xs
xsm
sm
md
lg

ศึกษาจบแล้วแผน MR-MAP กว่า 6 พัน กม. มูลค่า 6.28 ล้านล้าน ทล.ดัน 4 โครงการ 1.45 แสนล้าน ชง ครม.ใหม่ เปิดประมูลปี 67

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ทล.สรุปการศึกษาแผนแม่บท MR-MAP วางโครงข่าย “มอเตอร์เวย์-รถไฟ” ทั่วประเทศ 6,877 กม. มูลค่ารวม 6.28 ล้านล้านบาท นำร่องระยะ 20 ปี (66-85) 23 โครงการมูลค่า 1.63 ล้านล้านบาท จ่อชง  ครม.ใหม่จุดพลุประมูล 4 โครงการ วงเงิน 1.45 แสนล้านบาทในปี 67

วันที่ 21 ส.ค. 2566 กรมทางหลวง (ทล.) ได้จัดงานนิทรรศการสรุปแผนแม่บท ทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง (มอเตอร์เวย์) และระบบราง ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2566-2585) ภายใต้การศึกษา MR-MAP โดยบริษัทที่ปรึกษาได้สรุปภาพรวมการศึกษาโครงการ และแผนปฏิบัติการพัฒนาโครงสร้างทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง การศึกษาความเหมาะสมด้านเศรษฐกิจ วิศวกรรม และผลกระทบสิ่งแวดล้อมเบื้องต้น (Pre-Feasibility Study) พร้อมทั้งรับฟังความคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากผู้เข้าร่วมประชุม

นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.) เปิดเผยว่า ที่ปรึกษาจะสรุปการศึกษาแผนแม่บท MR- ระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2566-2585) ในเดือน ก.ย. 2566 จากนั้นกรมทางหลวงจะนำรายงานต่อกระทรวงคมนาคมต่อไป ซึ่งการศึกษาแผนแม่บท MR-MAP เป็นไปตามนโยบายของกระทรวงคมนาคมที่มอบหมายให้กรมทางหลวงดำเนินการปรับปรุงแผนแม่บทการพัฒนาโครงข่ายมอเตอร์เวย์ ระยะ 20 ปี (2560-2579) เพื่อให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี และแผนพัฒนา EEC และ SEC การพัฒนาโครงการสะพานเศรษฐกิจเชื่อมฝั่งทะเลอันดามันและอ่าวไทย (ชุมพร-ระนอง) รวมถึงปรับปรุงโครงข่ายโดยพิจารณาถึงการพัฒนาเส้นทางรถไฟ ไทย-ลาว-จีน และบูรณาการโครงข่ายมอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบราง เพื่อลดการเวนคืนและการแบ่งแยกชุมชน พัฒนาความเจริญไปสู่พื้นที่ใหม่ แก้ไขปัญหาการคมนาคมขนส่ง ทั้งโครงข่ายทางหลวงและโครงข่ายทางรางได้อย่างเป็นระบบและมีประสิทธิภาพ

นายปิยพงษ์ จิวัฒนกุลไพศาล รองอธิบดีกรมทางหลวง (ทล.)
ที่ผ่านมาได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องของโครงการไปแล้วจำนวน 19 ครั้ง ครอบคลุมพื้นที่ทุกเส้นทางตามแผนแม่บท MR-MAP ซึ่งโครงการได้นำข้อคิดเห็นและข้อเสนอแนะจากประชาชนและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไปพิจารณาและปรับปรุงผลการศึกษาจนมีความสมบูรณ์

จากการศึกษาแผนแม่บท MR-MAP ระยะยาว มีจำนวน 10 เส้นทาง (วางแนวเหนือ-ใต้, ตะวันออก-ตะวันตก, เชื่อมต่อกรุงเทพฯ และปริมณฑล) มีระยะทางรวมประมาณ 6,877 กิโลเมตร (กม.) (มีโครงข่ายมอเตอร์เวย์ที่เปิดให้บริการแล้วและอยู่ระหว่างก่อสร้าง 670 กม.) โดยทั้ง 6,877 กม.นั้นประเมินมูลค่าลงทุนรวม 6.28 ล้านล้านบาท (เป็นการลงทุนส่วนของมอเตอร์เวย์และทางพิเศษประมาณ 5.12 ล้านล้านบาท เป็นระบบรางประมาณ 1.16 ล้านล้านบาท) และมีโครงข่ายที่บูรณาการพัฒนามอเตอร์เวย์ร่วมกับระบบรางประมาณ 3,543 กม. ซึ่งประเมินว่าจะลดพื้นที่เวนคืนได้ 135,000 ไร่ และลดค่าเวนคืนได้ประมาณ 200,000 ล้านบาท


สำหรับแผนระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2566-2585) นั้นจะมีการพัฒนาโครงข่าย MR-MAP จำนวน 23 โครงการ ระยะทาง 1,924 กม. มูลค่าลงทุน 1.63 ล้านล้านบาท โดยแบ่งการพัฒนาเป็น 3 ระยะ คือ โครงการระยะ 5 ปี เริ่มก่อสร้างปี 2566-2570 จำนวน 9 โครงการ ระยะทางรวม 391 กม. มูลค่า 442,979 ล้านบาท ได้แก่ 1. โครงการส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน ระยะทาง 22 กม. วงเงิน 29,014 ล้านบาท ก่อสร้างปี 68 เปิดให้บริการปี 71, 2. โครงการบางขุนเทียน-บางบัวทอง ระยะทาง 35.85 กม. วงเงิน 56,035 ล้านบาท ก่อสร้างปี 68 เปิดให้บริการปี 71, 3. โครงการบางบัวทอง-บางปะอิน ระยะทาง 34.10 กม. วงเงิน 15,260 ล้านบาท ก่อสร้างปี 68 เปิดให้บริการปี 71, 4. ทางเชื่อมต่อถนนวงแหวนฯ รอบที่ 2 ด้านตะวันตกและตะวันออก ระยะทาง 4.20 กม. วงเงิน 4,090 ล้านบาท ก่อสร้างปี 68 เปิดให้บริการปี 71

5. นครปฐม-ปากท่อ ระยะทาง 61.02 กม. วงเงิน 45,248 ล้านบาท ก่อสร้างปี 68 เปิดให้บริการปี 72, 6. สงขลา-สะเดา ระยะทาง 69 กม. วงเงิน 40,787 ล้านบาทก่อสร้างปี 70 เปิดให้บริการปี 74, 7. ทางพิเศษจตุโชติ-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ รอบที่ 3 (ด้านตะวันออก) ระยะทาง 19 กม. วงเงิน 33,400 ล้านบาท ก่อสร้างปี 67 เปิดให้บริการปี 70, 8. วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันออก ช่วง ทล.305-ทล.34 ระยะทาง 52 กม. วงเงิน 88,809 ล้านบาทก่อสร้างปี 70 เปิดให้บริการปี 73 และ 9. ชุมพร-ระนอง ระยะทาง 94 กม. วงเงิน 103,336 ล้านบาท ก่อสร้างปี 70 เปิดให้บริการปี 73


@ปีนี้ตั้งเป้า 4 โครงการ วงเงินกว่า 1.45 แสนล้านบาท จ่อชง ครม.ชุดใหม่เคาะเดินหน้าประมูลก่อสร้าง

นายปิยพงษ์กล่าวว่า ในโครงการระยะ 5 ปีนี้ ทล.ได้ศึกษาออกแบบเสร็จแล้ว และอยู่ในขั้นตอนเตรียมเสนอคณะรัฐมนตรี (ครม.) ชุดใหม่พิจารณา จำนวน 4 โครงการ ประกอบด้วย 1. ส่วนต่อขยายทางยกระดับอุตราภิมุข ช่วงรังสิต-บางปะอิน (M5) วงเงิน 29,014 ล้านบาท ใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Gross Cost) โดยให้เอกชนลงทุนก่อสร้างไปก่อน และ ทล.ใช้เงินจากกองทุนมอเตอร์เวย์จ่ายคืนเมื่อเปิดให้บริการ 2. ทางยกระดับ ช่วง บางขุนเทียน-บางบัวทอง (M9) วงเงิน 56,035 ล้านบาท ใช้รูปแบบการร่วมลงทุนระหว่างภาครัฐและเอกชน (PPP Net Cost) โดยเอกชนที่เสนอขอรัฐอุดหนุนน้อยที่สุดจะได้รับคัดเลือก คาดว่าหลัง ครม.เห็นชอบจะเปิดประมูลช่วงกลางปี 2567

