สสส. ร่วมกับ กทม. ลุยพัฒนาศักยภาพภาคีสุขภาวะทั่วกรุงเทพ ฯ หนุนแผน 5 ปี ยกระดับคุณภาพชีวิตคนเมือง-กลุ่มเปราะบาง นำร่อง 20 เขต 2,016 ชุมชน สู่ต้นแบบพื้นที่สร้างเสริมสุขภาพ
นายประกาศิต กายะสิทธิ์ รองผู้จัดการกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) กล่าวว่า สสส. สานพลัง กรุงเทพมหานคร (กทม.) ขับเคลื่อนกระบวนการสร้างเสริมสุขภาพเพื่อให้คนกรุงเทพฯ มีสุขภาพดีทั้งกาย จิต ปัญญา และสังคม พัฒนาแผนบูรณาการสร้างเสริมสุขภาวะคนเมืองในพื้นที่กรุงเทพมหานคร ระยะ 5 ปี (ปี 2566-2570) เพื่อสร้างกลไกความร่วมมือจัดการงานสร้างเสริมสุขภาพโดยใช้พื้นที่เป็นฐานการพัฒนา ทั้งนี้ สสส. จัดเวทีปฐมนิเทศโครงการพัฒนาศักยภาพภาคีเครือข่ายพื้นที่กรุงเทพมหานคร เพื่อสนับสนุนการดำเนินงานกลุ่มแผนงานเชิงพื้นที่ องค์กร และกลุ่มประชากร สร้างเครือข่ายเรียนรู้ของคนทำงาน ทั้งหน่วยงานภาครัฐ สถาบันการศึกษา องค์กรพัฒนาเอกชน และ กทม.
“แผน 5 ปี มุ่งเน้นบูรณาการงานสร้างเสริมสุขภาพเชื่อมโยงกับการดำเนินงานของ กทม. อย่างเป็นระบบ โดยใช้ทิศทางและเป้าหมาย 10 ปี สสส. กับนโยบาย 9 มิติ กรุงเทพฯ ‘เมืองน่าอยู่สำหรับทุกคน’ เป็นกรอบดำเนินงานให้สอดคล้องกับสภาพปัญหาและความต้องการของประชาชนและชุมชนในแต่ละพื้นที่ พัฒนาระบบสนับสนุนการดำเนินงานร่วมกัน 5 ระบบ 1.ระบบการจัดการข้อมูลกลาง 2.ระบบสนับสนุนพื้นที่การทำงานร่วมกัน (Sandbox) 3.ระบบการสื่อสารสาธารณะ 4.ระบบการติดตามประเมินผลเพื่อการพัฒนา 5.ระบบการจัดการเรียนรู้ภาคีเครือข่าย” ดร.ประกาศิต กล่าว
นายประกาศิต กล่าวต่อว่า การขับเคลื่อนงานมีเครือข่าย 8 กลุ่มงาน ทำงานครอบคลุมเขตนำร่องกว่า 20 เขตในพื้นที่กรุงเทพฯ อาทิ การพัฒนาเด็กปฐมวัย-ก่อนวัยเรียน-วัยเรียน การสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างประชาชนกับ กทม. การยกระดับบริการปฐมภูมิที่มุ่งสร้างนำซ่อม การส่งเสริมหลักประกันความมั่นคงในการดำรงชีวิต การใช้ประโยชน์พื้นที่สุขภาวะ องค์กรสุขภาวะ การพัฒนาคุณภาพชีวิตผู้สูงอายุและพัฒนาระบบรองรับสังคมสูงวัย และการออกแบบเพื่อทุกคน ขณะนี้ กทม. มีกลไกใหม่ระดับเขต เพื่อให้ภาคประชาชนมีส่วนร่วมกำหนดทิศทางพัฒนาคุณภาพชีวิตคนเมือง หนุนเสริมศักยภาพคน ขยายเครือข่ายคนทำงานคนรุ่นใหม่ ให้เข้ามาเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อนนโยบายและกลไกการทำงานที่สำคัญ
ด้านนายศานนท์ หวังสร้างบุญ รองผู้ว่าฯ กทม. กล่าวว่า การพัฒนากรุงเทพฯ แม้ผู้ว่าฯ กทม. หรือผู้บริหารสำนักงานเขตจะเปลี่ยนไป แต่พลังภาคีเครือข่ายต้องเข้มแข็งและต่อเนื่อง สำนักงานเขตจะต้องมีแผนงานสร้างเสริมสุขภาพเชื่อมกับพื้นที่มากขึ้น ปรับเปลี่ยนการทำงานโดยสร้างการมีส่วนร่วม ทั้งภาคประชาสังคม ภาคเอกชน และภาคประชาชนที่มีความเชี่ยวชาญมาทำงานร่วมกัน อาทิ เรื่องคนพิการ ผู้สูงอายุ กทม. มีนโยบายและสร้างกลไกใหม่ๆ เพื่อสร้างสุขภาวะที่ดีร่วมกับ สสส. สำหรับชุมชนในเขตกรุงเทพฯ กว่า 2,016 แห่ง และพร้อมที่จะทำงานร่วมกันภายใต้แผนบูรณาการ 5 ปีนี้ เพื่อสุขภาวะของคนกรุงเทพฯ ทุกคน