xs
xsm
sm
md
lg

ผวาสหรัฐฯ-จีนเดินละเมอเข้าสู่สงครามโลกครั้งที่3 จากการประจันหน้ากันในทะเลจีนใต้กลางเดือนมิ.ย.นี้

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: บ็อบ ซาวิค


เรือที่ระบุกันว่าเป็นเรือประมงของจีน แต่ฝ่ายฟิลิปปินส์กล่าวหาว่าเป็นส่วนหนึ่งของกองกำลังอาวุธท้องถิ่นของแดนมังกร จอดเรียงรายกันในบริเวณใกล้ๆ เกาะปะการังวิตซันรีฟ (Whitsun Reef) หนึ่งในน่านน้ำพิพาทระหว่างจีนกับฟิลิปปินส์ในทะเลจีนใต้ ในภาพนี้ซึ่งถ่ายเมื่อเดือนธันวาคม ปี 2023 (ภาพถ่ายและเผยแพร่โดยหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์)
(เก็บความจากเอเชียไทมส์ www.atimes.com)

Sleepwalking toward WWIII in the South China Sea
By BOB SAVIC
04/06/2024

ความตึงเครียดระหว่างสหรัฐฯกับจีนในทะเลจีนใต้ ที่มีฟิลิปปินส์อยู่ตรงกลางอย่างน่ากลัวอันตรายยิ่ง ทำท่าจะมีโอกาสกลายเป็นการประจันหน้ากันมากขึ้นเรื่อยๆ ตั้งแต่ช่วงกลางเดือนมิถุนายนนี้ สถานการณ์เช่นนี้อาจจะกำลังไหลเอื่อยๆ เข้าสู่ “ชั่วขณะแห่งชนวนมหาสงคราม” อย่างเดียวกับที่เคยเกิดขึ้นมาเมื่อเดือนมิถุนายน ปี 1914

จีนประกาศความตั้งใจของพวกเขา ที่จะบังคับใช้กฎระเบียบฉบับหนึ่งซึ่งมีสาระสำคัญว่า แดนมังกรจะจับกุมคนสัญชาติต่างประเทศที่ล่วงล้ำเข้าไปในน่านน้ำต่างๆ ในทะเลจีนใต้ ซึ่งจีนอ้างกรรมกรรมสิทธิ์อยู่ ความเคลื่อนไหวเช่นนี้อาจกลายเป็นการจุดชนวนทำให้เกิดการประจันหน้าทางทหารโดยตรงกับสหรัฐอเมริกาทีเดียว ทั้งนี้กฎระเบียบฉบับดังกล่าว ซึ่งมีชื่อเรียกว่า กฎระเบียบฝ่ายบริหารเพื่อการบังคับใช้กระบวนวิธีดำเนินการสำหรับหน่วยงานยามฝั่งต่างๆ (Administrative Law Enforcement Procedures for Coast Guard Agencies) จะเริ่มมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายน 2024 เป็นต้นไป

เหตุการณ์กระทบกระทั่งอย่างรุนแรงระหว่างฟิลิปปินส์ ที่เป็นพันธมิตรของสหรัฐฯ กับประเทศจีน กำลังเขม็งเกลียวขึ้นเรื่อยๆ ในระยะไม่กี่เดือนที่ผ่านมา คลิปวิดีโอบันทึกเหตุการณ์อันน่าตื่นเต้นโดยฝีมือของโทรทัศน์ช่องข่าว “สกาย นิวส์” (Sky News) ของสหราชอาณาจักร แสดงให้เห็นเรือขนาดใหญ่ของหน่วยยามฝั่งจีน (Chinese Coast Guard) หลายต่อหลายลำ กำลังใช้เครื่องฉีดน้ำแรงสูงเครื่องใหญ่ทรงพลัง เล่นงานใส่เรือของหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์ลำหนึ่งที่มีขนาดเล็กกว่า ในบริเวณน่านน้ำที่สองประเทศพิพาทกันอยู่รอบๆ สันดอน สคาร์โบโร (Scarborough Shoal)

