xs
xsm
sm
md
lg

“นิรุฒ มณีพันธ์” อำลาเก้าอี้ผู้ว่าการ รฟท. 4 ปีทำงานเต็มที่ สร้างวัฒนธรรมองค์กร ให้โอกาสคน-กังวลบริหารที่ดินหวั่นเดินผิดทาง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“นิรุฒ มณีพันธ์” อำลาเก้าอี้ผู้ว่าฯ รฟท. ฝากผู้บริหาร-พนักงานสานภารกิจ "จัดหารถจักร ล้อเลื่อน" เครื่องมือทำมาหากิน ยอมรับห่วงที่ดินทำเลทอง "เอสอาร์ที แอสเสทฯ" ต้องแสดงความเป็นมืออาชีพมากกว่านี้ ชี้ 4 ปีทำงานเต็มที่ สร้างวัฒนธรรมองค์กรให้โอกาสคนทำงาน ฝากผู้ว่าฯ คนใหม่ต้องกล้าตัดสินใจ และทำงานเฉียบคม

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.)​ เปิดเผยว่า ตนจะครบวาระสัญญาจ้าง 4 ปี ในวันที่ 23 เม.ย. 2567 ซึ่งจะทำงานเป็นวันสุดท้ายในฐานะ ผู้ว่าฯ รฟท. ที่เป็นคนนอกและครบวาระ คนแรก ซึ่งการทำงานตลอด 4 ปีที่ผ่านมา ตนทำงานอย่างเต็มที่ และเดินหน้าไปหลายเรื่อง ที่ปรับปรุงสำเร็จและอยู่ระหว่างดำเนินการและมีอีกหลายเรื่องที่ยังทำไม่ได้เท่าที่ควร จึงอยากฝากให้ผู้บริหารและพนักงาน รฟท. รวมถึงผู้ว่าฯรฟท.คนใหม่ ช่วยผลักดันสานต่อให้สำเร็จ

ที่ผ่านมาได้มีการลงทุนพัฒนาโครงสร้างพื้นฐาน เช่น รถไฟทางคู่ไปมากแล้ว และกำลังจะแล้วเสร็จ แต่ที่ยังไม่ค่อยพูดถึงและตนพยายามผลักดันแต่ยังไม่สำเร็จ คือการจัดหาเครื่องมือทำมาหากิน รถจักร ล้อเลื่อน แคร่สินค้า ซึ่งอุปสรรคสำคัญคือมักจะมีคำถามในเรื่องความคุ้มค่า หรือการใช้ประโยชน์ การทำกำไร ได้แค่ไหน ซึ่งผู้ที่มีส่วนในการตัดสินใจจะเอาต้นทุนค่างานโยธามารวมด้วย ทำให้ตัวเลขออกมาไม่ดี แต่ตราบใดที่ยังไม่มีรถจักร ล้อเลื่อนเข้ามาเป็นเครื่องมือทำมาหากิน ตัวรางที่ลงทุนไปก็จะไม่เกิดประโยชน์​ เพราะรางไม่สามารถทำมาหากินให้บริการประชาชนด้วยตัวเองได้

การจัดหารถจักร ล้อเลื่อนนั้นมีหลายรูปแบบ หลายวิธีที่ทำได้ เดิมมักจะมองวิธีการซื้อ แต่มีวิธีอื่นที่เหมาะสม เช่น การเช่า หรือแม้แต่การให้เอกชนเข้ามาร่วมลงทุนในอนาคต โดยต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของ รฟท.และประชาชนด้วย หากใช้วิธีที่เหมาะสมและเกิดประโยชน์ที่สุด ตนมองว่าพนักงานรถไฟไม่น่าจะขัดข้องอะไร

ในส่วนของการทำงาน และระบบบริหารจัดการ รฟท.นั้น ตนได้ปรับปรุงและเห็นว่า วิธีการทำงานความร่วมมือต่างๆ ดีขึ้นมาก ได้มาตรฐานระดับหนึ่ง มีความรวดเร็ว แม่นยำ แต่ยังต้องการให้สร้างมาตรฐานให้ดีขึ้นต่อไปอีก และเมื่อมีระบบดี หากมีอุปสรรคการแก้ปัญหาจะทำได้ง่ายขึ้น เพราะรูปแบบการทำงานชัดเจนขึ้น

