xs
xsm
sm
md
lg

“หมอปัตพงษ์” เสียดายคนไทยจำนวนมากไม่รู้ว่าการสูบกัญชาเป็นวิธีการหนึ่งในการรักษาโรค

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



“หมอปัตพงษ์” ชี้เป็นเรื่องน่าเสียดายที่คนไทยจำนวนมากไม่รู้ว่าการสูบกัญชาเป็นวิธีการหนึ่งในการรักษาโรค มีความพยายามรณรงค์สร้างลบว่าการสูบกัญชาคือการใช้เพื่อสันทนาการต้องห้ามปราม ต้องเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด จับคนสูบกัญชาไปขังคุก แต่ในความเป็นจริงแล้วการสูบกัญชามีประโยชน์ทางการแพทย์มากมาย

รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น เขียนบทความเรื่อง “น่าเสียดายที่คนไทยจำนวนมากไม่รู้ว่า การสูบกัญชาเป็นวิธีการหนึ่งในการรักษาโรค” มีรายละเอียดดังนี้

มีความพยายามที่จะรณรงค์สร้างภาพลักษณ์เชิงลบต่อกัญชา ทำนองว่า การสูบกัญชา คือ การใช้เพื่อสันทนาการ ต้องห้ามปราม เราสนับสนุนกัญชาทางการแพทย์เท่านั้น ดังนั้น “ต้องเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด” (และจับคนสูบกัญชาไปขังคุก?) แต่ในความเป็นจริงแล้ว “การสูบกัญชา” มีประโยชน์ทางการแพทย์มากมาย เราลองมาพิจารณาเรื่องนี้กันอย่างละเอียดและสำรวจตรวจตราความจริงอีกด้านกันก่อน ดีไหม?

การสูบกัญชาเป็นวิธีการหนึ่งในการรักษาโรค
มีกรณีศึกษาและงานวิจัยพิสูจน์แล้วว่า การสูบกัญชาเป็นวิธีการหนึ่งในการรักษาบรรเทาอาการเจ็บป่วยได้ผลดีจริง

กรณีศึกษา
คุณพงษ์พัฒน์ (ไก่ เดินวนฟาร์ม) อายุ 33 ปี ที่อำเภอเมืองจังหวัดขอนแก่น เขาเคยเสพติดยาบ้า จนมีอาการรุนแรง ถึงขั้นจะทำร้ายมารดา เมื่อหันมาสูบกัญชา กลับสามารถเลิกเสพยาบ้าได้ และทำธุรกิจปลูกผักปลอดสารพิษและรับซ่อมคอมพิวเตอร์ ปัจจุบันถูกเชิญให้เป็นวิทยากรของโรงเรียนประถม คุณไก่ยืนยันว่าใช้กัญชาแล้ว ไม่มีหลอน สามารถหยุดยาบ้าได้ใน 7 วัน และจะช่วยลืมสารเสพติดทุกอย่างได้ภายใน 3 เดือน [1][2]

สมาคมกัญชาจังหวัดขอนแก่นเผยแพร่ เรื่องของเด็กหนุ่มที่อำเภอภูเวียง จังหวัดขอนแก่น อายุ 21 ปี เสพยาบ้า จนมีอาการหลอน ถ้าไม่ได้เสพจะมีอาการฉุนเฉียว ด่อทอ แม่และยาย ไม่กิน ไม่นอน โชคดีที่มีสารวัตรตำบล แนะนำให้สูบกัญชา สลับกับการดื่มน้ำหวาน ปัจจุบันสามารถเลิกยาบ้าได้ ไปทำงานรับจ้างในกรุงเทพฯ ส่งเงินให้แม่และยายใช้ เดือนละ 1,500 บาท และปัจจุบันก็เลิกสูบกัญชาแล้ว [3]

