"ชลน่าน" รับข้อเรียกร้องบุคลากร ย้ำทุกวิชาชีพ ทุกสายสำคัญ ยันปรับเงินเดือนเป็นนโยบายเพื่อไทย ปริญญาตรี 2.5 หมื่นบาท กำลังปรับแก้ ใส่กระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเลต 5 แสนล.ถ้าค่าจีดีพีโตกว่า 5% จะเอื้อปรับฐานเงินเดือนได้ ด้านนักวิชาการสาธารณสุข ยื่นขอช่วยเหลือ 8 ประเด็น เพิ่ "นักสาธารณสุข" ลงในกฎ ก.พ.เงินประจำตำแหน่ง หนุนแยกออกจาก ก.พ.
เมื่อวันที่ 22 ก.ย. นพ.ชลน่าน ศรีแก้ว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงสาธารณสุข (สธ.) รับหนังสือข้อเรียกร้องจากสมาพันธ์เครือข่ายสาธารณสุขและสิ่งแวดล้อมไทย สมาคมสหพันธ์สุขภาพและสิ่งแวดล้อม (ประเทศไทย) พร้อมด้วยกลุ่มภาคีเครือข่ายข้าราชการและกำลังคนทางด้านสาธารณสุข รวม 31 กลุ่ม ซึ่งมาติดตามความก้าวหน้าเกี่ยวกับการจัดบุคคลเข้าสู่ตำแหน่งนักสาธารณสุข และสิทธิสวัสดิการต่างๆ
นพ.ชลน่าน กล่าวว่า เป็นนโยบายของนายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี และนโยบายของ สธ.ในการยกระดับการบริการทางการแพทย์และสาธารณสุข โดยเฉพาะบุคลากรทุกระดับ ทั้งสายวิชาชีพ สายสนับสนุน หรือด่านหน้า กองหน้า กองกลาง กองหลัง ต้องเข้มแข็ง ขอให้มีความภาคภูมิใจในหน้าที่ วิชาชีพ มือห้านิ้วไม่เหมือนกัน ขาดนิ้วใดนิ้วหนึ่งไม่ได้ ไม่มีใครตัวเล็ก ทุกคนมีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์เท่าเทียมกัน มีภาระหน้าที่แตกต่างแต่สอดรับทำงานด้วยกัน เรื่องนี้สำคัญท่านปลัด สธ.รับนโยบายนี้แล้ว จะไปดูทุกเรื่องที่เกี่ยวกับบุคลากรของเรา การเข้าสู่ตำแหน่ง รวมถึงการเตรียมบุคคลเข้ามา ทั้งการเรียนการสอน การเข้าสู่ทำงาน มีตำแหน่งต่างๆรองรับ ค่าตอบแทน รายได้ที่ควรได้
"ข้อเรียกร้องเรื่องการปรับเงินเดือน เป็นนโยบายพรรคเพื่อไทย ยกระดับถึง 25,000 บาทระดับปริญญาตรี ภายใต้สภาวะเศรษฐกิจ ซึ่งกำลังปรับแก้อยู่ขณะนี้ อย่างการใส่ในกระเป๋าเงินดิจิทัลวอลเลต 5 แสนล้าน ถ้าค่าจีดีพีมากกว่า 5% ทุกอย่างจะหมุน การปรับฐานเงินเดือนจะตามมา วางแนวทั้งหมดแล้ว ส่วนรายละเอียดอื่นๆ ทั้งหมดจะดูให้ภายใต้การมีส่วนร่วม ผมตั้งใจว่าในแต่ละระดับจะเข้าไปดูเรื่องค่าตอบแทน สวัสดิภาพสวัสดิการ ภาระงาน ความก้าวหน้า เพราะตั้งใจให้พวกเราทำงานอย่างมีความสุข เพื่อให้เป็นต้นแบบ หากเราสุขภาพดี ประชาชนก็สุขภาพดี" นพ.ชลน่านกล่าว
