การเปิดมุมมองของ True Digital ในการนำปัญญาประดิษฐ์ หรือ AI มาใช้งานในภาคธุรกิจของไทย นับเป็นหนึ่งในเทคโนโลยีที่เข้ามาเปลี่ยนเกม (Game Changer) ของการสร้างนวัตกรรมจาก AI ที่จะเข้ามาอยู่ในทุกๆการใช้ชีวิต การทำธุรกิจที่สร้างผลผลิต และผลกระทบในวงกว้างแก่สังคม
จากเป้าหมายในการนำ AI มาใช้งานเพื่อผลักดันบริการดิจิทัล ที่คาดว่าภายในปี 2570 จะขึ้นเป็นสัดส่วนรายได้หลักของธุรกิจ โดยเฉพาะการทำดิจิทัลทรานส์ฟอร์เมชันที่จะเปลี่ยนองค์กรให้เป็น Automation 100% ภายในปี 2570 ซึ่งในเวลานั้นรายได้จากบริการดิจิทัลที่มี AI เข้ามาช่วยจะเพิ่มเป็นสัดส่วนถึง 30%
เอกราช ปัญจวีณิน หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านดิจิทัล บริษัท ทรู คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) ให้ข้อมูลว่า AI เหมือนเป็นเทคโนโลยีหลายตัวในยุคก่อนที่สามารถสร้างให้เกิดการเปลี่ยนแปลงได้ โดยที่ไม่ต้องมีตัวตน จากตัวอย่างของหลายๆ บริษัทเทคโนโลยีที่นำสินทรัพย์ทางดิจิทัลมาใช้เพื่อสร้างการเติบโต เพียงแต่ในการนำ AI มาใช้งาน องค์กรควรที่จะมีหลักการ (AI Principles) ที่ชัดเจน ถัดมาคือ ต้องมีการเตรียมความพร้อมของข้อมูลเพื่อที่จะให้ AI นำแมชชีนเลิร์นนิ่งเข้ามาเรียนรู้ก่อนนำไปใช้งาน
แน่นอนว่าไม่ใช่ทุกองค์กรที่มีข้อมูลมหาศาลจะได้เปรียบในยุคของ AI แต่ขึ้นอยู่กับการบริหารจัดการข้อมูลให้เหมาะสม เพื่อให้ AI สามารถดึงข้อมูลออกมาใช้งานให้ได้มากที่สุด บนพื้นฐานสำคัญคือเรื่องความปลอดภัยของข้อมูล
ที่ผ่านมา ทรู ดิจิทัลมีจุดยืนที่ชัดเจนในการช่วยธุรกิจให้ก้าวสู่ AI ด้วยการนำความเชี่ยวชาญในการประมวลผลและวิเคราะห์ฐานข้อมูลมหาศาล มาพัฒนาเป็นแพลตฟอร์มที่สามารถนำข้อมูลจากหลากแหล่งมาวิเคราะห์และประมวลผลเชิงลึก บน True Data-AI Integrator
จุดประสงค์หลักเพื่อให้องค์กรต่างๆ สามารถนำไปใช้ในการต่อยอดธุรกิจในอุตสาหกรรมต่างๆ สร้างเป็นโมเดลธุรกิจใหม่ๆ ที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการแข่งขันและเสริมแกร่งการเติบโตพร้อมยกระดับประสบการณ์แบบเฉพาะบุคคล (hyper-personalized) เพิ่มผลิตผล รวมถึงประหยัดค่าใช้จ่าย
***3 ปี AI เป็นส่วนหนึ่งของการทำงาน
เอกราช มองว่า ภายในอีก 3 ปี ข้างหน้าจะเห็นการพัฒนาแอปพลิเคชันที่มี AI ทำงานอยู่เบื้องหลัง และกลายเป็นส่วนหนึ่งของการทำงานในชีวิตประจำวันของทุกคน ทำให้บุคลากรในยุคดิจิทัลต้องมีการเรียนรู้ และปรับตัวในการนำ AI มาใช้งาน
เบื้องต้น ทรู ดิจิทัลแบ่งเทคโนโลยีที่อยู่เบื้องหลังการทำงานของ AI ออกเป็น 5 ส่วนหลัก ประกอบด้วย 1.โครงสร้างพื้นฐานดิจิทัล (Infrastructure) อย่างระบบคอมพิวเตอร์ประมวลผลที่อยู่เบื้องหลัง 2.ข้อมูล (Data) ที่องค์กรควรให้ความสำคัญกับแพลตฟอร์มในการจัดเก็บข้อมูล 3.โมเดลแมชชีนเลิร์นนิ่ง (Foundation Model) ด้วยการปรับโมเดลในการคิดวิเคราะห์ให้เหมาะสมกับการใช้งาน 4.ปรับแต่ง (Fine Tuning) โมเดลภาษาที่จะเข้าไปศึกษา และวิเคราะห์ข้อมูล และ 5.แอปพลิเคชัน (Applications) หรือโปรแกรมที่จะทำให้เข้าถึงข้อมูลจาก AI