ก่อนหน้านั้นไม่นานนัก ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ ได้พบปะกับประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ และนายกรัฐมนตรีฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น ในวอชิงตัน ดีซี เพื่อหารือกันในเรื่องความมั่นคงปลอดภัยของภูมิภาค ทั้งนี้ ไบเดนได้ย้ำยืนยันว่าให้ความสนับสนุน “แบบหุ้มเกราะแข็งแกร่ง” แก่แดนตากาล็อก ภายใต้ข้อกำหนดต่างๆ ในสนธิสัญญาเพื่อการป้องกันร่วมกันระหว่างสหรัฐฯ-ฟิลิปปินส์ ซึ่งก็รวมไปถึงการพิทักษ์ปกป้องเรือต่างๆ ของหน่วยยามฝั่งที่ตกอยู่ใต้การโจมตีด้วยกำลังอาวุธในทะเลจีนใต้ด้วย

เนื่องจากตามสนธิสัญญาฉบับนี้ การโจมตี “ด้วยกำลังอาวุธ” เช่นว่านี้ จะต้องมีการรายงานไปยังคณะมนตรีความมั่นคงแห่งสหประชาชาติในทันทีที่เกิดเหตุขึ้นมา แต่การใช้เครื่องฉีดน้ำแรงสูงของจีนเช่นนี้ ถึงแม้มีศักยภาพที่อาจทำให้เกิดการบาดเจ็บถึงแก่ชีวิตได้ แต่จวบจนถึงเวลานี้ก็ยังไม่เคยถูกรายงานในลักษณะดังกล่าว แน่นอนทีเดียว ฟิลิปปินส์ยังไม่ได้ยื่นรายงานเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่ สกาย นิวส์ ถ่ายลงวิดีโอเอาไว้นี้ ต่อทางคณะมนตรีความมั่นคงยูเอ็นเช่นกัน

กระนั้น ณ เวทีการสนทนาความมั่นคงแชงกรีลา (Shangri-la Security Dialogue) ซึ่งจัดขึ้นที่สิงคโปร์ตอนสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา มาร์กอสได้ประกาศเอาไว้ว่า “ถ้าพลเมืองชาวฟิลิปปินส์สักคนหนึ่งถูกสังหารด้วยพฤติการณ์ที่เป็นการจงใจแล้ว นั่นก็ใกล้เคียงมากๆ กับสิ่งที่เราให้คำจำกัดความว่าเป็นพฤติการณ์ของสงคราม นี่ถือเป็นเส้นสีแดงที่ห้ามล่วงละเมิดใช่หรือไม่? มันแทบจะแน่นอนทีเดียวว่าเป็นเช่นนั้น”

เส้นสีแดงนี้มีหวังจะยิ่งแดงเข้มข้นขึ้นอีกตั้งแต่วันที่ 15 มิถุนายนนี้ เนื่องจากการจับกุมใดๆ ที่เกิดขึ้นจากการบังคับใช้กฎระเบียบใหม่ของฝ่ายจีน น่าจะกระทำโดยมีการใช้อาวุธปืนจี้บังคับ ซึ่งยิ่งเพิ่มทวีความเสี่ยงที่จะเกิดเหตุการณ์บาดเจ็บล้มตายขึ้นมา

ประธานาธิบดีโจ ไบเดน ของสหรัฐฯ (กลาง) เดินนำนายกรัฐมนตรี ฟูมิโอะ คิชิดะ ของญี่ปุ่น (ขวา) และประธานาธิบดีเฟอร์ดินานด์ มาร์กอส จูเนียร์ ของฟิลิปปินส์ (ซ้าย) ไปยังสถานที่ประชุมซัมมิตไตรภาคี ณ ทำเนียบขาว ในวอชิงตัน ดีซี เมื่อวันที่ 11 เมษายน 2024
มาร์คอส จูเนียร์ พูดถึงการบังคับใช้กฎระเบียบของจีนคราวนี้ว่า เป็น “การทำให้เรื่องบานปลาย” และ “แตกต่าง” ไปจากสิ่งทั้งหลายที่ปักกิ่งได้เคยบังคับใช้ก่อนหน้านี้ ในอาณาบริเวณทางทะเลอันทรงความสำคัญทางยุทธศาสตร์และมีการแก่งแย่งแข่งขันกันแห่งนี้ ซึ่งจีนประกาศอ้างกรรมสิทธิ์เป็นเนื้อที่ถึงเกือบๆ 90% ทีเดียว ตาม “แผนที่เส้นประ 9 เส้น” ของพวกเขา