ด้านนายอเนก ทิมทับ กลุ่มเครือข่ายนักวิชาการสาธารณสุข จ.นครปฐม กล่าวว่า ทางกลุ่มฯ มาเป็นตัวแทนนักวิชาการสาธารณสุข ปัจจุบันที่เป็นสมาชิกในสภาการสาธารณสุขชุมชนอยู่ที่ประมาณ 52,000 คน สอบใบประกอบวิชาชีพตามกฎหมายรองรับเป็น "นักสาธารณสุข" อยู่ประมาณ 2.7-2.8 หมื่นคน ซึ่งพวกตนเดินทางมาขอให้ นพ.ชลน่าน ช่วยเหลือในเรื่องของความคืบหน้าเกี่ยวกับประเด็นต่างๆ มีทั้งหมด 8 ประเด็น ซึ่งวันนี้ตัวแทนจากกลุ่มที่เกี่ยวข้องได้เข้ายื่นเรื่องแก่ รมว.สธ.แล้ว ประกอบด้วย ประเด็นที่ 1 ให้กระทรวงสาธารณสุขเร่งดำเนินการจัดคนลงในตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” โดยให้เป็นไปตาม พ.ร.บ.วิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน พ.ศ. 2556 ซึ่งมีผลใช้บังคับมานานนับ 10 ปี และให้เป็นไปตามมาตรา 62 แห่ง พ.ร.บ.ระเบียบข้าราชการพลเรือน พ.ศ. 2551 โดยที่ ก.พ. เห็นชอบให้ประกาศมาตรฐานกำหนดตำแหน่งนักสาธารณสุข เพิ่มขึ้นใหม่ มีผลนับแต่วันที่ 15 พ.ค. 2566
ประเด็นที่ 2 ให้เพิ่มชื่อตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” ลงใน กฎ ก.พ.ว่าด้วยเงินประจำตำแหน่ง ซึ่งเป็นขั้นตอนนำเสนอต่อ ครม. ประเด็นที่ 3 ให้บุคคลที่ดำรงตำแหน่งเจ้าพนักงาน ได้แก่ เจ้าพนักงานสาธารณสุข, เจ้าพนักงานทันตสาธารณสุข, เจ้าพนักงานเภสัชกรรม ฯลฯ ที่มีวุฒิปริญญาตรีด้านสาธารณสุขและมีใบประกอบวิชาชีพการสาธารณสุขชุมชน ให้เข้าสู่ตำแหน่ง “นักสาธารณสุข” เป็นกรณีพิเศษ ประเด็นที่ 4 ให้ “นักสาธารณสุข” ได้รับเงินประเภทค่าตอบแทนวิชาชีพ และ เงิน พ.ต.ส. หรือเงินตอบแทนอื่น ๆ อย่างเหมาะสมและเป็นธรรม ทัดเทียมทุกวิชาชีพทางการแพทย์และสาธารณสุข
ประเด็นที่ 5 ให้บรรจุกลุ่มพนักงาน พ.ก.ส. และกลุ่มลูกจ้าง ที่ตกหล่นจากสถานการณ์โควิด - 19 เป็นข้าราชการในสังกัด สธ. ประเด็นที่ 6 ให้ปรับโครงสร้างบัญชีเงินเดือนข้าราชการ กรณีเพดานเงินเดือนตันและมีความเหลื่อมล้ำ ประเด็นที่ 7 ให้ข้าราชการที่ครองตำแหน่งสายงานวิชาการสามารถเลื่อนขึ้นระดับชำนาญการพิเศษ ส่วนข้าราชการที่ครองตำแหน่งสายงานทั่วไปให้เลื่อนขึ้นระดับอาวุโส โดยไม่ยุบตำแหน่ง และประเด็นที่ 8 สนับสนุนนโยบาย รมว.สธ. เรื่อง แยกออกจาก ก.พ. ให้มีระเบียบบริหารราชการบุคลากรด้านการแพทย์และสาธารณสุขเอง
“พวกเรามีความคาดหวังว่า ต.ค.นี้ สธ.จะลงตำแหน่งให้เสร็จ และ พ.ย.จะได้เข้า ก.พ. เพื่อเสนอ ครม.ต่อไป ในเรื่องกำหนดเงินค่าวิชาชีพนักสาธารณสุข โดยพวกเราอยากขอให้เป็นของขวัญปีใหม่ 2567 นี้ ซึ่งจากการได้พบพูดคุยกับ รมว.สธ. นับว่าสัญญาณดีมาก ไม่ว่าจะเรื่องการพิจารณาปรับโครงสร้างตำแหน่งนักสาธารณสุข การปรับลงตำแหน่ง ทราบว่ากำลังดำเนินการ ซึ่งเราก็มีความหวังมากขึ้น” นายอเนก กล่าว