xs
xsm
sm
md
lg

(คลิป) นักวิจัย มทส.เปิดตัวนวัตกรรม “เปลี่ยนขยะโฟมขาวสู่วัสดุก่อสร้างมวลเบา” เพิ่มมูลค่าวัสดุเหลือใช้-ลดปัญหาสิ่งแวดล้อม

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวนครราชสีมา - นักวิจัย มทส. เปิดตัวนวัตกรรม “การเปลี่ยนขยะโฟมขาว PS สู่วัสดุก่อสร้างมวลเบา” เพิ่มมูลค่าผลิตภัณฑ์จากวัสดุเหลือใช้และลดปัญหาสิ่งแวดล้อม เผยเป็นวัสดุมวลเบาเชิงวิศวกรรมรูปแบบใหม่ มีคุณสมบัติพิเศษเหมาะสมกับอุตฯ การก่อสร้าง มีน้ำหนักเบา สามารถปรับรูปแบบ ขนาด รูปร่าง ได้ตามความต้องการใช้งาน

วันนี้ (6 มิ.ย. 67) ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ที่อาคารสุรพัฒน์ 6 มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีสุรนารีได้มีการจัดแถลงข่าวเปิดตัวผลงานวิจัยและนวัตกรรม “การเปลี่ยนขยะโฟมขาว PS สู่วัสดุก่อสร้างมวลเบา” ซึ่งเป็นผลงานของผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย มีคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการออกแบบ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส. ที่ได้มีการนำขยะโฟมขาว PS ซึ่งเป็นโฟมที่ใช้ในภาคอุสาหกรรมส่วนใหญ่นิยมนำมาเป็นอุปกรณ์กันกระแทกเวลาขนส่งพัสดุ


นำมาผ่านกระบวนการบด 2 ครั้ง คือ บดหยาบขนาดเท่าลูกหิน และบดละเอียดให้ได้ขนาดเท่าทรายเม็ดเล็ก จากนั้นขั้นตอนสำคัญคือ การเคลือบเม็ด โฟมละเอียดด้วยกาวยึดติดเม็ดโฟม ขั้นตอนสุดท้ายนำเม็ดโฟมที่ผ่านการเคลือบกาวแล้วมาผสมคลุกกับขี้เถ้าลอยที่ได้จากโรงงานอุตสาหกรรมเพื่อป้องกันไม่ให้เม็ดโฟมเกาะกันเป็นก้อนระหว่างรอการเซตแข็งตัวของกาว ท้ายสุดจะได้วัสดุที่ลักษณะคล้ายเม็ดกรวดเล็กๆ พร้อมนำไปเป็นส่วนประกอบของวัสดุก่อสร้างเชิงวิศวกรรมทดแทน กรวด/ทราย ที่สามารถนำไปขึ้นรูปต่างๆ ตามความต้องการใช้งาน เช่น อิฐบล็อก อิฐมวลเบา เป็นต้น

จากการทดลองในห้องปฏิบัติการได้ออกแบบเป็น แผ่นปูพื้น แผ่นปูผนัง เพิ่มสีสันความสวยงาม ที่ยังคงความแข็งแรงแต่มีน้ำหนักเบาเมื่อเทียบกับอัตราส่วนทั่วไป เชื่อว่าจะเป็นทางเลือกใหม่สำหรับวัสดุมวลเบาเพื่อการก่อสร้างต่อไป


