xs
xsm
sm
md
lg

“รากของเส้นใยจากเห็ด” หนึ่งในนวัตกรรมทางธรรมชาติ ทางออกสำหรับการลดโลกร้อน

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ก่อให้เกิด “ภาวะโลกร้อน”นั่นคือ ก๊าซเรือนกระจก สาเหตุสำคัญที่ทำให้เกิดการละลายของน้ำแข็งขั้วโลก และการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลอย่างรวดเร็ว ซึ่งตามในรายงาน โลกเรายังพอมีความหวังเล็ก ๆ ว่า ยังมีอีกหลายอย่างที่โลกจะเอากลับคืนมาได้ หากมนุษย์เรามีความตั้งใจช่วยกัน เร่งมือในเรื่องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก หรือก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ และแม้กระทั่งก๊าซมีเทน ต่าง ๆ นี้ให้น้อยลง อย่างน้อย ๆ สิ่งใกล้ตัวเรา ปัญหาขยะพลาสติก ถือเป็นปัญหาใหญ่ด้านสิ่งแวดล้อมของโลกเราทีเดียว เนื่องจากขยะพลาสติกส่งผลกระทบร้ายแรงด้านระบบนิเวศ รวมถึงปัญหาการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Greenhouse gases)
“เห็ด” ที่ไม่ได้ใช้แค่ทำเป็นอาหาร หากยังเป็นวัสดุก่อสร้างที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ซึ่งจะเป็นทางออกสำหรับการลดภาวะโลกร้อนอีกด้วย ดังนั้นวัสดุ MBC (Mycelium-based Composite) เป็นวัสดุนวัตกรรมที่ยั่งยืนผลิตจากไมซีเลียมของเชื้อรา ซึ่งเป็นโครงสร้างคล้ายรากของเห็ด ไมซีเลียมเป็นส่วนที่เจริญเติบโตของเชื้อรา ประกอบด้วยเส้นใยสีขาวละเอียดที่เรียกว่าไฮฟี ในธรรมชาติ ไมซีเลียมมีบทบาทสำคัญในการย่อยสลายสารอินทรีย์และช่วยในการหมุนเวียนสารอาหารในระบบนิเวศ การผลิต MBC เป็นการนำกระบวนการทางธรรมชาตินี้มาควบคุมในสภาพแวดล้อมการผลิต
ดร.จักรพล พันธุวงศ์ภักดี อาจารย์ประจำคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ได้ทำการศึกษา ค้นคว้าทดลองในเรื่อง “วัสดุจากไมซีเลียมของเห็ด” ได้กล่าวว่า กระบวนการผลิต MBC เริ่มต้นด้วยการเตรียมวัสดุรองรับเป็นแหล่งคาร์บอน ซึ่งมักเป็นวัสดุเหลือทิ้งอินทรีย์จากการเกษตรหรืออุตสาหกรรม วัสดุรองรับที่เตรียมไว้จะถูกปลูกเชื้อด้วยสปอร์ของเชื้อรา และวางไว้ในสภาพแวดล้อมที่ควบคุมให้เหมาะสมต่อการเจริญเติบโตของไมซีเลียม เมื่อเวลาผ่านไป ไมซีเลียมจะเจริญเติบโตทั่ววัสดุรองรับ ทำหน้าที่คล้ายกาวธรรมชาติ ยึดเกาะวัสดุเข้าด้วยกันเป็นก้อนแข็ง ขึ้นอยู่กับการใช้งานที่ต้องการ วัสดุนี้สามารถขึ้นรูปเป็นรูปทรงต่าง ๆ ในระหว่างช่วงการเจริญเติบโตได้ เมื่อได้การเจริญเติบโตตามที่ต้องการแล้ว วัสดุจะถูกนำไปผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยความร้อนเพื่อหยุดการเจริญเติบโตของเชื้อรา จากนั้นจึงได้ MBC ซึ่งสามารถนำมาปรับปรุงคุณสมบัติเพิ่มเติมตามต้องการต่อไปได้
แนวโน้มการศึกษาเกี่ยวกับ MBC เติบโตอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 1966 โดยเฉพาะในปี 2019 และ 2020 มีการตีพิมพ์บทความวิชาการเกี่ยวกับเรื่องนี้มากกว่า 50 บทความ ส่วนใหญ่มาจากประเทศจีนและสหรัฐอเมริกา ในขณะเดียวกัน คาดการณ์ว่าอุตสาหกรรมตลาดเห็ดในประเทศไทยจะมีมูลค่าตลาดประมาณ 941.48 ล้านดอลลาร์สหรัฐภายในปี 2030 แม้จะมีการเติบโต แต่การใช้ประโยชน์จากเชื้อราในประเทศไทยยังคงมุ่งเน้นไปที่การผลิตอาหารและผลิตภัณฑ์ยาเป็นหลัก ด้วยขนาดตลาดเห็ดที่ใหญ่ในประเทศไทย จึงมีศักยภาพสูงสำหรับนักวิจัยและนักลงทุนในการพัฒนาผลิตภัณฑ์จาก MBC นอกจากนี้ ยังจำเป็นต้องมีการวิจัยเพิ่มเติมเกี่ยวกับ MBC ในประเทศไทย โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อพิจารณาถึงความพร้อมของวัสดุรองรับที่เป็นของเสีย สารอาหาร และวัสดุเสริมแรงจากธรรมชาติในภูมิภาค
การใช้ MBC สามารถช่วยลดปัญหาสิ่งแวดล้อมที่เกิดจากวัสดุก่อสร้างหรือบรรจุภัณฑ์ที่ผลิตจากพลาสติกที่มาจากน้ำมัน รวมถึงปัญหามลพิษที่เกิดจากการผลิตคอนกรีต เนื่องจากวัสดุ MBC มีคุณสมบัติทนไฟ ดูดซับเสียง และมีคุณสมบัติทางความร้อนและกลที่ดีเยี่ยม คุณสมบัติเหล่านี้ทำให้ MBC ถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ (แต่ยังไม่ใช่ในประเทศไทย) เพื่อทดแทนวัสดุก่อสร้าง บรรจุภัณฑ์ และวัสดุสิ่งทอแบบดั้งเดิม โดยเฉพาะอย่างยิ่งสำหรับบรรจุภัณฑ์กันกระแทก สามารถใช้แทนโฟมจากปิโตรเลียม และการใช้ผลิตเฟอร์นิเจอร์แทนวัสดุพลาสติก อย่างไรก็ตาม ยังมีช่องว่างในการพัฒนา MBC สำหรับบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อวัสดุรองรับจากแหล่งต่างๆ ยังสามารถนำมาศึกษาเพิ่มเติมได้
ดร.จักรพล พันธุวงศ์ภักดี กล่าวเพิ่มเติมว่า ในประเทศไทย แม้จะมีความหลากหลายของเห็ดตลอดทั้งปีและมีวัสดุเหลือใช้ที่สามารถนำมาเป็นแหล่งคาร์บอนได้เป็นจำนวนมาก แต่ยังไม่มีการนำวัสดุ MBC มาจำหน่ายในเชิงพาณิชย์ อย่างไรก็ตาม ในด้านการวิจัยและนวัตกรรม ได้มีการเริ่มดำเนินการบ้างแล้วในประเทศไทย เช่นงานวิจัยจาก มหาวิทยาลัยมหิดล และ ศูนย์พันธุวิศวกรรมและเทคโนโลยีชีวภาพแห่งชาติ (BIOTEC) ได้นำ MBC มาสร้างเป็นบรรจุภัณฑ์อาหารที่ย่อยสลายได้ หนังจากเห็ดรา โลงศพสัตว์เลี้ยง ตุ๊กตารูปม้าลายรักษ์โลก และวัสดุชีวภาพใช้ประยุกต์ในทางอาหารและการแพทย์ เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมี โครงการ BCG Nature Heart โครงการ Myco-brick และโครงการอื่นๆด้าน MBC. ซึ่งนำทีมโดยนักวิจัยจาก BIOTEC ร่วมกับทีมนักวิจัยด้าน Bio-based Material Science จากสาขาวัสดุศาสตร์และวิศวกรรมนาโน คณะวิทยาศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล และทีมนักวิจัยคณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล

