ทศวรรษแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน “พล.อ.ประยุทธ์” สร้าง “มรดกแห่งความเจริญ” ให้ทุกรุ่น-ทุกภาค-ทุกมิติ วางโครงสร้างพื้นฐานที่แข็งแกร่ง สะสมทองคำเข้าทุนสำรองมากที่สุดในเอเชีย ดันเศรษฐกิจไทยเป็นที่หนึ่งในอาเซียน มุ่งสู่การแข่งขันระดับโลก
น.ส.ทิพานัน ศิริชนะ รองโฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี กล่าวว่า ในช่วงรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ถือได้ว่าเป็น “ทศวรรษแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน” ผลงานที่รัฐบาลผลักดันเป็นที่ประจักษ์ว่าได้วางรากฐานแข็งแกร่งให้คนไทยทุกคนและทุกรุ่น ไม่ว่าจะในรุ่นนี้หรือรุ่นถัดไปในอนาคต เพราะได้มีการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานครบทุกมิติ สร้างความเจริญให้ทุกภาคของประเทศไทย ทำให้เชื่อมั่นว่าผลงานที่ประจักษ์ของรัฐบาลจะผลิดอกออกผลเพื่อสร้างความมั่นคงในชีวิต ความมั่งคั่งในทรัพย์สิน และคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้นของคนไทยทุกคนในทุกๆ ด้าน
น.ส. ทิพานัน กล่าวว่า พล.อ.ประยุทธ์ ได้วางโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ เชื่อมโยงความเจริญไปสู่ทุกภาคในประเทศไทย ทั้งพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) ในพื้นที่จังหวัดฉะเชิงเทรา ชลบุรี และระยอง, เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษชายแดน (SEZ) ในพื้นที่จังหวัดตาก มุกดาหาร สระแก้ว ตราด สงขลา เชียงราย หนองคาย นครพนม กาญจนบุรี และนราธิวาส, และระเบียงเศรษฐกิจพิเศษ 4 ภาค ได้แก่1.ภาคเหนือในจังหวัดเชียงราย เชียงใหม่ ลำพูน และลำปาง 2.ภาคตะวันออกเฉียงเหนือในจังหวัดนครราชสีมา ขอนแก่น อุดรธานี และหนองคาย 3.ภาคกลาง – ตะวันตกในจังหวัด นครปฐม อยุธยา สุพรรณบุรี และกาญจนบุรี และ 4.ภาคใต้ในจังหวัดชุมพร ระนอง สุราษฎ์ธานี และนครศรีธรรมราช อาทิเช่น
- ทางอากาศ ปรับปรุงและสร้างสนามบินเพิ่มทั่วประเทศ รองรับนักท่องเที่ยวและการขนส่ง เช่น อาคารเทียบเครื่องบิน สนามบินสุวรรณภูมิ สนามบินอู่ตะเภาและเมืองการบิน สนามบินเบตง สนามบินกระบี่ สนามบินขอนแก่น สนามบินตรัง สนามบินนครพนม สนามบินสกลนคร
- ทางน้ำ โดยพัฒนาท่าเรือมาบตาพุด และท่าเรือแหลมฉบัง
- ทางบก พัฒนาทางถนนเพิ่มขึ้นเป็นมากกว่า 12,000 กิโลเมตร และมอเตอร์เวย์ 3 สายบางปะอิน-โคราช, บางใหญ่-กาญจนบุรี, พัทยา-มาบตาพุด รวม 260 กิโลเมตร, สะพานข้ามทะเลสาบสงขลา และสะพานเชื่อมไทย-ประเทศเพื่อนบ้าน, รถไฟฟ้า 12 สาย, โครงข่ายทางรถไฟ 4,044 กิโลเมตรครอบคลุม 47 จังหวัด แบ่งเป็น ทางคู่ 14 เส้นทาง ระยะทางประมาณ 2,500 กิโลเมตร, ทางรถไฟสายใหม่ 10 เส้นทาง, รถไฟความเร็วสูง 8 เส้นทาง ระยะทางรวม 2,507 กิโลเมตร, รถไฟความเร็วสูงเชื่อม 3 สนามบินในเขต EEC และล่าสุด คือ ถนนสายเศรษฐกิจเส้นประวัติศาสตร์เชื่อมต่อ 4 ประเทศอาเซียนเข้าด้วยทางหลวงหมายเลข 12 รองรับการพัฒนาพื้นที่เขตเศรษฐกิจพิเศษ ซึ่งเป็นเส้นทางยุทธศาสตร์สายเศรษฐกิจแนวตะวันออก-ตะวันตก (East-West Economic Corridor–EWEC)
