xs
xsm
sm
md
lg

“สุริยะ” คัมแบ็ก "คมนาคม" เข้าทำงานวันแรก 7 ก.ย. 66 จับตาแบ่งงาน 2 รมช.-แก้ปมร้อน "สายสีส้ม" เจ้าปัญหา

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



"สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ" คัมแบ็ก รมว.คมนาคม เตรียมเข้ากระทรวงฯ เป็นทางการ 7 ก.ย. 66 พร้อมมอบนโยบาย และแบ่งงาน 2 รัฐมนตรีช่วยฯ เดินหน้าขับเคลื่อนนโยบายเพื่อไทย จับตาแก้ปมร้อน "สายสีส้ม" เจ้าปัญหา

รายงานข่าวเปิดเผยว่า เมื่อวันที่ 2 ก.ย. 2566 เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษาเผยแพร่พระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งคณะรัฐมนตรีชุดใหม่ ที่มีนายเศรษฐา ทวีสิน เป็นนายกรัฐมนตรี หลังจากนี้จะมีการเตรียมแถลงนโยบายต่อสภาผู้แทนราษฎร  และคาดว่าจะประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) นัดแรกวันอังคารที่ 12 ก.ย. 2566 โดยกระทรวงคมนาคมมีชื่อรัฐมนตรีสังกัดพรรคเพื่อไทยทั้ง 3 ตำแหน่ง คือ นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม สมัยที่ 2 หลังจากเคยนั่งเก้าอี้รมว.คมนาคม ช่วงปี 2545-2548 ส่วนรมช.คมนาคมอีก 2 คน นางมนพร เจริญศรี ส.ส.นครพนม และสุรพงษ์ ปิยะโชติ อดีตนายกองค์การบริหารส่วนจังหวัดกาญจนบุรี เข้ามาในส่วนของโควตาพรรคเพื่อไทย มองในแง่การขับเคลื่อนนโยบายน่าจะมีเสถียรภาพ โดยต้องรอดูว่านายสุริยะ รมว.คมนาคม จะมีการแบ่งงานให้รมช.คมนาคมทั้ง 2 คนกำกับดูแลหน่วยงานใดบ้าง 

โดยพรรคเพื่อไทยประกาศนโยบายหลักด้านคมนาคม คือ เน้นด้านระบบราง ได้แก่ รถไฟฟ้า กทม. 20 บาทตลอดสาย  ติดตั้งเครื่องปรับอากาศให้รถไฟชั้น 3 ทุกขบวน, ยกระดับรถไฟโดยสารทั่วประเทศ, เร่งการเชื่อมโยงรถไฟขนส่งสินค้าเชื่อมโยงโครงข่ายรถไฟความเร็วสูงทั่วประเทศ ขณะที่งานด้านคมนาคม ยังมีขนส่งทางถนน ทางน้ำ ทางอากาศ ที่ล้วนมีความสำคัญต่อชีวิตของประชาชน และระบบเศรษฐกิจของประเทศ

รายงานข่าวจากกระทรวงคมนาคมเปิดเผยว่า ขณะนี้หน่วยงานคมนาคมได้เตรียมข้อมูลแผนการดำเนินงานโครงการต่างๆ เพื่อนำเสนอต่อ รมว.คมนาคมคนใหม่ ซึ่งคาดว่าจะเข้ากระทรวงอย่างเป็นทางการในวันที่ 7 ก.ย. 2566 หลักๆ จะเป็นการนำเสนอแผนงานโครงการต่างๆ สถานะ และโครงการที่มีความพร้อมในการนำเสนอขออนุมัติจากคณะรัฐมนตรี (ครม.) 


@เปิดเมกะโปรเจกต์ รอ "สุริยะ" ตัดสินใจ รื้อใหม่ หรือให้ไปต่อ

ปัจจุบันมีโครงการที่ศึกษาแล้วเสร็จ และตกค้างเสนอ ครม. "พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา" ไม่ทันเพราะยุบสภาไปก่อน ได้แก่ 1. โครงการรถไฟชานเมืองสายสีแดงส่วนต่อขยาย 3 เส้นทาง คือ สายสีแดง ช่วงรังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม. วงเงิน 6,448.69 ล้านบาท, สายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม. วงเงิน 10,670.27 ล้านบาท และสายสีแดง ช่วงตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.7 กม. วงเงิน 4,616 ล้านบาท

โดยทั้ง 3 โครงการการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ได้ทบทวนตัวเลขการลงทุนให้สอดคล้องกับภาวะปัจจุบันแล้ว และอยู่ในการพิจารณาให้ความเห็นของหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง 

และรถไฟทางคู่ เฟส 2 เส้นทางขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 29,748 ล้านบาท

นอกจากนี้ ยังมีอภิเมกะโปรเจกต์อย่างโครงการสะพานเศรษฐกิจหรือแลนด์บริดจ์ (ชุมพร-ระนอง) มูลค่าการลงทุน ประมาณ 1 ล้านล้านบาท ซึ่งทางสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร (สนข.) เตรียมนำเสนอ ครม.รับทราบความก้าวหน้าในการศึกษาโครงการเบื้องต้น  

@ชี้ชะตา “รถไฟฟ้าสีส้ม” โครงการเจ้าปัญหา 

ส่วนโครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงบางขุนนนท์-มีนบุรี (สุวินทวงศ์) มูลค่า 1.4 แสนล้านบาท ซึ่งมีการประกวดราคาคัดเลือกเอกชนดำเนินการก่อสร้างด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมแห่งประเทศไทย- บางขุนนนท์ และเดินรถตลอดสาย ระยะทางรวม 35.9 กิโลเมตร (กม.) นั้น ที่ผ่านมามีประเด็นฟ้องร้องกรณีมีการแก้หลักเกณฑ์คัดเลือกเอกชน ทำให้เกิดความล่าช้า คาดว่าจะเป็นโครงการที่ รมว.คมนาคมคนใหม่จะต้องเร่งแก้ไขปัญหา เพื่อให้สามารถเริ่มก่อสร้างงานโยธาด้านตะวันตก ช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ และเร่งเปิดเดินรถด้านตะวันออกช่วงศูนย์วัฒนธรรมฯ-มีนบุรี ที่งานโยธาก่อสร้างเสร็จแล้วโดยเร็ว 


กำลังโหลดความคิดเห็น