xs
xsm
sm
md
lg

สสส. - กทม. สานพลังภาคีเครือข่าย 25 องค์กร แก้ไขปัญหาฝุ่นเมืองหลวง ร่วมปกป้องสุขภาพประชาชนจาก PM2.5 ปัจจัยเสี่ยงก่อมะเร็งและโรคระบบทางเดินหายใจ

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



เมื่อวันที่ 28 ม.ค. 2566 ณ สวนเบญจกิติ เขตคลองเตย กรุงเทพฯ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) ร่วมกับ กรุงเทพมหานคร (กทม.) และภาคีเครือข่ายทั้งภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคม 25 องค์กร จัดกิจกรรม Action Day PM2.5 BKK "กทม. ชวนภาคีขยับเรื่อง ฝุ่นเมือง ด้วยกัน" เพื่อให้ทุกภาคส่วนร่วมกันเสนอแนะแนวทางแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ ขับเคลื่อนสู่การปฏิบัติจนเกิดผลเป็นรูปธรรม พร้อมมอบประกาศนียบัตรให้เครือข่าย Earth hour แสดงพลัง Work from Home ลดปริมาณฝุ่นละออง PM2.5 จากการเดินทางและการใช้ยานพาหนะ รวมทั้งปกป้องสุขภาพประชาชนจาก PM2.5

ดร.นพ.ไพโรจน์ เสาน่วม ผู้ช่วยผู้จัดการกองทุน สสส. กล่าวว่า ปัญหาฝุ่น PM2.5 โดยเฉพาะในกรุงเทพฯ และหัวเมืองใหญ่ มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เมื่อถึงฤดูหนาวช่วงต้นเดือน พ.ย. – ปลายเดือน เม.ย. ของทุกปี อันตรายของฝุ่น PM2.5 มีผลกระทบต่อสุขภาพอย่างมีนัยสำคัญ โดยพบว่า ฝุ่น PM2.5 เพิ่มความเสี่ยงต่อโรคระบบทางเดินหายใจแบบเรื้อรังและโรคมะเร็ง ทำให้ประชาชนเกิดความกังวลต่อสุขภาพตนเองและคนใกล้ชิด โดยเฉพาะเด็ก เยาวชน ผู้สูงอายุ ผู้ที่มีความเสี่ยงต่างๆ ในปี 2559 องค์การอนามัยโลก (WHO) ประมาณการณ์ว่า ประเทศไทยจะมีผู้เสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดซึ่งมีสาเหตุมาจากมลพิษอากาศถึง 6,330 ราย แนวโน้มเพิ่มขึ้นทุกปี ปี 2563 พบรายงานผู้ป่วยมะเร็งปอด 122,104 ราย คิดเป็น 186.26 ต่อแสนประชากร
 


“ตั้งแต่ปี 2556 WHO ได้กำหนดให้ฝุ่น PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็ง นอกจากนี้ จะพบการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นร้อยละ 6 ทุกระดับค่า PM2.5 ที่เพิ่มขึ้น 10 ไมโครกรัมต่อลูกบาศก์เมตร โดยเสียชีวิตจากมะเร็งปอดร้อยละ 21 โรคหัวใจร้อยละ 14 ตามลำดับ สสส. จึงให้ความสำคัญอย่างยิ่งและเร่งสานพลังภาคีเครือข่ายแก้ไขปัญหาฝุ่น PM2.5 เพื่อลดปัจจัยเสี่ยงที่มีผลต่อสุขภาพของประชาชน ทั้งพื้นที่ภาคเหนือ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และอื่นๆ รวมถึงกรุงเทพมหานคร เน้นหนุนเสริมให้เกิดการมีส่วนร่วมจากภาครัฐ ภาคเอกชน ภาคประชาสังคม ภาคการศึกษา ภาควิชาการ และการสื่อสารสาธารณะ ขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหามลพิษทางอากาศ โดยเฉพาะฝุ่น PM2.5 ตามยุทธศาสตร์ไตรพลัง คือ พลังสังคม พลังความรู้ และพลังนโยบาย” ดร.ไพโรจน์ กล่าว


นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า กิจกรรม Action Day PM2.5 BKK วันนี้ ภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันแสดงพลังแก้ไขปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 รณรงค์ให้ทุกภาคส่วนเกิดความตระหนักถึงปัญหาฝุ่นละออง PM2.5 สร้างองค์ความรู้ให้ประชาชนตระหนักถึงปัญหาด้านสุขภาพ พิษภัยของการปล่อยมลพิษทางอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อสุขภาพต่อทั้งผู้ปล่อยมลพิษและคนรอบข้าง ถือเป็นความร่วมมือในการเตรียมพร้อมเพื่อลดผลกระทบต่อสุขภาพประชาชนที่อาจจะเกิดขึ้นในระยะยาว นอกจากนี้ หน่วยงานภาคีเครือข่าย Earth Hour จำนวน 44 หน่วยงาน ได้ร่วมเป็นส่วนหนึ่งของพลังความร่วมมือร่วมลดฝุ่นละออง PM2.5 ในช่วงที่กรุงเทพมหานคร มีแนวโน้มปริมาณฝุ่นละอองเพิ่มสูงขึ้น ในรูปแบบต่าง ๆ อาทิ Work from Home การเหลื่อมเวลาทำงาน การใช้รถขนส่งสาธารณะ เพื่อลดปริมาณการเดินทาง การปล่อยควันเสียจากรถยนต์ การหันมาใช้รถยนต์ไฟฟ้า การประชาสัมพันธ์รณรงค์ให้พนักงานในหน่วยงานลดกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่นละออง หรือทำกิจกรรมลดฝุ่นที่สามารถทำได้โดยไม่กระทบกับการดำเนินธุรกิจ ซึ่งจะเป็นต้นแบบให้กับหน่วยงานอื่น ๆ ได้ร่วมกันลดปัญหาฝุ่นเมืองหลวงต่อไป




กำลังโหลดความคิดเห็น