โครงการเหล่านี้เป็นตัวอย่างที่ดีของการริเริ่มใช้ MBC ในประเทศไทย อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยควรส่งเสริมการพัฒนาและการใช้ MBC ให้มากขึ้น เนื่องจากมีศักยภาพสูงในการลดปัญหาสิ่งแวดล้อม สร้างนวัตกรรมใหม่ และเพิ่มมูลค่าให้กับวัสดุเหลือใช้ทางการเกษตร การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา MBC อย่างต่อเนื่อง รวมถึงการส่งเสริมการใช้งานในเชิงพาณิชย์ จะช่วยให้ประเทศไทยก้าวสู่การเป็นผู้นำในด้านวัสดุยั่งยืนในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้

MBC ใช้เป็นบรรจุภัณฑ์กันกระแทกแทนโฟม (รูปได้รับอนุญาตให้ใช้จาก FungiTech Sdn Bhd.)

MBC ใช้ทำเป็นผนัง และสิ่งทอ (รูปได้รับอนุญาตให้ใช้จาก The Growing Pavilion by Biobased Creations ถ่ายโดย Oscar Vinck)
อ้างอิง
Alaneme,
K.K., Anaele, J.U., Oke, T.M., Kareem, S.A., Adediran, M., Ajibuwa, O.A.,
Anabaranze, Y.O.,2023.Mycelium
Based Composites: A Review of Their Bio-fabrication Procedures, Material
Properties and Potential for Green Building and Construction Applications.
Alexandria Engineering Journal. https://doi.org/10.1016/j.aej.2023.10.012

Data
Bridge,2023.Japan,
Thailand, and Singapore Mushroom for Food Market – Industry Trends and Forecast
to2030 [WWW Document].
Data Bridge.


กำลังโหลดความคิดเห็น