กรมการแพทย์ เตือนกลุ่มเสี่ยงระวังฝุ่น PM 2.5 แนะสวมหน้ากากป้องกัน ลดกิจกรรมเสี่ยงนอกบ้าน ทำความสะอาดบ้าน เลี่ยงเผา ติดเครื่องยนต์สร้างฝุ่น
เมื่อวันที่ 19 ม.ค. นพ.ธงชัย กีรติหัตถยากร อธิบดีกรมการแพทย์ กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 ที่มีค่าเกินมาตรฐาน เป็นมลพิษทางอากาศที่อันตรายต่อสุขภาพ เพราะมีขนาดเล็กกว่า 2.5 ไมครอน ไม่สามารถมองเห็นได้ด้วยตาเปล่า ล่องลอยอยู่ในอากาศได้เป็นวันหรือสัปดาห์ กระจายได้ไปไกลถึง 100 ไมล์ สามารถเข้าสู่ร่างกายได้ง่ายผ่านระบบทางเดินหายใจ หากได้รับอย่างต่อเนื่องหรือในปริมาณที่มาก อาจส่งผลกระทบสะสมต่อสุขภาพ ทั้งโรคเกี่ยวกับระบบทางเดินหายใจ โรคมะเร็งปอด โรคหลอดเลือดสมอง และโรคหัวใจขาดเลือดได้
ด้าน นพ.เอนก กนกศิลป์ ผอ.สถาบันโรคทรวงอก กล่าวว่า ฝุ่น PM 2.5 มีขนาดเล็กมาก ทำให้ฝุ่นเข้าสู่ร่างกายจากหลอดลมไปหลอดเลือด และกระจายไปส่วนต่างๆ ทั่วร่างกาย เมื่อได้รับเป็นระยะเวลานานจนเกิดการสะสม ทำให้เกิดอันตรายต่อสุขภาพ โดยกลุ่มเสี่ยง ได้แก่ เด็ก หญิงตั้งครรภ์ ผู้สูงอายุ ผู้ป่วยโรคปอดเรื้อรัง ผู้ป่วยโรคหลอดเลือดหัวใจ เป็นต้น สำหรับผู้ที่ได้รับฝุ่น PM 2.5 มักมีอาการไอเรื้อรัง ระคายเคืองตา คัดจมูก แน่นหน้าอก หายใจไม่สะดวก ผิวหนังเป็นตุ่มหรือผื่นนูนแดง
ทั้งนี้ ควรป้องกันตนเองจากฝุ่น PM2.5 ด้วยการสวมหน้ากาก N95 ป้องกันฝุ่น หากไม่มีให้สวมหน้ากากอนามัย ต้องใส่ให้ถูกวิธี คือ คลุมจมูกลงมาถึงใต้คาง แนบสนิทกับใบหน้า หลีกเลี่ยงกิจกรรมนอกบ้านในบริเวณที่มีค่ามลพิษอากาศสูง โดยเฉพาะกลุ่มเสี่ยง ทำความสะอาดบ้านบ่อยๆ เพื่อลดการสะสมของฝุ่น หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ก่อให้เกิดฝุ่น PM 2.5 เช่น เผาขยะ เผาหญ้า จอดรถติดเครื่องยนต์เวลานาน และหมั่นตรวจเช็กสภาพรถยนต์ให้อยู่ในสภาพปกติไม่ก่อควันดำ อีกทั้งหากพบว่าตนเองมีอาการผิดปกติของร่างกาย เช่น ไอ เหนื่อย แน่นหน้าอก ควรปรึกษาแพทย์ทันที และที่สำคัญควรติดตามข้อมูลข่าวสารด้านมลพิษทางอากาศเป็นประจำ เพื่อป้องกันฝุ่นละอองและความปลอดภัยต่อสุขภาพของตนเอง