ห่วงเรื่องที่ยังไม่แล้วเสร็จ เช่น โครงการสรรหาเอกชนเพื่อร่วมลงทุนเป็นผู้ประกอบการสถานีบรรจุและแยกสินค้ากล่อง (ไอซีดี) ที่ลาดกระบังเพื่อส่งเสริมการขนส่ง ไปท่าเรือแหลมฉบัง ที่ผ่านมายังไม่เรียบร้อย เพราะหากสำเร็จ ระบบสมบูรณ์ทั้งต้นทาง และปลายทาง จะมีผลต่อระบบการขนส่งสินค้าจากไอซีดีลาดกระบังไปยังท่าเรือแหลมฉบัง จะเกิดความคล่องตัวอย่างน้อย 2-3 เท่าตัว แต่ที่ผ่านมาทำไม่สำเร็จเพราะเรื่องนี้มีอุปสรรคมาก

@ห่วงที่ดินรถไฟ กังวล "เอสอาร์ที แอสเสทฯ" มืออาชีพ?

ส่วนที่กังวลทรัพย์สินที่ดินทั่วประเทศยังพัฒนาไม่เป็นไปตามเป้า นโยบายก่อนหน้านี้จัดตั้ง บริษัท เอสอาร์ที แอสเสท จำกัด (SRTA) เข้ามาทำหน้าที่บริหารที่ดินเพื่อเพิ่มมุมมองทางการตลาดแบบมืออาชีพ ตามปรัชญาที่ ครม.ได้เห็นชอบ ยังต้องขับเคลื่อนต่อ ยอมรับว่ามีความกังวลที่สุดคือ ประเด็นถูกครอบงำ เพราะที่ดินมีผลประโยชน์และความต้องการสูง โดยเฉพาะแปลงทำเลทอง จึงอยากให้ทำอะไรก็ตามควรสร้างประโยชน์สูงสุดให้ รฟท. ไม่ใช่ SRTA ได้ประโยชน์สูงสุด เพราะต้องไม่ลืมว่า SRTA ถูกสร้างขึ้นเป็นเครื่องมือเพื่อทำให้ที่ดินเกิดประโยชน์สูงสุดกับ รฟท. และที่ดินเป็นหนึ่งในเรื่องที่จะฟื้นฟู รฟท.เพราะเป็นรายได้หลักที่จะมาแก้ขาดทุน ส่วนรายได้เดินรถ ต้องมีการช่วยเหลือประชาชนถือเป็นบริการ ดังนั้นหากการพัฒนา หารายได้จากที่ดินไม่สำเร็จ รถไฟจะไม่เหลืออะไรเลย

หลักการที่ว่าสร้าง SRTA ขึ้นมาเพื่อทำให้ที่ดิน รฟท.ให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อ SRTA แล้วค่อยปันผลจากกำไรให้ รฟท. นั้นไม่ถูกต้อง ตนห่วงวิธีคิดเรื่องนี้ที่สุด เพราะการเปลี่ยนผู้ให้เช่าที่ดินจาก รฟท.เป็น SRTA อาจไม่ใช่สมมติฐานที่ถูกต้อง หาก SRTA ยังไม่มีผลงาน และไม่เคยแสดงความเก่ง อุปมาเหมือนพ่อแม่มีลูกเกิดมา แต่ลูกยังไม่เคยทำอะไรให้เห็นผลงาน แต่มาขอสมบัติพ่อแม่ไปจัดการเอง พ่อแม่จะยอมหรือไม่

