xs
xsm
sm
md
lg

จีนลั่นแปรถ่านหินเป็นน้ำมัน ท่ามกลางเสียงวิจารณ์ระงม

เผยแพร่:   โดย: MGR Online

โรงงานแปลงถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเหลวในเมืองออร์ดอส เขตปกครองตนเองมองโกเลียใน - รอยเตอร์
รอยเตอร์ - จีนเผยเตรียมตั้งโรงงานแปลงถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเหลว หลังเผชิญปัญหาราคาน้ำมันพุ่งไม่หยุด ผู้เชี่ยวชาญชี้เป็นทางเลือกเพื่อความมั่นคงพลังงานที่ดี สำหรับประเทศที่มีปริมาณถ่านหินสำรองมาก แต่มีข้อเสียสร้างมลภาวะหนัก แถมใช้พลังงานในกระบวนการแปลงถ่านหินมาก

ราคาน้ำมันในตลาดที่ไต่ระดับทำสถิติแทบทุกวัน ทำเอาจีนต้องเสาะหาทางเลือกเพื่อตอบสนองความมั่นคงทางพลังงาน ล่าสุดมีการเผยแผนใช้เทคโนโลยีแปลงถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเหลว (ซีทีแอล) โดย เสินหัว กรุ๊ป วิสาหกิจรายใหญ่รับหน้าที่ นำร่องทดลองโครงการในมองโกเลียใน

อย่างไรก็ตาม ยูอิชิโร ฮิมูระ จากสถาบันวิจัยมิตซูบิชิ กรุงโตเกียววิจารณ์ว่า “แม้เทคโนโลยีซีทีแอล จะเหมาะสมกับประเทศที่มีถ่านหินสำรองมากอย่างแอฟริกาใต้, สหรัฐฯ และจีน ทว่าซีทีแอลก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมาก นอกจากนี้ในกระบวนการแปลงถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง ยังต้องอาศัยพลังงานมหาศาล ซึ่งเท่ากับว่า ท้ายที่สุดกระบวนการสร้างเชื้อเพลิงดังกล่าว ทำให้เราเสียทรัพยากรพลังงานไปไม่น้อย”

แม้แทคโนโลยีดังกล่าวจะก่อให้เกิดการสิ้นเปลืองพลังงาน แถมก่อมลภาวะมาก แต่ประเทศอื่นอาทิ สหรัฐฯ, อินเดีย และออสเตรเลียต่างก็เล็งพัฒนาโครงการแปลงถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเหลวด้วย ทว่าเสียงวิจารณ์จากกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อม ทำให้โครงการในประเทศเหล่านี้ต้องชะงัก ซึ่งสภาพการณ์ดังกล่าวตรงข้ามกับจีน ที่ปัจจุบันเริ่มก้าวขาทดลองไปแล้ว

ณ เมืองออร์ดอส (เอ้อเอ่อร์ตัวซือ) ซึ่งอุดมด้วยถ่านหินและตั้งอยู่ในเขตปกครองตนเองมองโกเลียใน คนงานราว 10,000 คน กำลังทำงานขั้นสุดท้าย สำหรับการสร้างโรงงานแปลงถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเหลว ทั้งนี้โรงงานดังกล่าวจะกลายเป็นโรงงานซีทีแอลขนาดใหญ่ที่สุด ที่อยู่นอกแอฟริกาใต้ ประเทศที่นำร่องเทคโนโลยีซีทีแอลไปก่อนหน้า เนื่องจากประสบปัญหาโดนนานาชาติคว่ำบาตรไม่ค้าเชื้อเพลิงด้วย ในสมัยที่แอฟริกาใต้ยังดำเนินนโยบายแบ่งแยกสีผิวอยู่

จาง จี๋หมิง รองผู้อำนวยการทั่วไป ของ เสินหัว โคล ลิควิแฟคชั่น (Shenhua Coal Liquefaction) กล่าวว่า “เราถอยไม่ได้ หากโครงการนี้ดำเนินไปอย่างงดงาม ปีหน้าจะมีการขยายโครงการต่อไป”