คุณโกเมน ป่วยเป็นโรคจิต ชนิดอารมณ์สองขั้ว รักษาโดยกินยาแผนปัจจุบันหลายชนิด แต่อาการกลับทรุดลง ลุกไม่ได้ ทำงานทำการไม่ได้ หากินไม่ได้ มือสั่นไหว กลายเป็นผู้ป่วยติดเตียง อยู่นาน 1 เดือน เขารับสภาพนี้ไม่ได้ จึงหันมาสูบกัญชา ปรากฏว่า อาการดีขึ้นเรื่อยๆ ตอนมีอารมณ์พุ่ง พอสูบกัญชาแล้ว อาการจะอ่อนลง ตอนมีอาการซึมเศร้า พอสูบกัญชาแล้วอารมณ์จะดีขึ้น สามารถไปออกกำลังกายในยิมได้นานถึงสามชั่วโมง ร่างกายแข็งแรง ตอนนี้สามารถลดยาจิตเวชลงได้ เหลือเพียงชนิดเดียว [4]
นายบาร์เร็ท ทอมสัน ทหารผ่านศึกชาวอเมริกัน เป็นโรคเครียดรุนแรง เพราะฝันร้ายตลอดเวลา กลัวข้าศึกจะมาฆ่าเขา จนเขาถึงกับคิดจะฆ่าตัวตาย แต่เมื่อเขาหันมาสูบกัญชา อาการต่างๆก็ดีขึ้น และไม่คิดฆ่าตัวตายอีก เขากล่าวว่า “กัญชาช่วยรักษาชีวิตเขาไว้” [5]

คนอิสราเอล นิยมสูบกัญชารักษาโรค
ประสบการณ์ของประเทศอิสราเอล ซึ่งถือว่าเป็น เมืองหลวงของโลก ด้านการวิจัยกัญชา แก้กฎหมายกัญชามาแล้วมากกว่า 20 ปี พบว่า “การสูบกัญชา” เป็นวิธีการรักษาบรรเทาโรคอย่างหนึ่งที่คนไข้นิยมและได้ผลดีมาก บางผลิตภัณฑ์ ที่มีทีเอชซี 18% ผู้ป่วยนิยมใช้สูบ สูงถึง ร้อยละ 87 [6] (ดูรายละเอียดตอนท้าย)

ประเทศอิสราเอลมีแต่ทะเลทราย เป็นผู้นำของโลกเรื่องกัญชาได้ เพราะนำสายพันธุ์กัญชาจากประเทศไทยไปปลูกและปรับปรุงสายพันธุ์ รวมทั้งเอาคนไทยไปช่วยปลูก ดูแล ต้นกัญชาอีกด้วย

บุหรี่ ยาเสพติด ก่อมะเร็ง แต่ทำไมคนไทยยอมให้ขายได้ทุกหัวมุมถนน
ในขณะที่บุหรี่มีฤทธิ์เสพติดรุนแรง ก่อโรคสารพัด รวมทั้งโรคมะเร็งในหลายอวัยวะ เป็นสาเหตุการป่วยและการตายของคนไทยอันดับหนึ่งมาหลายปี [7]

คนไทย 9 ล้านคนเสพติดบุหรี่ ในนี้เป็นเยาวชนสูงถึง 9 แสนคน เป็นลูกค้าถาวรของบริษัทขายบุหรี่ไปตลอดชีวิต [8] แต่ทำไมเรายอมให้มีร้านจำหน่ายบุหรี่อยู่ทุกมุมถนน

และยังไม่เห็นข่าวว่า คนที่บอกว่าตนห่วงใยสุขภาพเด็กไทย ใช้ความพยายามผลักดันจัดให้บุหรี่เป็นยาเสพติดแต่อย่างใด

หรือว่า การสูบบุหรี่ “เพื่อสันทนาการ” เป็นสิ่งที่เขายอมรับได้ ใช่หรือไม่?

คนอเมริกันสูบกัญชาเพิ่มขึ้น แต่สูบบุหรี่ลดลง และเป็นโรคมะเร็งปอดลดลง
ปัจจุบันที่ประเทศสหรัฐอเมริกา มี 24 มลรัฐ ที่มีกฎหมายกัญชาเสรี คนอเมริกันสูบกัญชามากขึ้น จากร้อยละ 11 ในปี พ.ศ.2545 เพิ่มขึ้นเป็น ร้อยละ 18 ในปี พ.ศ. 2565 [9]
ในขณะเดียวกัน แนวโน้มการสูบบุหรี่กลับลดลง ทุกกลุ่มวัย อย่างชัดเจน จากจำนวนบุหรี่ที่สูบปีละ 4 แสนล้านมวน ลดเหลือเพียง 2 แสนล้านมวน นั่นคือลดลงไปครึ่งหนึ่งภายในเวลา 20 ปี [10][11]

ที่น่าสนใจมาก คือ คนอเมริกันเป็นโรคที่เกิดจากการสูบบุหรี่ลดลงด้วย เช่น โรคมะเร็งปอดและหลอดลม มีแนวโน้มการเสียชีวิตลดลง จาก 55.4 รายต่อแสนคน ในปี ค.ศ.2542 เป็น 31.8 รายต่อแสนคน ในปี พ.ศ.2563 นั่นคือ ลดลงไปเกือบครึ่งหนึ่ง ในช่วงเวลา 20 ปี [12]

จึงทำให้อดสงสัยไม่ได้ว่า ที่รณรงค์ต่อต้านกัญชากันอย่างมากนั้น เพราะกลัวว่าถ้ามีคนใช้กัญชากันมากๆจะทำให้ขายบุหรี่และยารักษาโรคมะเร็งปอดได้น้อยลง จริงหรือไม่?

