาใช้ในงานทดลองอย่างแพร่หลาย เพราะหนูเพาะพันธุ์ง่าย เลี้ยงไม่ยาก ให้ลูกดก และควบคุมพันธุกรรมได้ ซึ่งหนูทดลองที่ดีจะต้องมีสุขภาพแข็งแรงสมบูรณ์ ไม่เป็นโรค มีพันธุกรรมคงที่ รวมถึงต้องมาจากพ่อแม่พันธุ์หนูที่ดีด้วย

ส่วนการจะใช้หนูชนิดไหนในการทดลองใดก็ขึ้นอยู่กับความเหมาะสมในเรื่องของพันธุกรรม และตรงตามวัตถุประสงค์ของงานวิจัย ซึ่งนักวิจัยต้องศึกษาก่อนว่าพันธุกรรมของหนูชนิดไหนตรงกับวัตถุประสงค์ของการทดลอง แต่หนูเมาส์จะถูกนำมาใช้ในงานวิจัยมากกว่า เพราะมีคุณลักษณะทั่วไปเหมาะสมกับงานวิจัยมากกว่าหนูชนิดอื่นๆ

“เฉพาะในประเทศไทยมีการใช้หนูทดลองกว่า 3 แสนตัวต่อปี หากคิดรวมทั่วโลกใช้หนูทดลองนับปีละหลายสิบล้านตัวทีเดียว” ดร.ประดนแจง

นอกจากนี้ยังมีหนูเปลือย (Nude mice) คือหนูที่มีพันธุกรรมผิดปกติทำให้เกิดมาไม่มีขน และเป็นเช่นนั้นไปชั่วชีวิต หนูเปลีอยมีจุดเด่นที่ทำให้นักวิทยาศาสตร์สนใจ เนื่องจากพวกเขาเกิดมาโดยปราศจากต่อมไธมัส (Thymus) ที่ทำหน้าที่ควบคุมการสร้างภูมิต้านทานให้ร่างกาย ทำให้พวกเขาถูกชักนำให้เกิดโรคต่างๆ ได้ง่าย เพื่อให้นักวิจัยศึกษาหาวิธีรักษา

การกินเนื้อสัตว์อาจเป็นเรื่องธรรมดาหากว่าเราไม่เห็นกระบวนการที่ได้มาซึ่งเนื้อสัตว์ เช่นเดียวกับการกินยารักษาโรคหรือฉีดวัคซีนป้องกันโรค ที่กว่าจะได้ยาแต่ละเม็ดหรือวัคซีนแต่ละเข็ม มีหนูจำนวนมากมายนับไม่ถ้วนที่ต้องสละชีพเพื่อช่วยชีวิตมนุษย์ตาดำๆ

ไม่มีใครรู้หรอกว่าหนูพวกนั้นยินยอมพร้อมใจหรือไม่ และมีคนบางกลุ่มที่ไม่เห็นด้วยกับการนำสัตว์มาใช้ทดลองเพื่อประโยชน์ของมนุษย์เพียงฝ่ายเดียว ซึ่ง ดร.ประดน เผยว่านักวิจัยจะต้องมีจรรยาบรรณในการใช้สัตว์ทดลอง และต้องรู้หลักการทางสถิติในการใช้สัตว์ทดลองในจำนวนที่เหมาะสมกับแต่ละงานวิจัย ซึ่งได้กำหนดไว้เป็นหลักปฏิบัติในทางสากล

ต้องใช้สัตว์ทดลองให้เกิดประโยชน์สูงสุดโดยใช้สัตว์จำนวนน้อยที่สุด

ถ้าวันนั้นไม่มี "หนู" วันนี้อาจไม่มี "เรา"

หากโลกนี้ปราศจาก “หนู” วิทยาการต่างๆ คงไม่เจริญและก้าวหน้าเหมือนเช่นทุกวันนี้ เราคงไม่ได้รับวัคซีนตั้งแต่แรกเกิด มนุษย์จำนวนมากคงอยู่ในภาวะเจ็บป่วยที่ไร้ทางเยียวยา

ถ้าไม่มีหนูมนุษย์คงขาดองค์ความรู้ที่เป็นประโยชน์มากมาย และคงเกิดความยุ่งยากต่างๆ ตามมา กว่าจะศึกษาพันธุกรรมของหนูได้ว่าเป็นอย่างไร ใกล้เคียงกับมนุษย์มากน้อยแค่ไหน ต้องใช้เวลานานมาก หากหลังจากนี้ไม่มีหนูอีกแล้ว และนักวิจัยต้องเปลี่ยนไปใช้สัตว์ทดลองอื่น ก็ต้องอาศัยเวลาอีกนานหลายสิบปีในการทำความเข้าใจเบื้องต้นกับพันธุกรรมของสัตว์เหล่านั้น” ดร.ประดน กล่าว

ดร.ประดน เสริมว่า เพราะสมัยก่อนหนูเป็นสัตว์ที่ไร้ประโยชน์ คนจึงนำมาใช้เป็นสัตว์ทดลอง แต่หากนำสุนัขหรือแมวมาใช้คงเกิดปัญหา เพราะทั้ง 2 ชนิดเป็นสัตว์เลี้ยงใกล้ชิดของคน ย่อมมีผู้ต่อต้านมากอย่างแน่นอน

หนูจำเป็นต่องานทดลองอย่างยิ่งและคงเป็นไปได้ยากที่นักวิจัยจะเลิกใช้หนูทดลองในอนาคตอันใกล้ เพราะยังไม่มีวิธีอื่นที่ดีกว่าการใช้หนูทดลอง และนักวิจัยจำนวนไม่น้อยก็หวังอยากจะค้นพบวิธีที่สามารถทำการทดลองให้ได้ผลดีได้ โดยที่ไม่ต้องใช้สัตว์ทดลอง และเมื่อนั้นเสียงร้องจี๊ดจี๊ดของ “หนู” และสิ่งมีชีวิตอื่นๆ ที่เคยบรรพบุรุษของพวกเขาเคยพลีชีพในห้องปฏิบัติการวิทยาศาสตร์ก็จะหายไปตลอดกาล
มิกกี้และมินนี่ ดาราดังของวอลดิสนีย์ขวัญใจคุณหนูๆ (ภาพจาก cache.viewimages)
ทอมแอนด์เจอร์รี่ คู่กัดตลอดกาล (ภาพจาก pressmart.net)
แฮมทาโร่และผองเพื่อน ขวัญใจเด็กๆ (ภาพจาก baike.baidu)
จากสัตว์ที่ไร้ประโยชน์ในสมัยโบราณ แต่ปัจจุบันหนูกลายเป็นสิ่งมีค่าสำหรับวงการวิทยาศาสตร์อย่างมาก (ภาพจาก www.junkscience.com)
เหล่าหนูเมาส์ขาวสะอาด สายพันธุ์แห่งการเสียสละ
หนูเปลือยที่ปราศจากขนห่อหุ้มร่างกายและไม่มีต่อมไธมัสช่วยสร้างภูมิคุ้มกัน (ภาพจาก www.com.msu.edu)
หนูตะเภา หนึ่งในหนูทดลองและสัตว์เลี้ยงยอดนิยม (ภาพจาก wikimedia.org)
หนูแฮมสเตอร์น่ารักน่าชัง (ภาพจาก www.hamsteracademy.fr)


กำลังโหลดความคิดเห็น