ช่วงนี้เราอาจจะประสบมลพิษฝุ่นขนาดเล็ก ทั้งในกรุง และหัวเมืองใหญ่ คงจดจำภาพถ่ายตึกใบหยกที่มองแทบไม่เห็นตึกไหม (เมื่อปี 2562 ก่อนโควิดระบาด) ไม่งั้นก็คงเห็นภาพถ่ายเมืองที่ออกมาไม่ค่อยชัด เพราะอุบัติการณ์ฝุ่น PM 2.5 ยึดครองประเทศชั่วคราว
ฝุ่นขนาดเล็กจิ๋ว เกิดขึ้นจากกิจกรรมที่หลากหลาย แต่สองสาเหตุสำคัญของฝุ่นพิษในเมืองใหญ่ คือ การเผาไหม้ของเครื่องยนต์ และการก่อสร้าง ส่วนตามหัวเมืองใหญ่อย่างในภาคเหนือ อีสาน ตะวันออก ก็มีเรื่องการเผาไร่อ้อย-ซังข้าวโพด การก่อสร้าง โรงงานอุตสาหกรรม เข้ามาผสมโรงอยู่ด้วย
ถึงจะมีแนวทางป้องกันจากภาครัฐที่เกี่ยวข้อง แต่ถ้าหากมลพิษฝุ่นจิ๋วยังเกิดขึ้น ถามว่าคนตัวเล็กๆ อย่างเราควรจะลงมือช่วยอะไรได้บ้าง ขอบอกว่าช่วยได้แน่นอน ซึ่งอย่างน้อยก็ช่วยเหลือตัวเราเองและคนในครอบครัว
1. เริ่มที่บ้าน หมั่นกำจัดฝุ่นละอองในบ้านอยู่เสมอ กำจัดแหล่งสะสมฝุ่น ปัดกวาดเช็ดถูบ่อยๆ ใช้ผ้าสะอาดชุบน้ำบิดหมาดๆ แล้วเช็ดฝุ่นเพื่อป้องกันละอองฝุ่น
2. เปลี่ยนมาใช้การขนส่งสาธารณะ เพื่อลดการใช้รถยนต์ส่วนตัว เท่ากับลดการเพิ่มปริมาณฝุ่นในอากาศ และระหว่างเดินทางอย่าลืมใส่หน้ากากป้องกันฝุ่น PM 2.5 ด้วยเน้อ
3. ปลูกต้นไม้ลดพิษ เลือกปลูกต้นไม้ที่ใบหยาบและมีขน เพราะใบไม้แบบนี้มีประสิทธิภาพในการดักฝุ่นสูง เช่น ตะขบฝรั่ง เถากันภัย เล็บมือนาง พวงประดิษฐ์ หรือเลือกปลูกต้นไม้ที่มีกิ่งก้านพันกันอย่างสลับซับซ้อน ก็มีส่วนช่วยในการดักจับฝุ่นละอองได้เช่นกัน เช่น คริสตินา ข่อย ไทรย้อยใบแหลม ไทรเกาหลี เป็นต้น
4. เช็กสภาพรถเป็นประจำ เปลี่ยนไส้กรอง เปลี่ยนถ่ายน้ำมันเครื่องตามเวลาที่กำหนด และดับเครื่องยนต์เมื่อจอดรถทุกครั้ง เพื่อลดควันจากท่อไอเสียที่เป็นต้นเหตุของ PM 2.5
5. เลือกใช้ผลิตภัณฑ์ลดฝุ่น หากจะสร้าง ต่อเติม หรือซ่อมแซมบ้าน ควรเลือกผลิตภัณฑ์ที่ช่วยลดการเกิดฝุ่น เช่น ผนังหรือฝ้าเพดานที่มีคุณภาพ
6. ไม่เผาขยะ งดจุดธูป เพราะควันจากการเผาไหม้นอกจากจะเพิ่มฝุ่นพิษแล้ว การเลี่ยงสิ่งเหล่านี้ยังช่วยลดความเสี่ยงที่จะเกิดไฟไหม้ในช่วงหน้าแล้งได้ด้วย
ข้อสำคัญอย่าลืมรักษาสุขภาพให้แข็งแรงพร้อมรับมือฝุ่น รวมถึงใส่หน้ากากที่สามารถป้องกันฝุ่น PM 2.5 ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
อ้างอิง : http://www.thaihealth.or.th , บทความ “มาตรการระยะยาวเพื่อควบคุมคุณภาพอากาศให้เหมาะสมโดยใช้พืชพรรณที่มีศักยภาพในการดักจับฝุ่นละอองในอากาศ ลงทุนน้อยแต่ได้ผลระยะยาว” คณะสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล