ต้นเหตุที่ทำให้ทั้งสามสิ่งนี้สามารถเชื่อมโยงถึงกันได้คือ วรรณ-อรวรรณ (หอวัฒนสุข) โอทอง และหมู-เจริญ โอทอง สองสามีภรรยาชาวไทยที่สามารถปั่นจักรยานรอบโลกผ่าน 43 ประเทศในเวลา 5 ปี 11 เดือน เรื่องราวของทั้งคู่ถูกนำเสนอผ่านสื่อวิทยุโทรทัศน์มากมายโดยเฉพาะเรื่องความทรหดอดทน ความรัก และความใส่ใจที่ทำให้วรรณและหมูเอาชนะอุปสรรคและดำเนินโครงการปั่นจักรยานรอบโลกได้สำเร็จ แต่บทความนี้จะหยิบยกแง่มุมไอทีในการเดินทางมาพูดถึง ซึ่งความเห็นของทั้งคู่สามารถสรุปได้ว่า คอมพิวเตอร์มีความสำคัญต่อการเดินทางครั้งนี้ไม่น้อยกว่าความรักและจักรยาน
ตั้งแต่หมูและวรรณเริ่มออกเดินทางรอบโลกด้วยจักรยานเมื่อวันที่ 30 พ.ย. 2544 ข้อมูลการเดินทางและความเคลื่อนไหวทุกอย่างถูกอัปโหลดขึ้นสู่เว็บไซต์ www.thaibike world.com อย่างต่อเนื่อง เว็บไซต์นี้เป็นเครื่องมือให้หมูและวรรณส่งข่าวถึงครอบครัวเพื่อนสนิทและแฟนคลับที่ติดตามข่าวอยู่ ว่าทั้งสองพักอยู่ที่ใดในขณะนั้น และทยอยแบ่งปันประมวลภาพประทับใจในเส้นทางที่เดินทางผ่านมาอย่างทันเหตุการณ์
ในทางเดียวกัน เว็บนี้ช่วยเป็นสื่อกลางที่ทำให้ครอบครัวเพื่อนสนิทส่งข่าวสารและแรงเชียร์ถึงทั้งคู่ได้ นี่จึงเป็นคำตอบว่าทำไมคอมพิวเตอร์จึงมีความสำคัญต่อการปั่นจักรยานรอบโลก
ไม่เคยปฏิเสธเทคโนโลยี
แม้ทั้งสองจะเมินเครื่องบินและเลือกเดินทางรอบโลกด้วยจักรยานแทน แต่ไม่ได้แปลว่าหมูและวรรณเป็นผู้ต่อต้านเทคโนโลยี ทั้งสองจะพกพาคอมพิวเตอร์เครื่องหนึ่งไปด้วยตลอดการเดินทาง ใช้แอร์การ์ดเพื่อเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตจากทางหลวงของแต่ละประเทศ
"การโหลดข้อมูลเดินทางขึ้นเว็บไซต์เราก็ใช้คอมพิวเตอร์ตัวนี้ เช่นตอนเรากำลังเข้า เปรู เราก็เข้าไปอัปเดตข้อมูลว่าเราอยู่ที่ไหนแล้ว และเมื่อเดินทางมากขึ้น ก็รู้จักเพื่อนใน แต่ละประเทศเพิ่มมากขึ้น เราต้องติดต่อกันมากขึ้น คอมพิวเตอร์และอินเทอร์เน็ตช่วยเราได้เยอะในส่วนนี้ เวลาเราปั่นจักรยานข้ามทะเลทรายระยะทาง 4 พันกว่ากิโล ทุกคนรู้ว่ามันยากมากและส่งกำลังใจมาให้เราผ่านเว็บไซต์ การเดินทางผ่านภูมิประเทศและอากาศที่ไม่คุ้นเคย เราก็ใช้คอมพิวเตอร์เช็กสภาพอากาศจากอินเทอร์เน็ต เวลาไปบรรยาย ตามโรงเรียน ก็ใช้คอมพิวเตอร์เครื่องนี้เปิดซีดีททท.ให้เด็กต่างชาติดู"
วรรณและหมูเล่าถึงคอมพิวเตอร์คู่ใจว่า ช่วงกลางปี 2544 คอมแพคคอมพิวเตอร์ประเทศไทยได้สนับสนุนโครงการปั่นจักรยานรอบโลกด้วยการมอบคอมพิวเตอร์ Compaq Armanda M300 เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลและอัปเดตเว็บไซต์ให้ทันเหตุการณ์ในระหว่างเดินทาง แต่โชคร้าย คอมพิวเตอร์ตัวนี้และทรัพย์สินต่างๆ ถูกโจรปล้นไปจากทั้งสองที่ประเทศเอกวาดอร์เมื่อ 29 กรกฎาคม 2546
หลังจากเอชพีซื้อกิจการคอมแพค ทีมงานเอชพีประเทศไทยซึ่งเดิมคือคอมแพคไทยแลนด์ ยังยืนยันที่จะสนับสนุนโครงการปั่นจักรยานรอบโลกต่อเนื่อง โดยมอบคอม-พิวเตอร์เครื่องใหม่เป็น Compaq Tablet PC แท็ปเล็ตพีซีรุ่นแรกของคอมแพคขนาดเล็กกะทัดรัดเหมาะแก่การเดินทางแทน
"ห้องสมุดในออสเตรเลียและสหรัฐฯจะมีอินเทอร์เน็ตให้ใช้งานฟรี ประเทศพวกนี้จะไม่มีอินเทอร์เน็ตคาเฟ่เลย นอกนั้นเราก็ใช้แอร์การ์ดอัปเดตข้อมูลจากข้างทาง" โดยทั้งคู่ให้ข้อมูลว่า ภาพที่ถ่ายได้ทั้งหมดจากการเดินทางครั้งนี้มีกว่า 2 แสนภาพ 310 ม้วนสไลด์ และโปสการ์ดพันกว่าฉบับ
ปวีณ วรพฤกษ์ ผู้จัดการกลุ่มผลิตภัณฑ์และการตลาด กลุ่มธุรกิจเพอร์ซัลแนล ซิสเต็มส์กรุ๊ป ของเอชพี ถ่ายภาพคู่กับหมู - เจริญ โอทอง และวรรณ - อรวรรณ(หอวัฒนสุข) โอทอง สองสามีภรรยาชาวไทยที่สามารถปั่นรถจักรยานรอบโลกผ่าน 43 ประเทศในเวลา 5 ปี 11 เดือน
เขย่า 4 ปีคอมพ์ไม่เจ๊ง
หมูและวรรณนั้นเดินทางด้วยจักรยานเสือภูเขา ทำให้หลายคนแปลกใจว่า การพกพา คอมพิวเตอร์โน้ตบุ๊กไว้บนจักรยานที่มีการกระแทกและเขย่าต่อเนื่องเป็นเวลาเกือบ 4 ปี (2546-2550) นั้นไม่ทำให้ฮาร์ดดิสก์เสียหายเลยหรือ จุดนี้หมูเล่าว่าเป็นเพราะความรู้จากการทดลองก่อนออกเดินทาง
"ช่วงเตรียมการปั่นรอบโลก เราทดสอบปั่นจักรยานเส้นทางขอนแก่นเข้ากรุงเทพฯ ครั้งนั้นเราเอาโน้ตบุ๊กไว้ข้างหน้า แต่ผลคือฮาร์ดดิสก์เสีย ทำให้เรารู้ว่าควรเก็บคอมพิว-เตอร์ไว้ด้านหลัง เพราะช่วงหลังจักรยานมีแรงกระแทกน้อยกว่าช่วงหน้า" หมูเล่า โดยวรรณ เสริมว่า เคล็บลับที่ทำให้ Compaq Tablet PC สามารถผ่านทะเลทรายโกบีอุณหภูมิ 50 องศา และผ่านภูเขาน้ำแข็งอุณหภูมิติดลบ 7 องศาได้คือความช่างคิดของหมู