ศาสตราจารย์วิชา มหาคุณ ผู้จุดประกาย ให้ปลดปล่อยกัญชาออกจากคุก
กัญชาถูกนำไปขังคุกนานถึง 40 ปี ห้ามปลูก ห้ามใช้ ห้ามครอบครองใดๆ ท่านศาสตราจารย์วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เป็นผู้เสนอแนะให้สภานิติบัญญัติแห่งชาติ แก้ไข พรบ.ยาเสพติดให้โทษ ปี 2522 และมีท่านสมชาย แสวงการ ประธาน กมธ.เป็นผู้ผลักดัน จนผ่านมติของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เมื่อ วันที่ 25 ธันวาคม พ.ศ. 2561 เป็นจุดเริ่มต้นของการคลายล็อคกัญชาให้สามารถนำมาใช้ดูแลสุขภาพคนไทยได้อีกครั้ง

เมื่อท่านเห็นมีการรณรงค์ผลักดันจะเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติดอีกครั้ง ท่านไม่เห็นด้วย และกล่าวว่า

“...อย่าพยายามด้อยค่ากัญชา ...ไม่ควรเชื่อข้อมูลด้านเดียวของผู้ที่พยายามทำลายกัญชา...ให้กลับคืนสู่ระบบของยาเสพติดอีก...มันจะเสียของ...” [11]

ศาสตราจารย์วิชา มหาคุณ อดีตกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.)
ข้อคิดปิดท้าย
น่าเสียดายที่แพทย์ไทยและคนไทยจำนวนมาก ยังไม่รู้ว่า การสูบกัญชาเป็นวิธีการหนึ่งในการรักษาโรคและบรรเทาอาการต่างๆ ได้ดี และออกฤทธิ์เร็ว

กัญชาเป็นราชาแห่งยาสมุนไพร ที่มีคุณค่าสูง เป็นเครื่องมือช่วยผู้ป่วยให้พึ่งตนเองได้มากขึ้น

ต้องช่วยกันปกป้อง อย่าให้ใครเอาไปขังคุก และพรากไปจากมือของประชาชนอีก

หมายเหตุ
รายละเอียด ผลการวิจัย เรื่อง กัญชาทางการแพทย์ในประเทศอิสราเอล [6]

จากการติดตามผู้ป่วย จำนวน 8,560 คน พบว่า ผู้ป่วยที่ใช้กัญชา เป็นโรคต่อไปนี้ มะเร็ง (ร้อยละ 49.1), อาการปวด (ร้อยละ 29.4), ภาวะเครียดรุนแรง (ร้อยละ 6.4), ออติสติก (ร้อยละ 3.6), ลมชัก (ร้อยละ 2.7), พาร์กินสัน (ร้อยละ 2.5), ลำไส้แปรปรวน (ร้อยละ 2.2), ปลอกประสาทอักเสบ (ร้อยละ 0.9), ผู้ป่วยระยะสุดท้าย (ร้อยละ 0.6), กล้ามเนื้อใบหน้ากระตุก (ร้อยละ 0.6) และอื่นๆ (ร้อยละ 1.9)

อาการเป้าหมายที่ใช้กัญชารักษา ได้แก่ นอนไม่หลับ (ร้อยละ 79.1), ปวด (ร้อยละ 77.1), อ่อนเพลียไม่มีแรง (ร้อยละ 55.6), ปัญหาการย่อยอาหาร (ร้อยละ 47.6), วิตกกังวล (ร้อยละ 41.7), กระวนกระวาย (ร้อยละ 36.9), ซึมเศร้า (ร้อยละ 44.1), เบื่ออาหาร (ร้อยละ 44.1), คลื่นไส้ (ร้อยละ 36.1), เคลื่อนไหวลำบาก (ร้อยละ 35.4), ชามือชาเท้า (ร้อยละ 32.5), กล้ามเนื้อเกร็ง (ร้อยละ 29.4), วิงเวียนศีรษะ (ร้อยละ 23.9), อารมณ์ปั่นป่วน (ร้อยละ 23.7), ร้อนวูบวาบ (ร้อยละ 19.8), ปากแห้ง (ร้อยละ 19.5), ปวดศีรษะ (ร้อยละ 18.8), หายใจติดขัด (ร้อยละ 18.4), หลงลืม (ร้อยละ 15.1), มือสั่นตัวสั่น (ร้อยละ 14.4), คันตามตัว (ร้อยละ 14.3), อารมณ์ฉุนเฉียว (ร้อยละ 14.2), สายตาพร่ามัว (ร้อยละ 10.9)

