xs
xsm
sm
md
lg

ย้อนรอยวิสัยทัศน์ชัชชาติแก้ฝุ่น PM 2.5 อย่าทำแค่วาง-แผน หรือแพลน-นิ่ง ก่อนได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.

เผยแพร่:   ปรับปรุง:   โดย: ผู้จัดการออนไลน์



ย้อนรอยชัชชาติโพสต์วิสัยทัศน์เมื่อ 3 ปีก่อน แก้ปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 เตือนภาครัฐขออย่าทำแค่ วาง-แผน หรือ แพลน-นิ่ง มาวันนี้ได้เป็นผู้ว่าฯ กทม.

วันนี้ (30 ม.ค.) จากกรณีที่กรุงเทพมหานครประสบปัญหาฝุ่นละออง PM 2.5 ซึ่งมีผลกระทบต่อสุขภาพคนเมือง มีชาวเน็ตย้อนโพสต์เฟซบุ๊ก "ชัชชาติ สิทธิพันธุ์" ที่โพสต์เมื่อวันที่ 11 ม.ค. 2563 ระบุว่า "ตอนนี้เรื่องที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของคน กทม.ก็คือเรื่องฝุ่น PM 2.5 ซึ่งมีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้นและน่าจะเป็นปัญหาในระยะยาวที่เราต้องเผชิญไปอีกนาน

ผมคิดว่าปัญหาเรื่องฝุ่นมันสะท้อนปัญหาของระบบราชการไทยในสองเรื่องด้านหลักๆ

1. มีหน่วยงานที่เกี่ยวข้องหลายหน่วยงาน พอมีหลายหน่วยงาน ทางแก้คือการตั้งคณะกรรมการขึ้นมา เช่น คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ คณะกรรมการควบคุมมลพิษ คณะกรรมการป้องกันและบรรเทาสาธารณภัยแห่งชาติ

โดยแต่ละคณะจะมีประธานกรรมการเป็นข้าราชการระดับสูง เช่น นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ปลัดกระทรวง ซึ่งทุกคนก็มีภาระหนักในหน้าที่ประจำอยู่แล้ว อีกทั้งไม่ได้เชี่ยวชาญเฉพาะในสาขานั้น ทำให้การขับเคลื่อนโดยคณะกรรมการชุดต่างๆ ช้า ไม่คล่องตัว

2. มีแผนจำนวนมาก แต่ขาดการนำไปปฏิบัติ ปัญหาสำคัญต่างๆ ผมเชื่อเรามีแผนรองรับไว้เกือบหมด แต่ไม่ได้นำไปปฏิบัติ (เขาถึงเรียกว่า วางแผน-ทำแผนแล้ววางไว้ หรือแพลนนิ่ง Planning แพลนแล้วนิ่งๆ)

อย่างเรื่องกรณีฝุ่น PM 2.5 เท่าที่ผมหาเจอ ทางกรมควบคุมมลพิษได้จัดทำแผนปฏิบัติการขับเคลื่อนวาระแห่งชาติ "การแก้ไขปัญหามลพิษด้านฝุ่นละออง" ไว้ตั้งแต่เดือนกันยายน 2562 จำนวน 52 หน้า โดยมีทั้งแผนระยะสั้น กลาง ยาว แต่ไม่แน่ใจว่าในทางปฏิบัติได้ดำเนินการไปแค่ไหนแล้ว (ถ้ามาเล่าให้พวกเราฟังบ้างก็ดีนะครับ)

หนึ่งในข้อเสนอในแผนนี้ที่ผมคิดว่าเป็นประโยชน์และทำได้ทันที อย่างน้อยสำหรับการแก้ปัญหาในระยะสั้นคือ การกำหนดให้ปัญหาฝุ่นพิษเป็นสาธารณภัย และใช้กลไกของระบบศูนย์สั่งการแบบเบ็ดเสร็จ (Single Command) ภายใต้พ.ร.บ.ป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย พ.ศ. 2550 โดยมีผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานครและผู้ว่าราชการจังหวัดเป็นผู้บัญชาการเหตุการณ์ ในการเข้าควบคุมสถานการณ์อํานวยการ สั่งการประสานการปฏิบัติระหว่างหน่วยงาน ส่วนราชการต่างๆ เพื่อให้สถานการณ์กลับเข้าสู่ภาวะปกติโดยเร็ว เมื่อเกิดภัยเรื่องฝุ่น เจ้าหน้าที่ท้องถิ่นต้องเข้าไปช่วยดูแลประชาชน มีการแจ้งเหตุ เตือนภัย แจกหน้ากาก ให้ข้อมูล ดูแลผู้ที่ได้รับผลกระทบ เช่น เด็ก คนชรา ผู้ป่วย อย่างทันท่วงที

เป็นกำลังใจให้ภาครัฐในการแก้ปัญหาเรื่องฝุ่นนะครับ ขออย่าทำแค่ วาง-แผน หรือ แพลน-นิ่ง พวกเราหยุดหายใจไม่ได้"

อย่างไรก็ตาม ปรากฏว่าเมื่อวานนี้ (28 ม.ค.) กรุงเทพมหานครได้จัดอีเวนต์หัวข้อ Action Day PM 2.5 ซึ่งจัดโดยสำนักสิ่งแวดล้อม กทม. ร่วมกับภาคีเครือข่ายภาครัฐ เอกชน และประชาสังคม เช่น สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กรมควบคุมมลพิษ กรมอนามัย สำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน เครือข่ายอากาศสะอาด ฯลฯ ภายในงานมีการทำเวิร์กชอปการทำเครื่องฟอกอากาศ DIY และหน้ากากกันฝุ่น DIY คลินิกรถ ลดฝุ่น PM 2.5 ให้บริการตรวจเช็กสภาพรถ คลินิกมลพิษทางอากาศ นิทรรศการสุขภาพ ปลอดฝุ่นปอดสะอาด "เมืองแห่งอนาคตเพื่อสิทธิของเด็กที่จะหายใจอากาศสะอาด และการจัดเวทีเสวนาหัวข้อ "BKK Risk Map กับแผนที่ดูแลสุขภาพคนเมือง" โดย รศ.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร "ปั่นต่อ ต่อระบบขนส่งเมือง" โดย นายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร และ นายศิลป์ ไวรัชพานิช เครือข่ายสัญจรทางเลือก

นายชัชชาติ สิทธิพันธุ์ ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวว่า ในเรื่อง PM 2.5 กทม.พยายามเต็มที่ ถือเป็น mandate จากประชาชน แต่เราทำคนเดียวคงไม่ได้ผลร้อยเปอร์เซ็นต์ ต้องมีภาคีเครือข่ายช่วยกันหลายมิติ บางอย่างใช้ Hard Power ใช้กฎหมายได้ แต่หลายๆ เรื่องเป็นเรื่อง Soft Power เรื่องที่ต้องใช้ความร่วมมือร่วมใจกัน วันนี้ถือเป็นมิติที่ดีที่เราจะกระตุ้นทั้งในแง่ของเนื้อหาความรู้ ในแง่ของแต่ละคนที่ต้องตระหนักว่าสิ่งนี้เป็นปัญหาร่วมกันของทุกคน ขอบคุณภาคีเครือข่ายทุกท่าน และอนาคตเราจะขยายความร่วมมือนี้ออกไปให้ทุกคนรู้สึกว่าอากาศเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของทุกคนที่จะมีอากาศบริสุทธิ์หายใจ




























กำลังโหลดความคิดเห็น