3. บางบัวทอง-บางปะอิน (M9) วงเงิน 15,260 ล้านบาท เป็นการปรับปรุงถนน ระดับพื้นให้เป็นมอเตอร์เวย์ขนาด 6 ช่องจราจร จัดเก็บค่าธรรมเนียมผ่านทางแบบไม่มีไม้กั้น (M-Flow) คิดตามระยะทาง โดยตามการศึกษา ทล.จะลงทุนก่อสร้างงานโยธาเอง อยู่ระหว่างเตรียมเสนอกระทรวงคมนาคม และ ครม.พิจารณาเห็นชอบแหล่งเงินกู้ ส่วนงานติดตั้งระบบ O&M ใช้งบประมาณจากกองทุนมอเตอร์เวย์ ปัจจุบันมีเงินสะสมประมาณ 17,000 ล้านบาท โดยมีรายได้จากค่าธรรมเนียมผ่านทางประมาณ 20-23 ล้านบาท/วัน ขณะที่ปัจจุบัน ทล.อยู่ระหว่างปรับปรุงทางคู่ขนาน ช่วงบางบัวทอง-บางปะอิน ข้างละ 3 ช่องจราจร ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จในปี 66 ซึ่งจะไม่มีการเก็บค่าผ่านทาง

และ 4. นครปฐม-ปากท่อ (M8) วงเงิน 45,248 ล้านบาท ขณะนี้การทบทวนผลการศึกษาโครงการ ปรับปรุงรูปแบบ ทบทวนค่าก่อสร้าง ใกล้ได้ข้อสรุปแล้ว คาดว่าจะเสนอกระทรวงคมนาคมได้ในปีนี้ เบื้องต้น ทล.จะลงทุนก่อสร้างงานโยธาเอง โดยใช้เงินกู้ / งบประมาณ/ กองทุนมอเตอร์เวย์ ส่วนงานระบบ O&M จะใช้รูปแบบ PPP เหมือนกับมอเตอร์เวย์สายบางปะอิน-นครราชสีมา (M6) และสายบางใหญ่-กาญจนบุรี (M81)


โครงการระยะ 10 ปี เริ่มก่อสร้างปี 2571-2575 จำนวน 5 โครงการ ระยะทาง 397 กม. มูลค่า 413,199 ล้านบาท ได้แก่ 1. นครปฐม-สุพรรณบุรี ระยะทาง 70.22 กม. 2. แหลมฉบัง-ปราจีนบุรี ระยะทาง 156 กม. 3. วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันออก ช่วง ทล.32-ทล.305 ระยะทาง 67.81 กม. 4. วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านใต้ ช่วง ทล.35-ทล.35 ระยะทาง 79.07 กม. 5. วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านตะวันตก ช่วง ทล.35-นครปฐม ระยะทาง 24.26 กม.

โครงการระยะ 20 ปี เริ่มก่อสร้างปี 2576-2585 จำนวน 9 โครงการ ระยะทาง 1,1378 กม. มูลค่า 775,909 ล้านบาท ได้แก่ 1. ปากท่อ-ชะอำ ระยะทาง 59 กม. 2. นครราชสีมา-ขอนแก่น ระยะทาง 204 กม. 3. วงแหวนฯ รอบที่ 3 ด้านเหนือ ช่วงสุพรรณบุรี-ทล.32 ระยะทาง 38 กม. 4. บ้านแพ้ว-ปากท่อง ระยะทาง 47 กม. 5. สุพรรณบุรี-นครสวรรค์ ระยะทาง 129 กม. 6. บางปะอิน-สุพรรณบุรี ระยะทาง 57 กม. 7. ปราจีนบุรี-นครราชสีมา ระยะทาง 159 กม. 8. นครสวรรค์-พิษณุโลก ระยะทาง 144 กม. 9. นครราชสีมา-อุบลราชธานี ระยะทาง 299 กม.




กำลังโหลดความคิดเห็น