นอกจากนี้ รัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ยังส่งเสริมผลักดันโครงการพัฒนาอย่างครบถ้วนทุกมิติ เห็นชัดจากถนนหนทางที่เพิ่มมากขึ้น ระบบรางรถไฟทั้งทางคู่และรถไฟความเร็วสูง-รถไฟฟ้าเชื่อมต่อกรุงเทพและปริมณฑล การปรับปรุงและเพิ่มสนามบิน-กู้วิกฤติสายการบินแห่งชาติ การวางเครือข่ายโทรคมนาคมและดิจิทัล อินเทอร์เน็ต-5G ครบวงจร ระบบพร้อมเพย์ รวมถึงการพัฒนาเทคโนโลยีด้านดาวเทียมและอวกาศ เช่น THEOS-2 ดาวเทียมสำรวจดวงแรกของไทยในระดับ Industrial Grade เตรียมส่งขึ้นสู่อวกาศเดือนกันยายน 2566 และในเดือนตุลาคม 2566 สำหรับ THEOS-2A แล้ว ยังส่งเสริมโครงการ “ดวงอาทิตย์ประดิษฐ์” ด้วยเครื่องโทคาแมคเครื่องแรกของไทยเพื่อเป็นแหล่งพลังงานสะอาด เป็น 1 ใน 5 ประเทศทั่วโลกที่มี และเร่งขับเคลื่อนนโยบายอวกาศให้เป็นรูปธรรมโดยศึกษาความเป็นไปได้ในการสร้างจัดตั้งท่าอวกาศยานในประเทศไทยเพื่อเป็นฐานสำหรับการส่งและรับยานอวกาศ หรือ spaceport พร้อมกับมุ่งเป้าเปลี่ยนทิศการขนส่งโลกมาไทยด้วยโครงการ “แลนด์บริดจ์” ในอนาคตอีกด้วย
น.ส. ทิพานัน กล่าวว่า ผลสำเร็จของการวางโครงสร้างพื้นฐานทั้ง ล้อ-ราง-เรือ-อากาศ-ดิจิทัล โทรคมนาคม และเครือข่ายอินเทอร์เน็ต 5G ที่ผ่านมาทำให้มีการสร้างความเจริญและการพัฒนาที่ยั่งยืนไปยังทุกจังหวัดทั่วทุกภาคในประเทศไทยจนธนาคารโลกจัดอันดับจากดัชนีชี้วัดประสิทธิภาพด้านโลจิสติกส์ประจำปี 2566 (LPI 2023) ในหมวดโครงสร้างพื้นฐานด้วยคะแนน 3.7 ทำให้ไทยอยู่อันดับ 9 ของโลกร่วมกับอีกหลายประเทศ เช่น กรีซ อิสราเอล มอลตา อังกฤษ
การดำเนินการพัฒนาประเทศของรัฐบาล พล.อ.ประยุทธ์ ตามยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี ส่งผลให้ตั้งแต่ปี 2562 ไทยเป็นประเทศที่มีประสิทธิภาพเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนเป็นอันดับที่ 1 ในอาเซียน 4 ปีซ้อน (อันดับที่ 44 ของโลก) และดัชนีการพัฒนามนุษย์ (Human Development Index - HDI) ของไทยอยู่ในกลุ่มประเทศที่มีการพัฒนามนุษย์ “ระดับสูงมาก” ของ UNDP ต่อเนื่องมา 3 ปี โดยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ปี 2556 จนถึงปัจจุบัน ซึ่งความสำเร็จเหล่านี้เป็นทศวรรษแห่งการพัฒนาที่ดำเนินการอย่างโปร่งใส ไร้การทุจริตคอร์รัปชัน สิ่งเหล่านี้จะกลายเป็น “มรดกแห่งความเจริญ” ที่ผลิดอกออกผลให้คนไทยได้รับประโยชน์ไปจนชั่วลูกชั่วหลาน
น.ส.ทิพานัน กล่าวว่า ที่สำคัญนอกเหนือจากความสำเร็จของทศวรรษแห่งการพัฒนา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ยังวางโครงสร้างอนาคตของชาติด้วยการสะสมความมั่นคั่งและมั่นคงให้ประเทศชาติมาโดยตลอด เช่นในปี 2565 ไทยอยู่ในอันดับที่ 12 ของโลก จากจำนวนสะสมเงินสำรองระหว่างประเทศและซื้อทองคำเข้าทุนสำรองระหว่างประเทศเพิ่มมากที่สุดในเอเชีย ซึ่งในรอบ 10 ปีที่ผ่านมามีทองคำเพิ่มจาก 152.41 ตันมาอยู่ที่ 244.16 ตัน ทำให้ทุนสำรองที่เป็นทองคำเพิ่มขึ้นถึง 60.20% ส่วนอันดับความน่าเชื่อถือของประทศไทยจากการจัดอันดับของทั้ง Fitch Moody’s และ S&P ให้มุมมองความน่าเชื่อถือ “ระดับมีเสถียรภาพ” และคงความน่าเชื่อถือไทย BBB+ สำหรับ Fitch และ S&P และ Baa1 สำหรับ Moody’s อย่างต่อเนื่อง
“ทศวรรษแห่งการพัฒนาที่ยั่งยืน ได้เดินหน้าและพัฒนาความเจริญอย่างมีเสถียรภาพมาเกือบ 10 ปี สิ่งเหล่านี้คือการบริหารงานอย่างมีประสิทธิภาพ อย่างตรงไปตรงมา เพื่อขยายความเจริญไปทุกภูมิภาค และส่งผลถึงการจ้างงาน การค้าขายทำธุรกิจต่างๆ ได้อย่างรวดเร็ว ซึ่งทั้งหมดนี้ก็เพื่อประเทศไทยของเราทุกคน” น.ส. ทิพานัน กล่าว