หากมะนิลาถูกบีบบังคับให้ร้องขอความช่วยหลือจากฝ่ายอเมริกันโดยอาศัยอำนาจในสนธิสัญญาป้องกันร่วมกันระหว่างประเทศทั้งสองแล้ว มันก็ไม่เป็นการลำบากเลยที่จะจินตนาการได้ว่าเรือยามฝั่งของจีนจะต้องเกิดการเผชิญหน้าอย่างรวดเร็วกับเรือรบสหรัฐฯซึ่งเวลานี้ก็ถูกส่งออกมาแล่นตรวจการณ์ในอาณาบริเวณนี้อยู่แล้ว ด้วยเหตุผลข้ออ้างว่าเพื่อสำแดงเสรีภาพในการเดินเรือ

ทั้งนี้ ไบเดนน่าที่จะแสดงการตอบสนองในเชิงยืนกรานหนุนหลังมะนิลา ถ้าเกิดเหตุการณ์ดังกล่าวขึ้น ไม่เช่นนั้นแล้วก็มีความเสี่ยงที่จะเพิ่มความวิตกกังวลให้แก่พวกพันธมิตรของอเมริกันที่วอชิงตันได้ทำข้อตกลงความมั่นคงอย่างเป็นทางการเอาไว้ ซึ่งเวลานี้ต่างอยู่ในอาการร้อนรนกระวนกระวายกันอยู่แล้ว –โดยรวมไปถึงพวกรัฐสมาชิกในองค์การสนธิสัญญาป้องกันแอตแลนติกเหนือ (นาโต้) ด้วย

นอกจากนั้นแล้ว การที่วอชิงตันแสดงท่าทีว่ามุ่งโฟกัสอยู่ที่ภูมิภาคอินโด-แปซิฟิก ในเวลาที่ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้กำลังทำท่าลุกลามออกไปเรื่อยๆ เช่นนี้ ยังได้รับการตอกย้ำจากการที่รัฐมนตรกลาโหมสหรัฐฯ ลอยด์ ออสติน ได้กล่าวเน้น ณ เวทีประชุมแชงกรีลา ในสิงคโปร์คราวนี้ว่า “ถึงแม้เกิดการปะทะขัดแย้งกันเป็นประวัติการณ์ทั้งในยุโรปและตะวันออกกลาง แต่อินโด-แปซิฟิก ยังคงเป็นยุทธบริเวณการปฏิบัติการที่เราให้ความสำคัญเป็นลำดับต้นๆ”

เรื่องนี้เรียกเสียงตอบโต้อย่างหยามหยันจาก พล.โท จิง เจี้ยนเฟิง (Jing Jianfeng) ของจีนว่า ยุทธศาสตร์อินโด-แปซิฟิกของสหรัฐฯนั้น มีเจตนา “ที่จะสร้างความแตกแยก, ยั่วยุให้เกิดการประจันหน้ากัน, และบ่อนทำลายเสถียรภาพ”

เมื่อพิจารณาจากคำประกาศของ ออสติน ในเรื่องการหวนกลับมาโฟกัสที่อินโด-แปซิฟิก กันอีกครั้ง มันก็ดูเป็นไปได้อย่างมากว่า การร้องขอความช่วยเหลือทางทหารใดๆ จากสหรัฐฯของฟิลิปปินส์ จะได้รับการพิจารณาในวอชิงตันด้วยสายตาที่เป็นไปในทางบวก บางทีกระทั่งได้รับความสนับสนุนอย่างท่วมท้นจากทั้ง 2 พรรคใหญ่ นั่นคือ พวกเดโมแครตและพวกรีพับลิกัน ในรัฐสภาด้วยซ้ำไป