ในปัจจุบันทรู ดิจิทัลเริ่มมองเห็นการตื่นตัวของภาคธุรกิจที่นำ AI เข้าไปใช้งานมากขึ้น และเติบโตอย่างต่อเนื่อง เพราะก่อนหน้านี้ปัญหาของธุรกิจคือไม่สามารถเข้าไปหาข้อมูลเชิงลึกจากข้อมูลที่มีได้ ซึ่งการที่ AI เข้ามาปลดล็อกปัญหาดังกล่าว ช่วยแม้กระทั่งผู้ที่ไม่เคยทำ ให้สามารถเรียนรู้ และทำงานได้รวดเร็วมากขึ้น
“ในอนาคตความชำนาญในแง่ทักษะของคนกับเทคโนโลยีจะกลายเป็นสิ่งสำคัญที่ทำให้มนุษย์ยังมีความจำเป็นในการทำงาน แม้ว่าในหลายๆ งานจะมี AI เข้ามาแทนที่ หรือช่วยให้ทำงานได้เร็วขึ้นก็ตาม
*** เปิด 3 ยูสเคส ใช้ AI ช่วยในธุรกิจ
เอกราช กล่าวต่อว่า ที่ผ่านมาทรู ดิจิทัลได้มีการนำ AI เข้าไปช่วยในบริการดิจิทัลของธุรกิจในเครือที่เห็นได้ชัดเจนเลยอย่างบริการแพลตฟอร์มสตรีมมิ่ง TrueID ที่เริ่มนำ AI มาช่วยในการนำเสนอเนื้อหาสำหรับลูกค้าที่เข้ามาใช้งาน
“จากการนำเสนอคอนเทนต์เฉพาะบุคคล ด้วยการนำข้อมูลความสนใจ หรือการรับชมมาช่วย ทำให้ True ID สามารถนำเสนอเนื้อหาที่ถูกต้อง ถูกใจ ถูกเวลาไปให้แก่ลูกค้า สิ่งที่เกิดขึ้นคือลูกค้าใช้ระยะเวลาอยู่บนแพลตฟอร์มนานขึ้น”
ถัดมาในส่วนของธุรกิจค้าปลีก ที่มีตู้แช่อยู่หลายหมื่นตู้ทั่วประเทศ การนำ AI เข้าไปช่วยแจ้งเตือนเมื่อสินค้าหมดในแต่ละสาขาจะช่วยลดขั้นตอนการทำงาน ความฉลาดของ AI คือสามารถเปิดงาน และส่งต่อไปยังทีมงานเพื่อเข้าไปแก้ไขปัญหาในแต่ละสาขาได้ทันที ไม่ต้องการให้เกิดคำสั่งจากส่วนกลาง
สุดท้ายในแง่ของการเพิ่มโปรดักทิวิตี้ของร้านค้า หรือผู้ประกอบการ สิ่งที่ AI เข้ามาช่วยคือทำให้รู้ข้อมูว่าลูกค้าที่เข้ามาในร้านใช้เวลานานแค่ไหน จำนวนกี่คน และเส้นทางเดินในร้านเป็นอย่างไร ทำให้สามารถมาคำนวณข้อมูลเพิ่มเติมอย่างการใช้ระยะเวลาให้ความสนใจกับสิ่งของตรงจุดไหนเป็นพิเศษ นอกจากนี้ ยังสามารถประยุกต์ใช้งาน AI ร่วมกับกล้องวงจรปิดเพื่อใช้ดูแลสภาพร้านให้มีความเหมาะสมเพิ่มเติมเข้าไปด้วย
“ทุกวันนี้คอนซูเมอร์รอไม่ได้ ทำให้ปัจจุบันเริ่มเห็นการนำ AI เข้าไปช่วยในการนำเสนอโปรโมชัน สิทธิพิเศษ และผลิตภัณฑ์ที่เหมาะสมกับความต้องการของลูกค้าแต่ละคนมากขึ้น และสิ่งต่างๆ เหล่านี้จะเข้ามาอยู่ใกล้กับการใช้ชีวิตของผู้คนในแต่ละวันในท้ายที่สุด”
ศรินทร์รา วงศ์ศุภลักษณ์ หัวหน้าคณะผู้บริหารด้านทรัพยากรบุคคล ทรู คอร์ปอเรชั่น กล่าวเสริมถึงการขับเคลื่อนองค์กรไปสู่ดิจิทัล ซึ่งแน่นอนว่าองค์กรหลายแห่งจะเริ่มนำ AI มาขับเคลื่อนเทคโนโลยี ทำให้ต้องมีการเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร จากเดิมที่ใช้ประสบการณ์เป็นพื้นฐาน หรือมีผู้นำในการตัดสินใจ ไปสู่การตัดสินใจบนพื้นฐานของการใช้ข้อมูลเป็นสำคัญ
“องค์กรจะต้องเริ่มเปลี่ยนแปลงการทำงานตั้งแต่ผู้บริหารระดับสูงที่เข้าใจในเทคโนโลยีใหม่นี้ และมีวิสัยทัศน์กว้างไกลพอที่จะดึงเทคโนโลยี AI มาใช้ขับเคลื่อนองค์กร ไปพร้อมกับการพัฒนาสกิลคน ที่ AI ไม่สามารถทำได้ โดยเฉพาะในเรื่องของการตัดสินใจ”