xs
xsm
sm
md
lg

เผยงานวิจัย ยากัญชาไทยรักษาเด็กโรคลมชักดื้อยา ได้ผลดีกว่ายาฝรั่ง จะช่วยประหยัดเงินได้สูงถึง 7.3 หมื่นล้านบาท

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"แพทย์ ม.ขอนแก่น" เผยผลวิจัย พบว่า กัญชา มีประสิทธิภาพ รักษาโรคลมชักที่ดื้อยาได้ผลดีกว่ายาฝรั่ง จะประหยัดเงิน ได้สูงถึง 7.3 หมื่นล้านบาท เป็นช่องทางสร้างอาชีพให้คนไทย หวั่นดึงกัญชากลับเป็นยาเสพติด กระทบผู้ป่วยเด็กโรคกลุ่มนี้เพราะหมอไม่สั่งจ่าย

รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ เกษสมบูรณ์ หน่วยเวชศาสตร์ครอบครัว คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยขอนแก่น ให้ความเห็นภายหลังมีความพยายามนำกัญชากลับเป็นยาเสพติดว่า จะสร้างอุปสรรคในการเข้ายากัญชาของผู้ป่วยและความก้าวหน้าในการวิจัยจะหยุดชะงัก

ในช่วง 2-3 ปี หลังประเทศไทย มีการค้นคว้าวิจัย และใช้ประโยชน์จากกัญชาในการรักษาโรคต่างๆ อย่างกว้างขวาง ส่วนสำคัญมาจากการที่ประเทศไทย ได้ปลดล็อกออกมาจากความเป็นยาเสพติด ทำให้กระบวนการต่างๆ ดำเนินได้คล่องตัว เรามีองค์ความรู้เกิดขึ้นมากมายในระยะหลัง
ตัวอย่างเช่น เรื่องของการใช้กัญชารักษาโรคลมชัก ซึ่งมีข่อบ่งชี้ทางการแพทย์ ว่ามีประสิทธิภาพในการรักษา นี่คือโอกาสของผู้ป่วย มีข้อมูลว่า ในประเทศไทย มีจำนวนคนเป็นโรคลมชัก ทั้งประเทศ 5 แสนคน เป็นเด็ก 1 ใน 3 หรือคิดเป็น 1.7 แสนคน [1]

ในกลุ่มเด็กที่เป็นโรคลมชัก พบการดื้อยาแผนปัจจุบัน ประมาณ 25,000 คน และนี่คือกลุ่มที่ กัญชา สามารถใช้เป็นทางเลือกในการรักษาได้

รศ.ดร.นพ.ปัตพงษ์ ให้ข้อมูลเพิ่มเติมอีกว่า การวิจัยในไทย โดย พญ.อาภาศรี ลุสวัสดิ์ และคณะ สนับสนุนโดยองค์การเภสัชกรรม พบว่า กัญชาที่มี “ซีบีดี” เด่น รักษาโรคนี้ได้ผลดีมาก และได้ผลดีกว่ายาของต่างประเทศ (ดูรายละเอียดด้านล่าง)

และที่สำคัญคือ มีต้นทุนอยู่ในราคาที่ต่ำมาก หากเทียบกับการใช้ยาฝรั่ง หากใช้ยากัญชา รักษาลมชัก จะมีค่าใช้จ่ายต่อหัวผู้ป่วยที่ 1.5 แสนบาท แต่หากใช้ยาตะวันตก จะใช้เงินรักษาต่อหัวที่ 3 ล้านบาทต่อคน นั่นคือ ถ้ารักษาทุกคนประเทศไทย จะต้องเสียเงินออกนอกประเทศ 7.7 หมื่นล้านบาท แต่ถ้าใช้ยากัญชา จะเสียเงินเพียง 1.5 แสนบาทต่อคน ถ้ารักษาทุกคนประเทศไทย จะใช้เงินเพียง 3.8 พันล้านบาท ประหยัดเงินได้สูงถึง 7.3 หมื่นล้านบาท

และแน่นอนว่า หากใช้ผลผลิตในประเทศ จะเป็นการสร้างงาน สร้างอาชีพ ให้กับพี่น้องเกษตรกรไทยด้วย ยังไม่นับมูลค่าและคุณภาพชีวิตที่ผู้ป่วย จะได้กลับคืนมาอีกมหาศาล

ทั้งนี้ หากมีการสนับสนุนให้ใช้กัญชารักษาโรคลมชัก กัญชา จะกลายมาเป็นพืชเศรษฐกิจ มีศักยภาพในการส่งออกไปขายทั่วโลก เม็ดเงินมหาศาลจะไหลกลับสู่ประเทศไทย

