xs
xsm
sm
md
lg

“หมอเกรียงศักดิ์” โต้กลับผลตรวจโรงกำจัดขยะกรมอนามัย ชงเทศบาลฯ หาผู้เชี่ยวชาญที่เชื่อถือได้ตรวจเอง

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ศูนย์ข่าวขอนแก่น - “หมอเกรียงศักดิ์” ผอ.รพ.ขอนแก่นโต้กลับรายงานผลตรวจสอบโรงกำจัดขยะติดเชื้อฯ ของกรมอนามัย ซัดชุดตรวจไม่น่าเชื่อถือไม่ผ่านมาตรฐาน ISO 16000-6:2001 ยืนยันเดินเครื่องกำจัดขยะต่อพร้อมเสนอเทศบาลนครขอนแก่นจัดหาผู้เชี่ยวชาญที่เป็นกลางเป็นที่ยอมรับระดับสากลมาตรวจสอบจะออกค่าใช้จ่ายให้หมด


จากกรณีบุคลากรทางการแพทย์พักอาศัยในแฟลตกระดังงา ภายในศูนย์อนามัยที่ 7 ขอนแก่น เข้าร้องเรียนศูนย์ดำรงธรรม/เทศบาลนครขอนแก่น ฯลฯ ได้รับความเดือดร้อนเรื่องกลิ่นรบกวนจากโรงกำจัดขยะติดเชื้อด้วยไอน้ำของโรงพยาบาลขอนแก่นที่สร้างขึ้นเมื่อปลายปี 2565 ติดกับอาคารที่พัก อาคารหอผู้ป่วย และจากการตรวจพิสูจน์ของกรมอนามัยระบุว่า โรงกำจัดขยะดังกล่าวยังไม่ผ่านเกณฑ์สุขลักษณะตามกฎกระทรวงว่าด้วยการกำจัดมูลฝอยติดเชื้อ พ.ศ. 2545, ผลการตรวจสอบกลิ่น พบว่าเป็นเหตุรำคาญตามพระราชบัญญัติการสาธารณสุข พ.ศ. 2535 และพบสารเคมีที่เป็นอันตราย และสารก่อมะเร็ง

ภายหลังกรมอนามัยรายงานผลตรวจสอบต่อเทศบาลนครขอนแก่นเมื่อวันที่ 29 ส.ค.ที่ผ่านมา นายธีระศักดิ์ ฑีฆายุพันธุ์ นายกเทศมนตรีนครขอนแก่นให้สัมภาษณ์สื่อมวลชนอย่างขึงขังว่าเมื่อผลตรวจสอบพบความผิดชัดเจน จึงอาศัยอำนาจท้องถิ่นออกคำสั่งให้โรงพยาบาลขอนแก่น หยุดดำเนินการกำจัดขยะและแก้ไขให้เป็นไปตามมาตรฐานสาธารณสุข ไม่ส่งผลกระทบต่อประชาชนที่พักอาศัยในพื้นที่ใกล้เคียง

อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นพ.เกรียงศักดิ์ วัชรนุกูลเกียรติ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลขอนแก่น ได้เปิดแถลงข่าวต่อสื่อมวลชนยืนยันทางโรงพยาบาลขอนแก่นจะไม่หยุดเดินเครื่องกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อด้วยไอน้ำดังกล่าวเด็ดขาด ไม่ยอมรับผลการตรวจสอบจากเจ้าหน้าที่กรมอนามัย ซึ่งผู้บริหารกรมอนามัยมีอคติกับตนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ที่สำคัญทีมตรวจวัดของกรมอนามัยที่มาตรวจไม่ผ่านมาตรฐาน ISO 16000-6:2001 ตามที่กรมอนามัยกำหนดไว้เอง

ดังนั้น เพื่อให้เกิดความเป็นธรรมกับโรงพยาบาลขอนแก่น ตนในฐานะผู้อำนวยการโรงพยาบาลจะทำหนังสือทักท้วงไปยังนายกเทศมนตรีนครขอนแก่น พร้อมกับแจ้งข้อสังเกตจากการตรวจวัดของกรมอนามัยที่ไม่น่าจะถูกต้องตามเกณฑ์ ขาดความน่าเชื่อถือ


“โรงพยาบาลขอนแก่นมั่นใจระบบกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อด้วยไอน้ำที่ใช้อยู่ว่าได้มาตรฐานเป็นที่ยอมรับในระดับสากล มีโรงพยาบาลหลายแห่งก็ใช้เช่นกันและก็ซื้อกับทางบริษัทผู้จำหน่ายเดียวกัน แรกๆที่เริ่มกำจัดขยะก็อาจจะมีกลิ่นเล็ดลอดออกไปบ้างแต่เราก็ได้ปรับปรุงแก้ไขมาอย่างต่อเนื่อง”

ส่วนเหตุผลที่ไม่น่าเชื่อถือในผลการตรวจสอบ เพราะกรมอนามัยใช้เกณฑ์มาตรฐานตามประกาศกรมอนามัยเรื่องค่าเฝ้าระวังคุณภาพอากาศภายในอาคารสาธารณะ พ.ศ. 2565 มาใช้เทียบเคียงกับอาคารบำบัดขยะติดเชื้อ ซึ่งถือเป็นอาคารควบคุมไม่ได้ เนื่องจาก อาคารสาธารณะ มีลักษณะสำคัญ 3 ประการ คือ เป็นอาคารที่ใช้ประโยชน์ในการชุมนุมคนได้โดยทั่วไปเพื่อกิจกรรมต่างๆ, เป็นอาคารที่มีลักษณะปิดทึบทำให้พบปัญหาด้านการถ่ายเทอากาศ รวมถึงปัญหาการสะสมมลภาวะภายในอาคาร และเป็นอาคารที่มีการใช้ระบบปรับอากาศ ซึ่งอาคารบำบัดขยะติดเชื้อ ซึ่งถือเป็นอาคารควบคุมไม่เข้าหลักเกณฑ์ข้อหนึ่งข้อใดเลย รวมถึงแฟลตที่พักอาศัยตามที่มีการกล่าวอ้างถึงด้วย