โรงงานของเสินหัว มีกำหนดดำเนินงานในปีนี้ โดยคาดการณ์ว่าใน 1 ปีจะสามารถแปลงถ่านหิน 3.5 ล้านตันเป็นน้ำมันจำนวน 1 ล้านตัน เท่ากับว่าจะมีปริมาณน้ำมันที่แปลงจากถ่านหินสำหรับการบริโภคอยู่ที่ราว 20,000 บาร์เรลต่อวัน แต่ตัวเลขดังกล่าวก็ยังนับว่าน้อยมาก เพราะใน 1 วันจีนมีการบริโภคน้ำมันสูงถึง 7.2 ล้านบาร์เรล

อย่างไรก็ตามหากทุกอย่างไปได้สวย มองโกเลียในจะกลายเป็นฐานสำหรับการแปลงถ่านหินเป็นน้ำมัน โดยมีเป้าหมายว่าภายในปี 2010 จีนจะแปลงผลผลิตถ่านหินจำนวนครึ่งหนึ่งเป็นเชื้อเพลิงเหลว นอกจากนี้ยีงมีการตั้งเป้าว่า ภายในปี 2020 จีนจะมีศักยภาพในการผลิตเชื้อเพลิงเหลวจากถ่านหินถึง 50 ล้านตัน ซึ่งเฉลี่ยเท่ากับ 280,000 บาร์เรลต่อวัน หรือราว 4% ของความต้องการบริโภคพลังงานของจีน ณ ปัจจุบัน

‘ซีทีแอล’ เทคโนโลยีร้อน

นอกจากจีนแล้ว อเมริกาเองก็สนใจเทคโนโลยีซีทีแอลเช่นเดียวกัน เนื่องจากเมื่อเทียบกับราคาน้ำมันที่พุ่งสูงแล้ว การผลิตน้ำมันจากถ่านหินจะมีราคาถูกว่า แถมยังช่วยให้รัฐมีความมั่นคงทางพลังงาน ไม่ต้องพึ่งพาการน้ำเข้าน้ำมันอย่างเดียว

ขณะนี้อุตสาหกรรมซีทีแอลขนาดเล็กก็เริ่มปรากฏในสหรัฐฯ โดยบริษัทเอกชนแห่งหนึ่งก็วางแผนจะสร้างโรงงานแปลงถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเหลวภายในปีหน้า นอกจากนี้ทางกระทรวงกลาโหมก็สนใจใช้เทคโนโลยีซีทีแอล เพื่อลดการพึ่งพิงการนำเข้าน้ำมันจากประเทศที่ไม่เป็นมิตรกับสหรัฐฯ

อย่างไรก็ตามผู้เชี่ยวชาญย้ำว่า กระบวนการแปลงถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเหลวทั้งหมด จะปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ มากกว่าการผลิตน้ำมันตามปกติถึง 2 เท่า นอกจากนี้การแปลงถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเหลวยังต้องอาศัยพลังงานและน้ำปริมาณมาก

แม้ซีทีแอลจะเป็นเทคโนโลยีที่ถูกคิดค้นขึ้นเมื่อราว 100 ปีที่แล้ว ทว่าที่ผ่านมามีเพียงเยอรมนีในยุคนาซี และแอฟริกาใต้เท่านั้น ที่นำเทคโนโลยีดังกล่าวมาใช้ เนื่องจากประสบปัญหาในการเข้าถึงอุปทานน้ำมัน ทว่าปัจจุบัน ราคาน้ำมันที่สูงขึ้นหลายเท่าตัวกระทั่งทำสถิติพุ่งเกิน 130 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ทำให้ซีทีแอลกลับมาได้รับความสนใจอีกครั้ง

เมื่อเดือนเมษายน วารสารน้ำมันและก๊าซคำนวณว่า การผลิตน้ำมันจากถ่านหินมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 67-82 เหรียญสหรัฐฯต่อบาร์เรล ทั้งนี้การคำนวณดังกล่าวเป็นการคิดโดยใช้แอฟริกาใต้เป็นตัวแบบ สำหรับราคาที่แท้จริงของแต่ละประเทศขึ้นอยู่กับปัจจัยที่ต่างกันซึ่งก็คือราคาถ่านหินและน้ำ