งานวิจัยของ พญ.อาภาศรี ลุสวัสดิ์ และคณะนี้ ช่วยยืนยันอีกครั้งว่า กัญชาช่วย “ปกป้องสมองเด็ก” ไม่ใช่ทำลายสมองเด็ก อย่างที่พยายามบิดเบือนกัน

การเอากัญชากลับไปเป็นยาเสพติด น่าจะกระทบกับคนไข้กลุ่มนี้ เพราะแพทย์จะไม่สั่งจ่าย

กรณีศึกษา
ทันตแพทย์หญิง ธัญญาพร “ลูกสาวเป็นโรคลมชัก ตั้งแต่อายุ 6 เดือน กินยากันชักหลายชนิดก็ไม่หยุดชัก ชักจนเขียว ต้องเหน็บยาทางทวาร 2 ครั้ง จนพ่อต้องลาออกจากงาน มาเฝ้าลูกที่โรงเรียน พอใช้ยากัญชา อาการชักค่อยๆดีขึ้น ตอนนี้ชักน้อยลงมาก ชักแค่สั้นๆ 40 วินาที ชักแบบหยุดนิ่ง ไม่มีกระตุก พ่อแม่ก็ได้คุณภาพชีวิตกลับคืนมาด้วย คุณครูก็ลดความกังวลไปมาก ถ้าต้องเสียเงิน 3 ล้านบาทก็คงไม่ไหว” (14 มีนาคม 2567)

ทันตแพทย์หญิง ธัญญาพร ลูกสาวหยุดชักได้เพราะยากัญชา
หมายเหตุ:รายละเอียดผลการวิจัยของ พญ.อาภาศรี ลุสวัสดิ์ และคณะ

พญ.อาภาศรี ลุสวัสดิ์ แห่งสถาบันประสาทวิทยา และคณะ สนับสนุนโดยองค์การเภสัชกรรม ทำวิจัยใน 20 โรงพยาบาลทั่วประเทศ ในเด็กโรคลมชักที่ดื้อยา หรือผู้ใหญ่ที่เคยชักมาตั้งแต่ตอนเป็นเด็ก อายุ 1-30 ปี แต่อาการไม่ดีขึ้น จำนวน 99 ราย (เป็นคนอายุมากกว่า 18 ปี จำนวน 10 ราย) ได้ยากันชักแผนปัจจุบัน ตั้งแต่สองชนิดขึ้นไปก็ไม่หายชัก [2]

นักวิจัยใช้ยากัญชาที่มี “ซีบีดี” เด่น (ซีบีดี ต่อ ทีเอชซี เท่ากับ 20 ต่อ 1) ค่อยๆเพิ่มขนาด ประเมินผลการรักษา ณ เวลา 3, 6, 9, 12 เดือน พบว่า ผลรักษาดีมาก ความถี่ในการชักลดลง ร้อยละ 50 ตั้งแต่ช่วง 3 เดือนแรก และลดลงมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงร้อยละ 68-73 ในเดือนที่ 12 ซึ่งถือว่าได้ผลดีกว่า ผลการศึกษาในต่างประเทศ ที่ลดได้เพียงร้อยละ 45-48 เท่านั้น

อภิปราย:
ความแตกต่างนี้น่าจะเป็นเพราะ ยากัญชาที่นักวิจัยต่างประเทศใช้นั้น มีเฉพาะ “ซีบีดี” เท่านั้น ดังนั้นในอนาคตข้างหน้า จึงควรมีการศึกษาวิจัยต่อว่า ถ้าเพิ่มสัดส่วนของ “ทีเอชซี” ให้สูงกว่านี้ ผลการรักษาจะยิ่งได้ผลดีกว่าเดิมหรือไม่
อีกทั้งมีบันทึกเมื่อ 200 ปีมาแล้ว ในประเทศอังกฤษ พบว่า ยากัญชามีสรรพคุณรักษาโรคลมชักได้ดี ซึ่งสมัยนั้นยังไม่มีใครรู้สัดส่วนของ “ซีบีดี” และ “ทีเอชซี” แต่อย่างใด [3]

อ้างอิง:

[1]https://www.childrenhospitalfoundation.or.th/epilepsydetail/

[2] องค์การเภสัชกรรม. งานประชุมเชิงปฏิบัติการ “การใช้สารสกัดกัญชาทางการแพทย์ในผู้ป่วยโรคลมชักในเด็ก” วันที่ 14 - 15 มีนาคม 2567 ณ โรงแรมมิราเคิล แกรนด์ คอนเวนชั่น กรุงเทพฯ.
https://web.facebook.com/share/v/dSLh35sRSiyJyPNq/

[3]Mikuriya TH. Marijuana in medicine: past, present and future. Calif Med. 1969 Jan;110(1):34-40. PMID: 4883504.


กำลังโหลดความคิดเห็น