“ดังนั้น ทางโรงพยาบาลจะยังดำเนินการกำจัดขยะมูลฝอยติดเชื้อต่อไป เพราะขณะนี้ทางเทศบาลนครขอนแก่นเองก็ยังไม่มีหนังสือสั่งการอะไรมาถึงโรงพยาบาล เรายังมั่นใจว่าการตรวจวัดไม่น่าเกินตามค่าที่ยอมรับได้ การตรวจวัดจะต้องเป็นธรรมกับทุกฝ่าย ปราศจากอคติใดๆ” นพ.เกรียงศักดิ์กล่าว และว่า

การตรวจวัดควรตรวจวัดว่ากรณีบำบัดขยะติดเชื้อมีผลกระทบต่อกลิ่นหรือสารปนเปื้อนในอากาศอย่างไร โดยต้องตัดปัจจัยแปรปรวนอื่นออกไป กล่าวคือ บริเวณแฟลตเจ้าหน้าที่นั้นติดกับลานล้างถังขยะและบริเวณอาคารเก็บพักขยะทั่วไป ซึ่งมีทั้งกลิ่นและสาร TVOC ตลอดจน Acrolein เป็นปกติ และยังใกล้โรงอาหารของโรงพยาบาลที่ทำให้เกิด TVOC และ Acrolein ได้ จึงไม่ควรเอา TVOC และ Acrolein มาโยนให้ระบบบำบัดขยะติดเชื้อต้องรับผิดชอบทั้งหมด




กระนั้นก็ตาม โรงพยาบาลขอนแก่นพร้อมที่จะให้เทศบาลนครขอนแก่นเข้ามาตรวจสอบกรณีปัญหานี้จากแหล่งตรวจสอบที่มีมาตรฐานเป็นที่ยอมรับได้ ผ่านมาตรฐานอุตสาหกรรมหรือมาตรฐานอื่นอันเป็นที่ยอมรับได้ระดับสากล โดยทางโรงพยาบาลขอนแก่นยินดีรับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดและจะได้เชิญผู้เชี่ยวชาญเข้ามาร่วมตรวจสอบและให้คำแนะนำ

ให้เป็นไปตามมาตรฐานในระดับอุตสาหกรรมหรือมาตรฐานที่เป็นการยอมรับในระดับสากล โรงพยาบาลยินดีออกค่าใช้จ่ายทั้งหมด และพร้อมที่จะเชิญผู้เชี่ยวชาญจากหน่วยงานที่เชื่อถือได้เข้ามาร่วมสังเกตและให้คำแนะนำ


รายงานข่าวเพิ่มเติมแจ้งว่า สำหรับผลตรวจของกรมอนามัยกับเทศบาลนครขอนแก่นล่าสุดที่สรุปผลออกมาแล้วและนำไปสู่การใช้อำนาจของเทศบาลนครขอนแก่น สามารถสั่งปิดโรงกำจัดขยะมูลฝอยด้วยไอน้ำ โรงพยาบาลขอนแก่นดังกล่าว ดังนี้

1. การตรวจวัดกลิ่นรบกวน ด้วยเครื่องมือตรวจวัดกลิ่นในบรรยากาศภาคสนาม (Nasal Ranger) ผลการตรวจพบว่าบริเวณจุดที่ทำการตรวจวัดมีค่าระดับความเข้มข้นกลิ่นทุกครั้งที่ทำการตรวจวัดเกินมาตรฐานกลิ่นรบกวน

2. การตรวจวัดชนิดและปริมาณสารอินทรีย์ระเหยง่ายภาคสนามด้วยเทคนิค Gas Chromatography พบว่า
2.1 มีค่าความเข้มข้นของสารประกอบอินทรีย์ระเหยง่ายทั้งหมด (TVOC) เกินเกณฑ์มาตรฐานคุณภาพอากาศภายในอาคาร
2.2 ตรวจพบสาร Acrolein ซึ่งเป็นสารเคมีที่ทำให้เกิดกลิ่นที่มีลักษณะคล้ายกลิ่นคาวปลา ซึ่งมีปริมาณความเข้มข้นสูงก่อให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจและระคายเคืองตา

3. การตรวจระดับความแรงกลิ่นภาคสนามโดยคณะเจ้าหน้าที่จำนวน 5 คนที่ผ่านการขึ้นทะเบียนเป็นผู้ทดสอบกลิ่นของกรมอนามัย พบว่าคณะผู้ตรวจสอบจำนวนเกินกว่าครึ่งหนึ่งสามารถรับรู้กลิ่นที่ความแรงของกลิ่นระดับที่บ่งชี้ว่าเป็นกลิ่นที่น่ารังเกียจ และทำให้บุคคลใดๆ มีแนวโน้มหลีกเลี่ยงการสูดดมและเป็นกลิ่นที่มีแนวโน้มจะก่อให้เกิดผลกระทบต่อร่างกายระหว่างการสัมผัสในระยะสั้นหรือระยะยาว


กำลังโหลดความคิดเห็น