"อุณหภูมิขนาดนั้นกล้องดิจิตอลยังเกเร แต่คอมพ์นี่ไม่เป็น คุณหมูเอาแผ่นฟอยล์ กันร้อนสำหรับรถยนต์มาดัดแปลงโดยใช้ห่อคอมพ์ไว้เพื่อกันความร้อน ห่อทับอีกชั้นด้วย พลาสติกเพื่อกันฝน ตอนนี้คอมพ์ยังใช้งานได้ แบตเตอรี่ยังดี อาจมีช้าบ้างก็เพิ่มแต่แรม"
พร้อมสนับสนุนลูกตามรอย
การเตรียมงาน 1 ปีเต็ม การฉีดวัคซีนป้องกันโรค 27 เข็ม ความลำบากจากการยก จักรยานหนัก 60 กิโล อันตรายจากภัยรอบตัวทั้งสัตว์ป่ามีพิษและโจรผู้ร้าย ค่าใช้จ่ายสูงลิ่ว และความเสี่ยงทั้งหลายทั้งปวงที่หมูและวรรณพบ แม้จะทำให้ทั้งคู่หวั่นใจหากทายาทจะเจริญรอยตามพ่อและแม่ แต่ก็ไม่ทำให้คิดจะคัดขวางความฝันของลูก
"ถ้าถามว่าจะให้ลูกทำไหม ก็กลัวนะ แต่ถ้าเค้าจะทำก็ต้องช่วยเค้า ความฝันจะทำ ให้สำเร็จได้ คนรอบตัวจะต้องมีส่วนร่วมด้วย"หมูเล่าขณะที่วรรณเสริม "เงินไม่ได้สำคัญ ที่สุด แต่ใจเราสำคัญที่สุด เราไม่เคยท้อเลย มีเรื่องให้ประทับใจทุกวัน การเดินทางด้วยจักรยานทำให้เราเข้าถึงวิถีชีวิตของแต่ละท้องถิ่นได้ดีกว่าเครื่องบิน หรือแม้แต่มอเตอร์ไซค์ กับชีวิตคู่ อยู่เมืองไทยรักกันมาก เข้าใจกันมาก แต่พอไปจริงๆแค่เรื่องจอดรถยังเป็นเรื่อง ให้ทะเลาะกันได้ ซึ่งท้ายที่สุดแล้ว พอเรามองที่เป้าหมายเดียวกัน ทุกอย่างก็โอเค"
วรรณเล่าว่า มีความฝันที่จะเดินทางไปในประเทศต่างๆรอบโลกมานาน ปรารถนาที่จะไปประเทศอื่นๆ ในโลกเพื่อเรียนรู้ผู้คนในแต่ละประเทศ การดำรงชีวิต อาหาร และวัฒนธรรมที่แตกต่าง จนวันหนึ่งทั้งสองได้ไปร่วมกิจกรรมการปั่นจักรยานรณรงค์ต่อต้าน ยาเสพติดที่สนามหลวง ได้พบกับคุณเซบาสเตียนซึ่งปั่นจักรยานจากประเทศเนเธอร์แลนด์ มาถึงประเทศไทย แรงบันดาลใจที่ได้รับบวกกับความฝัน และคำแนะนำของผู้รู้หลายคนทำให้ทั้งสองปั่นจักรยานรอบโลกได้สำเร็จ
ทั้งสองวางแผนโครงการในอนาคตว่า อาจจัดเป็นทริปท่องเที่ยวด้วยจักรยานสั้นๆ ทำเส้นทางจักรยาน เขียนหนังสือ หรืออาจสร้างเป็นภาพยนตร์สารคดีสักเรื่อง ผู้สนใจสามารถติดตามรายละเอียดการเดินทางทั้งหมดได้ใน www.thaibikeworld.com ทั้งประวัตินักเดินทาง จุดมุ่งหมายในการเดินทาง เส้นทาง และผู้ที่มีส่วนร่วมกับโครงการนี้ทั้งหมด
คอมพิวเตอร์ ความรัก และจักรยานจึงเกี่ยวข้องกันด้วยประการฉะนี้ :-)