xs
xsm
sm
md
lg

กรมอนามัยโต้กลับ ยันผลตรวจสอบ “โรงกำจัดขยะ” รพ.ขอนแก่น น่าเชื่อถือ พบค่ากลิ่นเกินมาตรฐาน ระบบบกพร่อง กระทบสุขภาพคนจริง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



กรมอนามัย โต้กลับ ยันผลตรวจสอบโรงกำจัดขยะ รพ.ขอนแก่น น่าเชื่อถือ มีมาตรฐาน พบระบบรวบรวมอากาศเสียบกพร่อง เกิดกลิ่นกระจายทั่ว ใช้ 3 วิธีตรวจวัดกลิ่นเหม็นรอบบ้าน ปชช. พบค่ากลิ่นรบกวนเกินมาตรฐาน ตรวจพบสารเคมีเกิดกลิ่นคล้ายคาวปลาเกินมาตรฐาน มีแนวโน้มกระทบสุขภาพ จี้ หยุดทำการจนกว่าปรับปรุงเรียบร้อย

เมื่อวันที่ 1 ก.ย. นพ.อรรถพล แก้วสัมฤทธิ์ รองอธิบดีกรมอนามัย กล่าวถึงกรณีประชาชนร้องเรียนกลิ่นรบกวนโรงกำจัดมูลฝอยติดเชื้อของ รพ.ขอนแก่น ว่า เทศบาลนครขอนแก่นได้ตั้งคณะกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริง และให้กรมอนามัยเป็นหน่วยงานกลางตรวจสอบมาตรฐานระบบกำจัดมูลฝอยติดเชื้อด้วยเทคโนโลยีการทำลายเชื้อด้วยไอน้ำและปัญหาเหตุรำคาญ สำหรับการตรวจสอบเหตุรำคาญได้ใช้หลักการวินิจฉัยเหตุรำคาญ 3 องค์ประกอบ ตามมาตรา 25 พ.ร.บ.การสาธารณสุข พบว่า 1. แหล่งกำเนิด ระบบกำจัดมูลฝอยฯ มีขั้นตอนกระบวนการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อซึ่งก่อให้เกิดสารเคมีที่มีกลิ่นหลายชนิดจริง และยังพบข้อพกพร่องด้านสุขลักษณะของระบบรวบรวมอากาศเสีย และระบบบำบัดมลพิษทางอากาศที่มีประสิทธิภาพไม่เพียงพอ ส่งผลให้

2. ช่องทางของมลพิษ คือ กลิ่นที่เกิดจากระบบกำจัดแพร่กระจายออกไปยังอาคารที่พักอาศัยของประชาชนในบริเวณใกล้เคียง 2-3 เมตร และสภาพอากาศที่ทิศทางลมยังพัดกลิ่นมายังที่พักอาศัยของประชาชนข้างเคียง และ 3. ประชาชนผู้ได้รับผลกระทบ หลักการจะทำการตรวจวัดคุณภาพอากาศและกลิ่นรบกวนผู้ได้รับผลกระทบ นำค่าผลตรวจวัดที่ได้เทียบเคียงกับมาตรฐานที่เกี่ยวข้อง ใช้ 3 วิธีวัด คือ 1) ตรวจวัดกลิ่นรบกวน โดยวัดค่าระดับความเข้มข้นกลิ่นด้วยเครื่องมือตรวจวัดกลิ่นในบรรยากาศภาคสนาม (Nasal Ranger) ในบริเวณและช่วงเวลาที่ผู้ร้องแจ้งว่าได้รับกลิ่นเป็นประจำ ตรวจขณะที่มีกลิ่นอย่างน้อย 3 ครั้ง ห่างกันอย่างน้อย 15 นาที นำค่ามาเทียบกับค่ามาตรฐานระดับกลิ่นรบกวนของสถานที่ทั่วไป ที่ต้องมีค่าความเข้มข้นน้อยกว่า 4 หน่วยกลิ่น (D/T) พบว่า ค่าเข้มข้นกลิ่นเท่ากับ 7, 7, 7 และ 4 D/T ซึ่งสูงกว่าค่ามาตรฐาน บ่งชี้ว่าอาจเป็นอันตรายต่อสุขภาพหรือส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่

2) ตรวจวัดชนิดและปริมาณสารอินทรีย์ระเหยง่ายภาคสนามด้วยเทคนิค Gas Chromatograph ที่ได้มาตรฐานและมีการสอบเทียบทุกปี ตรวจวัด 4 ครั้ง พบค่าเฉลี่ยอยู่ในช่วง 0.19 - 4.99 ppm และยังตรวจพบสาร Acrolein ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดกลิ่น (Odorant) ที่มีลักษณะกลิ่นคล้ายกลิ่นคาวปลา ค่าความเข้มข้นอยู่ในช่วง 0.02-0.22 ppm บ่งชี้ถึงความเสี่ยงและอันตราย ต่อสุขภาพของประชาชน และ 3) ตรวจระดับความแรงกลิ่นภาคสนามโดยคณะเจ้าหน้าที่ โดยใช้แบบบันทึก ข้อมูลการสำรวจกลิ่นภาคสนามพบว่า คณะผู้ตรวจสอบเกินกว่ากึ่งหนึ่งรับรู้ความแรงของกลิ่นในระดับ 4-5 คือ เป็นกลิ่นที่น่ารังเกียจและมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายระหว่างการสัมผัสในระยะสั้นหรือระยะยาว และทำให้ผู้สัมผัสทนไม่ได้ โดยคณะผู้ตรวจสอบกลิ่นทุกคนได้รับการขึ้นทะเบียนผู้ตรวจสอบกลิ่นตามมาตรฐาน

“การดำเนินการมีเจ้าหน้าที่กรมอนามัย เทศบาลเมืองศิลาซึ่งมิได้เกี่ยวข้องและมีส่วนได้ส่วนเสีย และเทศบาลนครขอนแก่น ผลตรวจวัดทั้ง 3 วิธีสอดคล้องกัน บ่งชี้ว่ากระบวนการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อของ รพ.ขอนแก่น ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่โดยปกติสุขของประชาชน และมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดผลกระทบสุขภาพ หากมีการสัมผัสในระยะยาว จึงขอความร่วมมือ รพ.ขอนแก่น หยุดดำเนินการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อทันที จนกว่าจะปรับปรุงแก้ไขให้ได้ตามมาตรฐานและได้รับความเห็นชอบให้ดำเนินการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อด้วยตนเองจากราชการส่วนท้องถิ่นตามกฎหมาย และต้องไม่ก่อปัญหาเหตุรำคาญ เพื่อความปลอดภัยของสุขภาพประชาชนบริเวณใกล้เคียง” นพ.อรรถพล กล่าว


กำลังโหลดความคิดเห็น