น่าสนใจมากที่ว่า สหราชอาณาจักร หนึ่งในพันธมิตรผู้เหนียวแน่นที่สุดของวอชิงตัน ซึ่งเวลานี้กำลังมีทรัพยากรทางนาวีอย่างสำคัญ ส่งออกมาประจำการอยู่ในทะเลจีนใต้ด้วย อาจจะกำลังตระเตรียมตัวเองให้พรักพร้อมสำหรับสิ่งที่อาจเกิดขึ้นมาได้ดังกล่าวนี้เช่นกัน

ตอนที่นายกรัฐมนตรี ริชี ซูแน็ก ของสหราชอาณาจักร ประกาศอย่างฉับพลันชนิดไม่เป็นที่คาดคิดกันมาก่อนว่าจะจัดให้มีการเลือกตั้งทั่วไปกันใหม่ในวันที่ 4 กรกฎาคม –อย่างน้อยที่สุดก็เป็นเครื่องแสดงออกถึงการที่สหราชอาณาจักรมีผลประโยชน์ต่างๆ ร่วมอยู่กับอเมริกา ณ วันประกาศเอกราชของฝ่ายหลัง – เขาก็ยื่นข้อเสนอในเวลาใกล้เคียงกันให้คนวัยหนุ่มสาวของประเทศเข้ารับใช้ชาติ (national service) ซึ่งมองได้ว่าเป็นการตระเตรียมสำหรับรับสงคราม และเป็นไปได้ว่า โดยเฉพาะสงครามในทะเลจีนใต้

นอกเหนือจากคลื่นช็อกใหญ่โตชนิดสร้างความหายนะทั้งในทางการเงินและทางเศรษฐกิจไปทั่วโลก ซึ่งน่าจะเกิดขึ้นมาจากการประจันหน้าทางการทหารโดยตรงใดๆ ระหว่างสหรัฐฯ-จีนแล้ว เรื่องนี้อาจจะเป็นการสู้รับขัดแย้งที่วอชิงตันกำลังเตรียมตัวให้พรักพร้อมเพื่อรับมืออยู่แล้วก็เป็นได้ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับปัจจัยข้อสำคัญประการหนึ่งในเรื่องของการต้องจำกัดควบคุมขอบเขตเอาไว้ให้สำเร็จ นั่นก็คือ การประจันหน้าทางการทหารโดยตรงใดๆ จะต้องให้จำกัดอยู่แต่เฉพาะภายในอาณาบริเวณทะเลจีนใต้เท่านั้น

มันอาจจะไม่กลายเป็นฉากทัศน์แบบที่สถานการณ์ลามปามแผ่ขยายออกไปไกลก็เป็นไปได้ เมื่อเราลองพิจารณาจากเหตุการณ์สงครามเกาหลีช่วงปี 1950-53 ระหว่างการสู้รบขัดแย้งครั้งนั้น ทหารสหรัฐฯราว 2 ล้านคน สู้รบอย่างดุเดือดเลือดพล่านกับทหารจีน 3 ล้านคน และทหารโซเวียตอีก 100,000 คน เคียงข้างกับพันธมิตรเกาหลีใต้และเกาหลีเหนือของแต่ละฝ่ายตามลำดับ

กระนั้น มันก็เป็นการสู้รบขัดแย้งที่ถูกจำกัดควบคุมเอาไว้ ทั้งโดยพวกผู้นำของสหรัฐฯ, จีน, และโซเวียตในตอนนั้น ซึ่งก็คือ ทรูแมน, เหมา, และสตาลิน ตามลำดับ โดยให้เกิดการรบรากันอยู่ภายในขอบเขตพื้นที่ของคาบสมุทรเกาหลีเท่านั้น ซึ่งเป็นการตั้งอกตั้งใจหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการกระเซ็นหกรดไปสู่บริบทที่กว้างขวางออกไปทั่วโลกของสงครามเย็น ที่ในเวลานั้นยังคงเป็นเรื่องใหม่เพิ่งเริ่มต้นขึ้นมาไม่นาน