@สร้างวัฒนธรรมองค์กร-เปลี่ยนมาตรฐานการทำงาน

“ก่อนหน้าที่จะมาเป็นผู้ว่าฯ รฟท.ได้ยินว่าเป็นแดนสนธยาบ้าง องค์กรที่แตะต้องไม่ได้ แต่ยังมองแบบโลกสวย รถไฟอายุ 100 กว่าปีแล้ว ไม่ดีจะอยู่มาได้นานขนาดนี้อย่างไร แต่ไม่คิดว่าองค์กรจะมีปัญหามากขนาดนี้ ต้องเข้ามาปรับแนวคิด เปลี่ยนมาตรฐานการทำงาน แต่สิ่งหนึ่งที่คนรถไฟมีแล้วภายนอกไม่รู้ คือ คนรถไฟมีมาตรฐาน เพียงแต่ต้องหาวิธีให้คนรถไฟสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพตามมาตรฐานที่แต่ละคนมี และควรจะเป็น จึงนำระบบคุณธรรมมาใช้ในการแต่งตั้งโยกย้ายให้เกิดความเหมาะสม ใช้เวลา 4 ปีในการสร้างวัฒนธรรมองค์กร สร้างคน สร้างระเบียบวินัย ถือเป็น 4 ปีที่เป็นจุดเปลี่ยนองค์กรรถไฟ เพราะการทำงานให้สำเร็จ ผู้ปฏิบัติที่เกี่ยวข้องทุกส่วนมีความสำคัญ ทุกวันนี้มีความร่วมมือกัน ทำให้หลายเรื่องสำเร็จ แต่กว่าจะเป็นได้อย่างวันนี้ก็ต้องปรับมาหลายอย่าง และผู้นำถือเป็นศูนย์รวมจิตใจของการรถไฟฯ”

นายนิรุฒกล่าวว่า ที่เหลือต่อจากนี้เป็นเรื่องการซ่อมเพิ่มเติมในเรื่องที่ได้ทำมาแล้ว คน การสร้างมาตรฐานต่างๆ ยังต้องทำต่อไป พัฒนายกระดับบริการ ดูแลสถานีต่างๆ ให้มีความทันสมัย ความสะอาด ต้องปรับเปลี่ยน ไม่ใช่รัฐลงทุนสร้างสถานีใหม่สวยงาม แต่ยังใช้งานกันแบบเดิมๆ จะเสียของ เรื่องนี้เป็นเครดิตองค์กร เหมือนคนเก่งแต่แต่งตัวโทรม ไม่น่าเชื่อถือ ขณะที่คนไม่เก่งแต่แต่งตัวดี พูดอะไรก็มีคนเชื่อ ดังนั้นอยากให้การรถไฟฯ มีเครดิต มีภาพลักษณ์องค์กรที่ดี อะไรไม่ดีต้องยอมรับและปรับปรุง มีการเพิ่มคุณภาพชีวิตพนักงาน ที่ผ่านมาเข้าไปจัดระเบียบบ้านพักพนักงาน แก้ปัญหายึดครองและให้ญาติที่ไม่เกี่ยวข้องมาอยู่อาศัยบ้าง ก็ค่อยๆ ดำเนินการแก้ไข จนทำให้พนักงานที่ไม่มีบ้านพักได้มีโอกาสมีบ้านพัก คือต้องไม่ปล่อยให้มีการเอาเปรียบองค์กรโดยไม่เหมาะสม

@ผู้ว่าฯ คนใหม่ต้องกล้าตัดสินใจ และทำงานแบบเฉียบคม

นายนิรุฒกล่าวทิ้งท้ายว่า ตนเห็นว่าผู้ว่าฯคนใหม่ควรเป็นบุคคลที่กล้าและคม คือ มีความกล้าที่จะตัดสินใจ และมีความคมในการใช้อำนาจตัวเอง ดังนั้น การตัดสินใจดีและถูกต้อง ต้องรู้จริงทั้งกฎหมาย ระเบียบ ประโยชน์องค์กร การดำเนินตามนโยบายต้องรู้และพิจารณาได้อย่างรอบคอบ ไม่เช่นนั้นจะบริหารองค์กรที่มีภาระขาดทุนเป็นแสนล้านบาท ให้เดินหน้าต่อไปลำบาก และอาจทำให้องค์กรเสียหายได้


กำลังโหลดความคิดเห็น