ทั้งนี้เสินหัวจะเป็นผู้บุกเบิกรายแรก ที่นำเทคโนโลยีซีทีแอลมาผลิตถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเหลวโดยตรง ซึ่งเทคโนโลยีดังกล่าวต่างกับนาซี และแอฟริกาใต้ที่ทำการแปลงถ่านหินเป็นแก๊สสังเคราะห์ (Syngas) ก่อนที่จะแปลงเป็นน้ำมัน

เนื่องจากปัญหามลภาวะจากกระบวนการผลิต เทคโนโลยีซีทีแอลจึงประสบกับแรงต้านอย่างรุนแรงในสหรัฐฯ แม้แต่กลุ่มล็อบบี้ยิสต์จากธุรกิจถ่านหินก็มิสามารถฝ่ากระแสต้านของฝูงชน การชักจูงให้รัฐบาลแก้รัฐบัญญัติพลังงานเพื่อส่งเสริมซีทีแอลเมื่อปี 2007 จึงล้มไม่เป็นท่า

ฉะนั้นเพื่อแก้ปัญหานี้จึงมีการเสนอว่า ควรมีการพัฒนาส่งเสริมเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ใต้ดิน เพื่อเลี่ยงปัญหามลภาวะจากเทคโนโลยีซีทีแอล

“หากไม่มีการแก้ปัญหาเรื่องก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ อุตสาหกรรมซีทีแอลจะไม่เติบโต” เฉิน หลินหมิง แห่งบริษัทซาซอล ประเทศจีน กล่าวระหว่างการประชุมเมื่อเดือนที่ผ่านมา พร้อมเรียกร้องให้รัฐบาลจีนสนับสนุนเทคโนโลยีกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ไว้ใต้ดิน

ทั้งนี้ซาซอล ซึ่งเป็นบริษัทชื่อดังด้านการแปลงถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงของแอฟริกาใต้กับเสินหัว กำลังร่วมมือศึกษาความเป็นไปได้ในการก่อสร้างโรงงานซีทีแอลเพิ่มเติมในมณฑลส่านซี และเขตปกครองตนเองชนชาติหุย หนิงเซี่ย

ปัญหาดับฝันพญามังกร

แม้เทคโนโลยีซีทีแอลดูจะเป็นทางเลือกที่ดีสำหรับจีน ทว่าปัญหาสำคัญอยู่ที่จีนเองก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ โดยเฉพาะพื้นที่ตะวันตกเฉียงเหนือของจีนประสบปัญหาปริมาณน้ำบริโภคไม่เพียงพอ แถมระดับน้ำบาดาลก็ลดลงทุกปี ส่วนพื้นที่มองโกเลียใน ซึ่งเป็นที่ตั้งโรงงานของเสินหัว ก็ถูกทะเลทรายโกบีพาดผ่าน ฉะนั้นโครงการแปลงถ่านหินเป็นเชื้อเพลิงเหลวปริมาณมากจึงต้องฝ่าด่านปัญหาเรื่องน้ำให้ได้ก่อน

แม้เสินหัวเผยว่า นอกจากการใช้น้ำบนดินและน้ำรีไซเคิลจากเหมือง ทางเสินหัวจะอาศัยแหล่งน้ำอื่นอีก เช่นน้ำจากแม่น้ำเหลือง เพื่อสนับสนุนความต้องการใช้น้ำของโรงงานที่สูงถึง 8 ล้านตันต่อปี

อย่างไรก็ตามมีปัญหาอีกว่า แม่น้ำเหลืองมักเหือดแห้งอยู่บ่อยๆ แถมที่ผ่านมาระดับน้ำก็ลดต่ำลง ฉะนั้นนักอนุรักษ์จึงแย้งว่า หากจีนวิตกเรื่องความมั่นคงทางพลังงาน แทนที่จะพึ่งเทคโนโลยีซีทีแอล จีนควรใช้ทรัพยากรให้มีประสิทธิภาพมากกว่านี้ เช่นพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินให้มีประสิทธิภาพมากขึ้น แล้วเปลี่ยนรถยนต์มาใช้พลังงานไฟฟ้าดีกว่า เนื่องจากกระบวนการดังกล่าวประหยัด และให้ความคุ้มค่าสูงกว่าการแปลงถ่านหินเป็นเชื้อเพลิง
กำลังโหลดความคิดเห็น