คงได้แต่ตั้งความหวังกันเอาไว้ว่า การติดต่อทางการทูตที่ยังคงดำเนินไปอย่างต่อเนื่องในพื้นที่แห่งความร่วมมือกันอันหลากหลายระหว่างสหรัฐฯกับจีนจะเป็นฝ่ายมีชัย และสามารถปัดเป่าหลีกเลี่ยงไม่ให้เกิดการสู้รบขัดแย้งโดยตรงทางการทหาร ซึ่งก็รวมไปถึงสงครามระดับยุทธบริเวณที่มีขอบเขตจำกัดด้วย อย่างไรก็ตาม เราย่อมไม่ควรวาดหวังอย่างหยาบๆ ลวกๆ ว่าจะเกิดผลลัพธ์ในทางสันติขึ้นมาอย่างง่ายๆ

ความตึงเครียดในทะเลจีนใต้ –ยังไม่ต้องเอยถึงในไต้หวัน ที่อยู่ประชิดติดกัน— กำลังบานปลายขยายตัวไปอย่างรวดเร็วแทบจะเป็นรายวัน ความเขม็งเกลียวทางการค้าระหว่างปักกิ่งกับวอชิงตันก็กำลังเพิ่มทวีขึ้นเรื่อยๆ เช่นกัน จากการที่สหรัฐฯใช้มาตรการแซงก์ชั่นไม่ให้มีการส่งออกเทคสหรัฐฯไปยังจีนมากขึ้นทุกที แถมยังประกาศขึ้นภาษีศุลกากรแบบมุ่งลงโทษเอากับการนำเข้าเทคโนโลยีเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมจากจีน โดยรวมถึงพวกรถยนต์อีวีด้วย

เวลาเดียวกัน ในแวดวงต่างๆ ของฝ่ายตะวันตก เสียงกล่าวหาโจมตีเรื่องที่ประธานาธิบดีสี จิ้นผิง ของจีน ให้ความสนับสนุนการทำสงครามยูเครนของประธานาธิบดีวลาดิมีร์ ปูติน แห่งรัสเซีย ก็ดูเหมือนเพิ่มดีกรีความเข้มข้นยิ่งขึ้นเรื่อยๆ นี่ย่อมรวมไปถึงการที่รัฐมนตรีกลาโหมสหราชอาณาจักร ยังคงกล่าวอ้างโดยไม่มีการแสดงหลักฐานยืนยันว่า จีนกำลังจัดหาจัดส่งสัมภาระทางการทหารต่างๆ ไปให้แก่รัสเซียโดยตรง

ยิ่งกว่านั้น รัฐมนตรีช่วยต่างประเทศของสหรัฐฯ เคิร์ต แคมป์เบลล์ (Kurt Campbell) ก็เพิ่งออกมากล่าวหาว่า ความสนับสนุนที่ได้รับจากจีนนั่นเอง กำลังส่งผลทำให้กองทัพรัสเซียได้รับการสรรค์สร้างขึ้นมาใหม่ ในรูปของการมีทั้งโดรน, ปืนใหญ่, ขีปนาวุธทางยุทธวิธีที่ยิงไปถึงเป้าหมายได้ไกลๆ, ตลอดจนความสามารถในการตรวจจับเฝ้าติดตามความเคลื่อนไหวต่างๆ ในสนามรบ

“นี่คือความพยายามอย่างรอบด้านและอย่างยั่งยืนที่ได้รับการหนุนหลังจากคณะผู้นำในประเทศจีน ซึ่งถูกวางแผนขึ้นมาเพื่อให้ความสนับสนุนทุกสิ่งทุกอย่างแก่รัสเซียอยู่หลังฉาก” แคมป์เบลล์ กล่าวเน้นๆ ระหว่างการไปเยือนกรุงบรัสเซลส์เมื่อสิ้นเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา

เราย่อมไม่สามารถเพียงแค่ปฏิเสธไม่ยอมมองถึงอันตรายที่ปรากฏขึ้นมาในเวลานี้ จากการที่สหรัฐฯ-จีนเป็นปรปักษ์กันในแนวรบหลากด้านหลายปริมณฑล อันเป็นสถานการณ์ที่คล้ายกันมากทีเดียวกับสิ่งที่เคยเกิดขึ้นมาในช่วงก่อนหน้าที่สงครามโลกครั้งที่หนึ่งจะระเบิดขึ้น ในเวลาที่พวกมหาอำนาจยุโรปทั้งหลายต่างต่อสู้เพื่อแย่งชิงฐานะอันเหนือล้ำกว่าใครๆ ในทวีปดังกล่าว

เรือยามฝั่งของจีนใช้เครื่องฉีดน้ำแรงสูง พ่นน้ำอัดใส่เรือลำเลียงสัมภาระของกองทัพเรือฟิลิปปินส์ ที่กำลังแล่นเข้าไปใกล้ สันดอน เซคันด์ โธมัส โชล (Second Thomas Shoal) อีกหนึ่งน่านน้ำพิพาทช่วงชิงระหว่างประเทศทั้งสองในทะเลจีนใต้ เมื่อวันที่ 10 ธันวาคม 2023 (ภาพถ่ายและเผยแพร่โดยหน่วยยามฝั่งฟิลิปปินส์)
ในสภาพแวดล้อมของทุกวันนี้ ที่เกิดการแตกขั้วแบ่งข้างและมีการสั่งสมกำลังทหารในระดับที่น่าหวั่นกลัวพอๆ กัน เป็นเรื่องสำคัญอย่างยิ่งยวดที่จะต้องจำแนกแยกแยะให้พบพวกจุดที่อาจกลายเป็นชนวนปะทุและหาทางบรรเทายับยั้ง ก่อนที่มันอาจจะระเบิด –ไม่ว่าจะโดยอุบัติเหตุหรือเป็นความจงใจ --กลายเป็นการสู้รบขัดแย้งระดับภูมิภาคซึ่งสะเทือนฟ้าสะท้านดินและส่งผลเป็นความหายนะขึ้นมา

ชนวนที่ทำให้สงครามโลกครั้งแรกระเบิดตูมตาม เกิดขึ้นเมื่อวันที่ 28 มิถุนายน 1914 ด้วยเหตุการณ์ลอบสังหารอาร์ชดยุก ฟรานซ์ เฟอร์ดินานด์ (Archduke Franz Ferdinand) แห่งออสเตรีย ในประเทศทางยุโรปตะวันออกเฉียงใต้ประเทศหนึ่ง ในคราวนี้ ชนวนอาจจะเป็นการเสียชีวิตของทหารเรือชาวฟิลิปปินส์สักคนหนึ่งในน่านน้ำทะเลจีนใต้

สหรัฐฯและจีนจักต้องทำให้เป็นที่แน่ใจได้ว่า พวกเขาจะไม่เดินละเมอขณะหลับใหลเข้าสู่โศกนาฏกรรมซ้ำรอยเหตุการณ์เมื่อปี 1914 อีกคำรบหนึ่ง ณ ครึ่งหลังของเดือนมิถุนายน 2024 หรือ ณ ช่วงเวลาใดๆ ก็ตามที ในอนาคตข้างหน้านี้

บ็อบ ซาวิค เป็นหุ้นส่วนรายหนึ่งของ เอแพคยูโรเทรด (ApacEuroTrade LLP) ทำหน้าที่ให้คำปรึกษาเกี่ยวกับยุทธศาสตร์ทางการค้าต่างๆ ในเอเชีย-แปซิฟิก เขายังเป็นนักวิจัยอาวุโสอยู่ที่สถาบันนโยบายทั่วโลก (Global Policy Institute) ซึ่งตั้งฐานอยู่ในสหราชอาณาจักร รวมทั้งเป็นอาจารย์รับเชิญของมหาวิทยาลัยนอตติงแฮม (Nottingham University), สหราชอาณาจักร ซาวิค เขียนเรื่องทางด้านความสัมพันธ์ระหว่างประเทศ โดยหนังสือเล่นใหม่ของเขาที่มีชื่อว่า The Re-emergence of China – The New Global Era, จัดพิมพ์โดย World Scientific ในสิงคโปร์
กำลังโหลดความคิดเห็น