ทางด้าน ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย มีคำ กล่าวว่า จากสภาพปัญหาปัจจุบันของปริมาณขยะที่เพิ่มขึ้นทุกปี โดยเฉพาะขยะพลาสติก ขยะโฟม กล่องบรรจุภัณฑ์ต่างๆ ที่ต้องใช้ระยะเวลานานในการย่อยสลาย หรือวิธีการกำจัดที่ต้องใช้มูลค่าสูง นวัตกรรมนี้มุ่งไปที่ขยะโฟมขาวชนิดโฟม POLYSTYRENE (PS) ที่ถูกใช้เป็นวัสดุกันกระแทก และกล่องรักษาความเย็น ซึ่งมีปริมาณเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง จึงมีแนวคิดในการเปลี่ยนขยะโฟมขาวให้เป็นวัสดุก่อสร้างมวลเบา ตามหลักการประยุกต์ใช้ในการออกแบบผลิตภัณฑ์มวลเบา (LIGHTWEIGHT PRODUCT DESIGN APPLICATIONS) โดยนำวัสดุเหลือใช้จากภาคอุตสาหกรรม หรือบรรจุภัณฑ์ที่ขึ้นรูปจากโฟมขาว ที่พบทั่วไป นำมาเพิ่มมูลค่า (Upcycling) ทำให้ได้ “วัสดุมวลเบาเชิงวิศวกรรม LIGHTWEIGHT ENGINEERED” รูปแบบใหม่ที่มีคุณสมบัติพิเศษเหมาะสมสำหรับอุตสาหกรรมการก่อสร้าง


โดยมีคุณสมบัติโดดเด่น คือ เป็นวัสดุมีน้ำหนักเบา สามารถปรับรูปแบบ ขนาด รูปร่าง ได้ตามความต้องการใช้งาน เช่น แผ่นตัวหนอนปูพื้นทางเดิน แผ่นปูผนังหินทรายประดิษฐ์สำหรับประดับตกแต่งอาคาร รวมถึงใช้เป็นวัสดุทดแทนกรวดทราย เพื่อใช้ในการหล่อผลิตภัณฑ์กระถางต้นไม้ที่มีน้ำหนักเบา เป็นต้น


นอกจากนี้ ประโยชน์ที่เห็นได้ชัดจากนวัตกรรมนี้ คือ 1. เป็นการจัดการขยะประเภทโฟมได้ในปริมาณสูง ซึ่งหากจะนำกลับมาใช้ได้ต้องผ่านกระบวนการรีไซเคิล พบว่าต้องใช้ต้นทุนที่สูงกว่าพลาสติกชนิดอื่น แต่เมื่อเราเปลี่ยนจากขยะมาเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ เพิ่มมูลค่า (Upcycling) จะเป็นการลดวงจรปริมาณสะสมขยะโฟมที่จะเพิ่มขึ้น

2. การได้วัสดุก่อสร้างมวลเบารูปแบบใหม่ โดยไม่ต้องให้ถูกจำกัดเฉพาะเป็นแค่การผลิตอิฐบล็อกหรืออิฐมวลเบา คิดว่าเป็นวัสดุที่จะเปิดโอกาสให้ทุกคนได้ร่วมกันสร้างสรรค์ออกแบบได้ตรงกับการใช้งานที่สุด อาจจะเป็นกระถางปลูกต้นไม้ขนาดใหญ่แต่มีน้ำหนักเบา จัดวางไว้บนตึกสูง อาคารสำนักงาน คอนโดฯ ที่พักอาศัยได้ตามความเหมาะสม


และ 3. สามารถพัฒนาต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ สร้างอาชีพได้ เริ่มต้นจากวิสาหกิจชุมชนขนาดย่อม-กลาง เพราะใช้ต้นทุนการผลิตที่ไม่สูงมาก ทั้งในแง่วัตถุดิบหลักหาได้ภายในประเทศเกือบทั้งหมด ทั้งขยะโฟมขาวเหลือใช้ ขี้เถ้าลอยที่มีราคาถูกจากโรงงานอุตสาหกรรม กาวเคลือบ แม่พิมพ์ขึ้นรูป และเครื่องบด-อัด เชื่อว่าจะเป็นช่องทางสร้างรายได้ให้แก่ชุมชนอีกทางหนึ่ง



ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร.อุทัย มีคำ อาจารย์ประจำสาขาวิชาเทคโนโลยีการออกแบบ สำนักวิชาวิศวกรรมศาสตร์ มทส.










กำลังโหลดความคิดเห็น