บางผลิตภัณฑ์ที่มี สารทีเอชซี เด่น (18%) ผู้ป่วยนิยมใช้วิธีสูบ สูงถึงร้อยละ 87 ส่วนผลิตภัณฑ์ที่มี สารซีบีดี เด่น (15%) ผู้ป่วยนิยมใช้แบบหยดใต้ลิ้น ร้อยละ 67 และใช้วิธีสูบ ร้อยละ 15

ผลลัพธ์การรักษา ในระยะ 6 เดือน พบว่า ผู้ป่วยอาการดีขึ้นในระดับปานกลางถึงมาก และไม่มีอาการแทรกซ้อนใดๆ ร้อยละ 55.4 ถึง 90.8, คะแนนความปวด ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จากเฉลี่ย 6.7 คะแนน ลดเหลือ 3.4 คะแนน (คะแนนเต็ม 10)

นอกจากนี้ยังพบว่า คนไข้มีคุณภาพชีวิตดีขึ้น อย่างมีนัยสำคัญ จากเฉลี่ย 2.4 คะแนน เพิ่มเป็น 3.8 คะแนน (คะแนนเต็ม 5)

สามารถลดหรือหยุดใช้ยาชนิดต่างๆ ลงได้ ร้อยละ 9.7 ถึง 52.5

สามารถหยุดใช้ยามอร์ฟีน ลงได้ ร้อยละ 38.8

อ้างอิง:
[1] ผู้จัดการออนไลน์. เปิดอก! “ไก่ ขอนแก่น” หนุ่มวัย 33 ปี เลิกยาบ้าได้เด็ดขาด เพราะกัญชา. เผยแพร่ 29 พ.ย.2565.
https://mgronline.com/local/detail/9650000113695

[2] บ้านเมืองออนไลน์. "อดีตนักเสพยา 15 ปี" เจ้าของฟาร์ม "เดินวนฟาร์ม" ค้านคว่ำ พ.ร.บ.กัญชา ยกเป็นต้นไม้สวรรค์. เผยแพร่ 15 พ.ย.2565.
https://www.banmuang.co.th/news/politic/304600

[3] ผู้จัดการออนไลน์. เผยกรณีศึกษา ใช้กัญชารักษาคนเสพยาบ้า กลับมาสุขภาพแข็งแรง เป็นคนปกติได้. เผลแพร่ 2 ต.ค.2566.
https://mgronline.com/qol/detail/9660000088706

[4] เครือข่ายประชาสังคมกัญชาฯ แถลงการณ์เลือกตั้งอย่างมียุทธศาสตร์ ไม่เลือกพรรคเอากัญชากลับเป็นยาเสพติด.เผยแพร่: 7 พ.ค. 2566.
https://mgronline.com/politics/detail/9660000042018

[5] https://www.inquirer.com/philly/columnists/philly420/Philly420_Marijuana_PTSD_and_Pennsylvania_.html

[6] PMID: 35223923

[7] Thai PBS. สสส.- สธ. เปิด 5 ปัจจัยคนไทยตายก่อนแก่. 26 ธ.ค. 65
https://www.thaipbs.or.th/news/content/322948

[8] สำนักงานสภาการพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ. ตัวชี้วัดการพัฒนาสังคม. 2565. https://www.nesdc.go.th

[9] https://www.statista.com/statistics/264862/cannabis-consumption-in-the-us-since-2002/

[10]https://www.statista.com/statistics/1092860/cigarettes-sold-in-the-us/

[11] https://www.statista.com/chart/28835/smoking-rates-united-states-adults/

[12] https://www.statista.com/statistics/534456/lung-and-bronchus-cancer-death-rate-in-us/

[13] วิชา มหาคุณ. บรรยายใน การประชุมวิชาการคุ้มครองผู้บริโภค ครั้งที่ 2 ปี 2565 วันที่ 19 กรกฎาคม 2565.https://ccpe.pharmacycouncil.org/index.php?option=seminar_detail&subpage=seminar_detail&id=4197


กำลังโหลดความคิดเห็น